ACAP หนี้สร้างกำไรแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
นางสาวสุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ซีอีโอ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP ถือเป็นนิวเจนเนอเรชั่นของนักการเงินนอกวงการธนาคารที่เข้ามาสร้างสีสันให้ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อด้วยลีลาน่าติดตาม
นางสาวสุกัญญา สุขเจริญไกรศรี ซีอีโอ บริษัท เอเชีย แคปปิตอล กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP ถือเป็นนิวเจนเนอเรชั่นของนักการเงินนอกวงการธนาคารที่เข้ามาสร้างสีสันให้ตลาดสินเชื่อเช่าซื้อด้วยลีลาน่าติดตาม
แต่…สำหรับคนในแวดวงธุรกิจ เธอไม่ใช่คนหน้าใหม่ เพราะครอบครัวสุขเจริญไกรศรีนั้น มีธุรกิจหลายประเภทโดยเฉพาะในเขต ”ชายขอบ” มายาวนาน รวมทั้ง คอสโม ออยล์ ธุรกิจบริการปั๊มน้ำมันที่หลายจังหวัดในภาคเหนือและอีสานคุ้นเคยกันดี
การเติบโตอย่างก้าวกระโดดหลังจากเปลี่ยนโครงสร้างของผู้ถือหุ้นเดิม จากกลุ่มของผู้ก่อตั้งเดิมนำโดย ดร.วิวัฒน์ วิทูรย์เธียร มาเป็นกลุ่มสุขเจริญไกรศรี และเปลี่ยนชื่อจากเดิม เอแคป แอ๊ดไวเซอรี่ จำกัด (มหาชน) หรือ ACAP เดิมเป็นชื่อและรหัสปัจจุบัน สตรีเหล็กอย่าง สุกัญญา ก็ลุกขึ้นทำตัวเป็นหัวเรือใหญ่ขับเคลื่อนธุรกิจและปรับโครงสร้างองค์กรอย่างหนักในทิศทางใหม่ รุกหนักปล่อยสินเชื่อผู้ประกอบการระดับกลาง-ใหญ่มากขึ้น ไม่ทำตัวเงียบเชียบและขาดทุนต่อเนื่องกันมาหลายปีเหมือนเดิมอีกต่อไป
ปี 2559 ของ ACAP จึงเป็นปีที่พลิกกลับชนิดโตแรงสวนทิศทางเศรษฐกิจไทยที่ป้อแป้เป็นมะเขือเผาอย่างแท้จริง
ตัวเลขผลการดำเนินงานบอกได้ชัดเจนเหนือคำบรรยายใดๆ
กำไรที่เริ่มดีตั้งแต่ไตรมาสสี่ของปี 2558 ที่ระดับ 14.34 ล้านบาท ถูกลบด้วยตัวเลขขาดทุนในไตรมาสก่อนหน้า จนทำให้ตลอดทั้งปี 2558 มีตัวเลขขาดทุน 25.14 ล้านบาท พลิกกลับมาโดดเด่นในครึ่งแรกของปีนี้ที่กำไรระดับ 43.52 ล้านบาท โดยมีอัตรากำไรสุทธิมากถึง 27% ถือว่าระดับหัวแถวของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยทีเดียว
ประเด็นสำคัญคือ กำไรของบริษัทที่พุ่งกระฉูดแรง มาจากการสร้างหนี้
กลยุทธ์ “ก่อหนี้สร้างกำไร” ในยุคหญิงแกร่งอย่างสุกัญญา ดูสุ่มเสี่ยงไม่น้อย เพราะทำให้ยอดหนี้พุ่งเกินส่วนผู้ถือหุ้น จนล่าสุดค่าดี/อี ของ ACAP สูงถึง 2.6 เท่า ซึ่งหากยังมีอัตราสูงเช่นนี้ จะคงหนี้ไม่พ้นต้องเพิ่มทุนไปเรื่อยๆ
ปัจจุบันหนี้ที่เป็นต้นทุนของ ACAP มาจาก 3 แหล่งหลักคือ หนี้จากหุ้นกู้ 704 ล้านบาท หนี้จากเงินกู้ยืมในกิจการที่เกี่ยวข้อง 450 ล้านบาท และหนี้จากบริษัทอื่นๆ 636 ล้านบาท…สรุปว่าเกินครึ่งของหนี้ ACAP เป็นหนี้ระยะสั้น
การโตด้วยการก่อหนี้เพื่อสร้างสินทรัพย์ และปล่อยสินเชื่อเพื่อสร้างกำไร ถูกเงื่อนไขบังคับในเรื่องของการตั้งสำรองกำหนดเอาไว้เสมอ…ACAP ก็หนีไม่พ้น
หนี้สินของ ACAP ที่มีความเสี่ยงสูง ไม่น่ายินดี…การระดมทุนเพื่อออกหุ้นกู้ระลอกใหม่ของ ACAP จึงเป็นเรื่องเร่งด่วน และลงมือทำไปแล้ว
ล่าสุด สุกัญญาออกมาป่าวประกาศอย่างลิงโลด เมื่อต้นสัปดาห์นี้ว่า ได้รับแจ้งจากผู้จัดจำหน่ายหุ้นกู้ระลอกใหม่ 1.2 พันล้านบาท (ดูจากจำนวนแล้ว หุ้นกู้ล็อตนี้ ใกล้เคียงกับหนี้ระยะสั้นที่มีอยู่เดิมมาก) ได้แก่ บล.เออีซี, บล.โกลเบล็ก, บล.คันทรี่กรุ๊ป และ บล.ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) ว่ามีลูกค้าติดต่อเข้าจองซื้อจนใกล้เต็มวงเงินแล้ว คาดว่าเมื่อถึงวันเปิดจองจริง 10-12 ต.ค. ก็จะหมดภายในวันแรก
เงินที่มากองหน้าตักเพิ่มพูน ต้นทุนการเงินลดฮวบ และมีเงินสดเหลือเฟือให้นั่งบริหาร…ใครไม่ลิงโลดก็ตายด้านเกินพิกัดแล้ว
จินตนาการของสุกัญญา ก็เลยบรรเจิดมากขึ้นตามไปด้วย…ช่วยไม่ได้
สุกัญญา ระบุว่า เป้าการปล่อยสินเชื่อใหม่ปีนี้ของ ACAP จะถูกขยับจากเป้าเดิม 2.0 พันล้านบาท จะเพิ่มเป็น 3.5 พันล้านบาท หลังจากที่ปัจจุบันบริษัทได้ปล่อยสินเชื่อ ไปแล้ว 2.6 พันล้านบาท เนื่องจากผู้ประกอบการมีความต้องการใช้เงินทุนเพื่อขยายธุรกิจเพิ่มขึ้น ตามแนวโน้มเศรษฐกิจที่เริ่มมีการฟื้นตัว
ปล่อยสินเชื่อในประเทศยังเล็กเกินไป สุกัญญาตั้งเป้าให้ไกลไปอีก โดยทำการศึกษาธุรกิจประเทศเพื่อนบ้านตามโอกาสที่เปิดให้ โดยอยู่ระหว่างการเจรจากับพาร์ตเนอร์ในประเทศกัมพูชา 2 บริษัท คาดว่าจะเห็นความชัดเจนได้เร็วๆ นี้
ส่วนธุรกิจเดิมที่รับถ่ายโอนมาจากโครงสร้างเดิมคือ รับทวงหนี้และคอลล์เซนเตอร์ ก็ยังคงไปได้เรื่อยๆ ไม่ถึงกับทอดทิ้งโอกาสเสียทีเดียว เพราะต่อยอดธุรกิจกันได้
หนี้ระยะยาวต้นทุนต่ำที่จะมาทดแทนหนี้ระยะสั้น ทำให้คำพยากรณ์ของนักวิเคราะห์บางสำนักที่ระบุว่า ปีนี้ ACAP พลิกมีกำไร 110 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 537% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน จึงไม่ใช่เรื่องบังเอิญ…แต่เป็นฝีมือ
สิ่งที่ต้องติดตามกันต่อไปคือ หลังการแปลงสภาพของ ACAP-W1 ในอนาคต ที่คาดว่าจะทำให้ปริมาณหุ้นของ ACAP เพิ่มขึ้นอีก 20% จะมีผลต่อราคาหุ้นของ ACAP แค่ไหน หลังจากที่มูลค่าหุ้นทางบัญชีลดฮวบลงไปก่อนหน้านี้แล้วเหลือเพียง 2.89 บาท/หุ้น
ราคาหุ้นของ ACAP ในปัจจุบันที่วิ่งระดับรอบๆ 10.00 บาท จากกำไรที่สูงเด่นหลายไตรมาสต่อเนื่องจนค่าพี/อีสูงระดับ 38 เท่า จึงมีเหตุผล เมื่อเทียบกับหุ้นอย่าง SAWAD หรือ MTLS ที่มีขนาดใหญ่กว่าหลายเท่า
อนาคตของ ACAP ในกำมือของสุกัญญา…ถือว่าท้าทายระดับ “ชูธงโต้กระแสทวน” พอสมควร
“อิ อิ อิ”