PTTGC แตกแล้วรวย…(และโต)แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
เมื่อ 5 ปีก่อน กลุ่ม ปตท.ผลักดันให้มีการรวมตัวกันของ 2 บริษัทปิโตรเคมีในกลุ่ม 2 ราย คือ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR และบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH ทำการควบรวมกันเป็นบริษัทใหม่ ชื่อ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ด้วยเหตุผลว่า “ยิ่งโต ยิ่งแกร่ง”
เมื่อ 5 ปีก่อน กลุ่ม ปตท.ผลักดันให้มีการรวมตัวกันของ 2 บริษัทปิโตรเคมีในกลุ่ม 2 ราย คือ บริษัท ปตท. อะโรเมติกส์และการกลั่น จำกัด (มหาชน) หรือ PTTAR และบริษัท ปตท. เคมิคอล จำกัด (มหาชน) หรือ PTTCH ทำการควบรวมกันเป็นบริษัทใหม่ ชื่อ บริษัท พีทีที โกลบอลเคมิคอล จำกัด (มหาชน) จำกัด (มหาชน) หรือ PTTGC ด้วยเหตุผลว่า “ยิ่งโต ยิ่งแกร่ง”
วันนี้ สถานการณ์เปลี่ยนไป เพราะยุทธศาสตร์ควบรวมเพื่อให้ใหญ่ถูกแปรเปลี่ยนไปจากเดิมอย่างเป็นทางการ โดยไม่ต้องประกาศ
ยุทธศาสตร์ “แตกแล้วรวย” เกิดขึ้นเมื่อการจัดกระบวนบริษัทในร่มธงของ PTTGC จัดเป็นกิจการที่พร้อมจะแยกตัวออกมาเป็นบริษัทมหาชนจดทะเบียนในลักษณะบริษัทเครือข่าย
คำแจ้งของ PTTGC ต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ ว่า จะนำบริษัทลูกชื่อว่า Global Green Chemical (GGC) เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ โดย GGC เป็นผู้ผลิต methyl ester รายใหญ่ และผลิต Fatty alcohols เพียงรายเดียวของประเทศ ขณะนี้อยู่ระหว่างรออนุมัติจาก ก.ล.ต. การเสนอขายหุ้นในครั้งนี้ PTTGC นำหุ้นที่บริษัทถืออยู่ใน GGC จำนวน 164.44 ล้านหุ้น ออกมาขายด้วยร่วมกับหุ้นที่ออกใหม่โดย GGC
ข้อดีของการแตกบริษัทในเครือข่ายเข้าเป็นบริษัทมหาชนครั้งใหม่นี้ ไม่ได้ชี้แจงเอาไว้ก็จริง แต่คำนวณล่วงหน้าได้ไม่ยากเพราะว่า ราคาหุ้นที่จะขายคงไม่ถูกมากนัก อย่างน้อยก็มีกำไรพิเศษจากการเอาหุ้นที่ถือโดย PTTGC มาขายด้วย…ไม่นับประโยชน์ทางอ้อมจากการที่ บุ๊กแวลูของ PTTGC จะเพิ่มขึ้นจากการถือครองหุ้นใหญ่ใน GGC ในอนาคต
นี่คือ การทำกำไร 2 เด้งจากวิศวกรรมการเงิน ที่คุ้นเคยกันอย่างดี
การแตกกิจการเข้าจดทะเบียนเพื่อระดมทุนในตลาดหุ้นคราวนี้ ไม่ใช่ครั้งแรกที่เครือ ปตท.กระทำไป
ปีที่ผ่านมา ปตท. ก็แต่งตัวแยกทรัพย์สินของธุรกิจโรงไฟฟ้าทั้งหมด ตั้งเป็นบริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC มาแล้ว และได้ผลในทางบวกมากกว่าลบชัดเจน
การแต่งตัว GGC จึงไม่ใช่เรื่องใหม่ และไม่ใช่ครั้งสุดท้าย…เพราะดูเหมือนว่า ยามนี้ กระบวนทัศน์กรรมการและผู้บริหารเครือ ปตท.ได้เปลี่ยนไปแล้ว…ไม่เหมือนเมื่อ 5 ปีก่อน
การเปลี่ยนแปลงยุทธศาสตร์เช่นนี้จะบอกว่า…เร็วยิ่งกว่ากามนิตหนุ่ม…ก็คงไม่ผิดอะไร
หากมองย้อนกลับไป แนวคิดรวมศูนย์ เพื่อควบรวมกิจการในเครือข่ายให้ใหญ่มากๆ ได้ดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นระยะๆ ตามแผนธุรกิจ…กรณีของ PTTGC ก็อยู่ในข่ายนี้
ตลอดปี 2554 กลุ่ม ปตท. ได้ดำเนินการตามขั้นตอน เพื่อให้ผู้ถือหุ้นยอมรับแผนการควบรวมกิจการมาเป็น PTTGC โดยมีเป้าหมายว่าบริษัทใหม่ที่จัดตั้งหลังการควบรวม ให้มีมูลค่าประมาณ 1 หมื่นล้านเหรียญสหรัฐ กลายเป็นบริษัทใหญ่อันดับ 4 ในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และเทียบเท่าบริษัท ปิโตรนาส เคมิคอล ของมาเลเซีย
เป้าหมายการเพิ่มมูลค่าตลาดของกิจการ เกิดจากความเชื่อว่า ขนาดใหญ่มากขึ้นของกิจการจะสร้างความสามารถในพลังผนึกทางธุรกิจหลายด้าน ภายใต้ปรัชญาของธุรกิจพลังงานและปิโตรเคมีที่ว่า ต้องโตเพื่อการแข่งขัน
ในเชิงยุทธศาสตร์ กลุ่ม ปตท.ได้ดำเนินการเพื่อควบรวมกิจการนี้มาเมื่อประมาณปี 2552 เพื่อหาทางควบรวมกิจการบริษัทในเครือเข้ามาให้เหลือน้อยลง ตามข้อเสนอของบริษัทที่ปรึกษา KBC Advance Technology ซึ่งอ้างถึงข้อเด่นของการสร้างพลังผนึก 3 ด้านพร้อมกันทางธุรกิจประกอบด้วย 1) ด้านการดำเนินงาน จะทำให้เกิดมูลค่าเพิ่มปีละ 80-154 ล้านดอลลาร์สหรัฐต่อปี จากโครงการทั้งหมด 7 โครงการที่เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ ลดต้นทุน และค่าใช้จ่าย
2) ด้านประกอบธุรกิจ มีผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย ครอบคลุมอะโรเมติกส์และโอเลฟินส์ใหญ่ที่สุดในประเทศอย่างครบวงจร รวมทั้งมีความยืดหยุ่นในวัตถุดิบ 3) ด้านการเงินมีฐานทุนรองรับการขยายงานมากขึ้น มีรายได้หลากหลาย และเพิ่มความน่าสนใจในการลงทุน จากมูลค่าตลาดของหลักทรัพย์
ตอนจบของการควบรวมกิจการมาเป็น PTTGC ลงเอยด้วยการประเมินราคาออกมาเป็นสูตรตั้งราคาใหม่ให้กับผู้ถือหุ้นของทั้งสองบริษัทเดิม โดยการกำหนดให้มูลค่าหุ้นของบริษัทเดิมทั้งสองแห่ง เทียบกับมูลค่าของ PTTGC ดังต่อไปนี้ คือ 1 หุ้น PTTAR ต่อ 0.501296791 หุ้นของบริษัทใหม่ และ 1 หุ้นของ PTTCH ต่อ 1.980122323 หุ้นของบริษัทใหม่
วันเริ่มต้นเทรดใหม่ครั้งแรกของ PTTGC เมื่อวันที่ 21 ตุลาคม 2554 ทำให้ PTTCH กับ PTTAR เหลือเพียงตำนานเท่านั้น
การปรับเปลี่ยนยุทธศาสตร์ของ PTTGC หลังจาก 5 ปีผ่านไป ที่ตามรอยบริษัทแม่คือ PTT เมื่อปีก่อน…มีคำถามว่า มีลักษณะทำนองเดียวกันกับ “จิวยี่ถ่มน้ำลายรดฟ้า” ได้หรือไม่
คำตอบคงไม่ใช่ เพราะสถานการณ์เปลี่ยน ท่าทีและแนวคิดต้องเปลี่ยนไปด้วย…เป้าหมายสำคัญคือ มูลค่าของกิจการ และมูลค่าของผู้ถือหุ้นเป็นสำคัญที่สุด
วันนี้ ธุรกิจปิโตรเคมี…ไม่ได้ต้องการ ”โตเพื่อเพิ่มการแข่งขัน” อีกต่อไปแล้ว แต่ต้องการ ”ความยืดหยุ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม”…ดังนั้น การ “แตกแล้วรวย” จึงเกิดขึ้น
ผลพลอยได้ที่ถูก “จำบัง” เอาไว้…ได้แก่ เก้าอี้ผู้บริหารที่มากขึ้น ไม่ต้องแย่งกันให้กระเพื่อมทางการเมืองในองค์กร
อย่างหลังนี่ เข้าข่าย “ยิ่งแตก (ผู้บริหาร) ยิ่งโต” ก็ได้
“อิ อิ อิ”