แสงสว่างวาบของดอยช์แบงก์พลวัต 2016

เมื่อวานนี้ ในตอนกลางชั่วโมงซื้อขายของตลาดหุ้นแฟรงค์เฟิร์ต ราคาหุ้นดอยช์แบงก์ดีดตัวแรง ทำให้ราคาหุ้นสถาบันการเงินในทุกตลาดหุ้นทั่วยุโรปกระเตื้องขึ้นสู่ระดับสูงใหม่อีกครั้งหนึ่ง ขานรับข่าวปลดพนักงานทั่วโลกตามแผนปรับโครงสร้างเพื่อลดต้นทุน


วิษณุ โชลิตกุล

 

เมื่อวานนี้ ในตอนกลางชั่วโมงซื้อขายของตลาดหุ้นแฟรงค์เฟิร์ต ราคาหุ้นดอยช์แบงก์ดีดตัวแรง ทำให้ราคาหุ้นสถาบันการเงินในทุกตลาดหุ้นทั่วยุโรปกระเตื้องขึ้นสู่ระดับสูงใหม่อีกครั้งหนึ่ง ขานรับข่าวปลดพนักงานทั่วโลกตามแผนปรับโครงสร้างเพื่อลดต้นทุน

ดอยช์แบงก์ แถลงว่าจะทำการปรับลดพนักงานจำนวน 9,000 คนทั่วโลก ซึ่งในจำนวนนี้ จะมีพนักงานในเยอรมนีมากสุดคือ 4,000 คน ที่เหลือจะเป็นพนักงานสาขาในต่างประเทศ

คำประกาศระบุว่า  การดำเนินการจะเป็นไปอย่างโปร่งใส และมีความรับผิดชอบต่อพนักงานที่จะได้รับผลกระทบ โดยทางธนาคารจะมีการช่วยเหลือสำหรับการหางานใหม่นอกธนาคาร

การประกาศปลดพนักงานดังกล่าวมีขึ้น เป็นการเตรียมรับมือสถานการณ์เลวร้ายในกรณีที่การเจรจาเพื่อขอลดค่าปรับจากการกระทำผิดต่อกระทรวงยุติธรรมสหรัฐวงเงิน 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ เพื่อยุติการสอบสวนในคดีที่เกี่ยวข้องกับการจำหน่ายหลักทรัพย์ที่มีสัญญาจำนองค้ำประกัน (MBS) ซึ่งเป็นต้นเหตุของวิกฤตการเงินโลกในปี 2551 ให้ลงมาเหลือ 5.4 พันล้านดอลลาร์ เกิดล้มเหลวขึ้นมา

มูลค่าของค่าปรับดังกล่าวที่เหวี่ยงไปมาไม่แน่นอน เป็นสิ่งที่ทำให้นักลงทุนขวัญผวาอย่างมาก เพราะถือว่าเป็นค่าปรับ “การเมือง” จากกระทรวงยุติธรรมของสหรัฐมากกว่า

ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นทำให้ตลาดเงินตั้งคำถามนั้น มีส่วนไม่น้อยเพราะมูลค่าของค่าปรับได้กระโดดขึ้นสูงมาก จากเดิมเมื่อช่วงต้นปีนี้ มีจำนวนอยู่เพียงแค่ประมาณ 2-3 พันล้านดอลลาร์สหรัฐเท่านั้น แต่กลับทะยานขึ้นมาเป็น 1.4 หมื่นล้านดอลลาร์ โดยไม่มีคำอธิบายที่ชัดเจน

กระทรวงยุติธรรมสหรัฐระบุเพียงสั้นๆ ว่า การที่ค่าปรับเพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด เพราะว่าทางผู้บริหารของดอยช์แบงก์ไม่ยอมร่วมมือกับเจ้าหน้าที่ของกระทรวง ในการสืบค้นข้อเท็จจริง 

ผู้เชี่ยวชาญในการเจรจากับทางการของวอลล์สตรีทระบุว่า การเพิ่มวงเงินค่าปรับ เกิดจากสาเหตุสำคัญคือ มีการเปลี่ยนชุดเจ้าหน้าที่สืบค้นข้อเท็จจริงจากเดิมเป็นชุดใหม่ ที่มีลักษณะแบบ “สายเหยี่ยว” มากกว่าเดิม ทำให้สถานการณ์เลวร้ายมากขึ้นในการเจรจา เพราะแบงก์สหรัฐทั้งหลายแหล่พากันทยอยสมทบสยบให้กับเจ้าหน้าที่กลุ่มนี้ของกระทรวงยุติธรรมราบคาบมาโดยตลอด

ผู้รู้วงในการเจรจาระบุเพิ่มเติมว่า การเจรจาล้มเหลวเพราะเจ้าหน้าที่กระทรวงยุติธรรมสหรัฐเชื่อว่า ดอยช์แบงก์ “หักหลัง” โดยมีเจตนาปล่อยให้ข่าวรายละเอียดของการเจรจารั่วไปถึงสื่อต่างๆ ที่ทำให้ความลับแพร่งพรายออกไป โดยไม่จำเป็น ซึ่งขัดขวางกระบวนการเจรจาโดยตรง เพราะปัญหาของดอยช์แบงก์ไม่ใช่เรื่องค่าปรับอย่างเดียว แต่นั่นเป็นแค่ปลายเหตุเท่านั้น

ดังที่ทราบกันดี เงื่อนงำของการกระทำความผิดของบรรดาธนาคารพาณิชย์และวาณิชธนกิจในตลาดซับไพรม์ของสหรัฐ ที่มีดอยช์แบงก์เกี่ยวข้องด้วย มีสาระสำคัญที่เจ้าหน้าที่ต้องการสืบค้นเพิ่มเติม เพราะว่า ดอยช์แบงก์ถือเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญในตลาดวาณิชธนกิจข้ามชาติระดับหัวแถว โดยมีสัดส่วนสูงมากถึง 50% ของส่วนผู้ถือหุ้น 75% ของสินทรัพย์ที่ธนาคารกู้เงินผ่าน CoCo ทั้งหมด และทำกำไรมากถึง 50% ของกำไรสุทธิรวม

CoCo เป็นชื่อย่อของตราสารหนี้ลูกผสมที่เรียกว่า contingent convertible bond หรือเรียกอีกอย่างว่า enhanced capital note (ECN) ที่ดัดแปลงมาจากธุรกิจประกันภัย แต่ได้นำเอามาโยงเข้ากับตราสารอนุพันธ์และตราสารหนี้

วงเงินที่ดอยช์แบงก์พัวพันในตลาดตราสารอนุพันธ์สหรัฐ โดยเฉพาะ CoCo นั้น เคยกล่าวถึงมาแล้วว่า มีมูลค่ามหาศาลถึง 64 ล้านล้านดอลลาร์ หรือเท่ากับ 5 เท่าของจีดีพีกลุ่มยูโรโซน หรือ 16 เท่าของจีดีพีประเทศเยอรมนี

ดอยช์แบงก์ใช้วิธีการเพิ่มเงินกองทุนเพื่อกลบเกลื่อนความเสียหายจากการขาดทุนในตลาดตราสารอนุพันธ์ในหลายปีก่อน  ด้วยการกู้เงินจาก หุ้นกู้สายพันธุ์ CoCo ซึ่งมีเงื่อนไขว่าจะจ่ายดอกเบี้ยในสถานการณ์ปกติ ทว่าจะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญได้เมื่อเกิดเหตุการณ์ต่างๆ ที่ระบุ เช่น อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงต่ำกว่าค่าค่าหนึ่ง

การพึ่งพา CoCo ซึ่งเป็นตราสารหนี้ที่มีต้นทุนถูกกว่าหุ้นกู้ปกติ แต่เนื่องจากเงื่อนไข Basel 3 ระบุว่า หากจะนำมาเป็นเงินกองทุน จะมีคุณภาพที่ต่ำกว่าหุ้นสามัญซึ่งมีศักดิ์ศรีเป็นเงินกองทุนขั้นที่ 1 ทว่า CoCo เป็นเพียงเงินกองทุนขั้นที่ 1 แบบส่วนเพิ่มหรือ Additional Tier 1 พูดให้แรง คือ เท่ากับเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 3 เท่านั้น

ค่าปรับที่มหาศาลของกระทรวงยุติธรรมสหรัฐ กลายเป็นจุดอ่อนเปราะที่สุดประดุจ ”ส้นเท้าอะคีลีส” ของดอยช์แบงก์โดยตรง เพราะ ความเสี่ยงของการที่กฎหมายในยุโรปอนุญาตให้หน่วยงานกำกับสถาบันการเงินสามารถระงับไม่ให้ดอยช์แบงก์สามารถจ่ายคูปองของตราสาร CoCo ได้ทุกเมื่อ ทำให้มีคำถามว่า เมื่อราคาหุ้นดอยช์แบงก์ตกมากๆ แล้วหน่วยงานกำกับสถาบันการเงินของเยอรมนี ประกาศให้ดอยช์แบงก์งดจ่ายดอกเบี้ย ห่วงโซ่จะลุกลามยาวไกลลามไปทั่วยุโรปและสหรัฐมหาศาล

การปลดพนักงาน 9 พันคนทั่วโลก เป็นเพียงการเคลื่อนไหวที่สร้างความหวังชนิด ”แสงสว่างปลายอุโมงค์” ให้กับดอยช์แบงก์นั้น เมื่อเทียบกับปัญหาค่าปรับของกระทรวงยุตธรรมสหรัฐในยามที่ฐานะทางการเงินเข้าขั้นวิกฤตเพิ่มขึ้นสาหัส

ราคาหุ้นของดอยช์แบงก์ที่วิ่งขึ้นขานรับข่าวชั่วคราวค่ำวานนี้ จึงเป็นแค่ปฏิกิริยา “เข่ากระตุก” ในยามที่รีดเค้นหาข่าวดีของธนาคารนี้อย่างยากเย็นแสนเข็ญ

Back to top button