พาราสาวะถี อรชุน
เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา 2516 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้สัมผัสกับกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้สุดท้ายจะลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมกับข้อกล่าวหานานาสารพัดที่พวกขวาจัดซัดกระหน่ำเข้าใส่ฝ่ายซ้ายในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม กิจกรรมและบทความที่เผยแพร่มาในช่วงนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปิดประตูอดีต เพื่อดูปัจจุบันและมองไปยังอนาคต
เนื่องในโอกาสครบรอบ 40 ปี 6 ตุลา 2516 ตลอดสัปดาห์ที่ผ่านมา เราได้สัมผัสกับกิจกรรมรำลึกถึงเหตุการณ์ครั้งสำคัญในประวัติศาสตร์การต่อสู้เพื่อประชาธิปไตย แม้สุดท้ายจะลงเอยด้วยโศกนาฏกรรมกับข้อกล่าวหานานาสารพัดที่พวกขวาจัดซัดกระหน่ำเข้าใส่ฝ่ายซ้ายในเวลานั้น อย่างไรก็ตาม กิจกรรมและบทความที่เผยแพร่มาในช่วงนี้ อาจเรียกได้ว่าเป็นการเปิดประตูอดีต เพื่อดูปัจจุบันและมองไปยังอนาคต
เริ่มกันที่เวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ ความขัดแย้งและวัฒนธรรมการลอยนวลพ้นผิด หรือ impunity ในสังคมไทย จัดโดย คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับศูนย์ศึกษาการพัฒนาสังคม คณะรัฐศาสตร์ จุฬาฯ และคณะกรรมการจัดงาน 40 ปี 6 ตุลาคม 2519 ที่น่าสนใจคือ การนำเสนอของ เอกสิทธิ์ หนุนภักดี นักศึกษาปริญญาเอก มธ. ที่มานำเสนองานวิชาการเรื่อง ความขัดแย้งทางชนชั้นกับการเมืองมวลชนรอยัลลิสต์:ความย้อนแย้งของกระบวนการสร้างประชาธิปไตยกับพระราชอำนาจนำในสังคมไทย แทน เกษียร เตชะพีระ อาจารย์คณะรัฐศาสตร์ มธ. โดยเอกสิทธิ์บอกว่า ประเด็นใจกลางของเกษียรในงานชิ้นนี้คือ ความขัดแย้งในการเมืองไทยในรอบ 10 ปีที่ผ่านมาเป็นความขัดแย้งครั้งใหญ่ยืดเยื้อยาวนานซึ่งบ่อนเซาะสังคมไทยอย่างมาก
โดยทุกคนล้วนเป็นประจักษ์พยาน สภาพการณ์ดังกล่าวเป็นดัชนีบอกเหตุหรือปรากฏการณ์ที่แสดงให้เห็นถึงช่วงเปลี่ยนผ่าน ซึ่งเกษียรใช้คำว่า “ช่วงเปลี่ยนย้ายอำนาจใหญ่ของสังคมไทย” ซึ่งในอดีตเคยเกิดขึ้นมาแล้วซ้ำแล้วซ้ำเล่า การเปลี่ยนย้ายอำนาจใหญ่ของไทยนั้นมีเหตุจากการเปิดเสรีทางเศรษฐกิจต่อโลกภายนอกซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงทางสังคมครั้งใหญ่
เกิดการเลื่อนฐานะและการปรากฏตัวของชนชั้นใหม่ๆ ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในฐานสำคัญ คือการเปลี่ยนแปลงทางชนชั้นและเกิดการประชันขันแข่งทางการเมือง นั่นคือ ชนชั้นนำเก่าและพันธมิตร กับ ชนชั้นใหม่ที่รุ่งเรืองขึ้นมา ในระหว่างทางของการประชันขันแข่งอาจมีการผลัดกันแพ้ชนะ แต่ถึงที่สุดจะนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบอบการปกครองไม่ช้าก็เร็ว
ความขัดแย้งทางการเมืองของปัจจุบัน คือความแตกแยกที่มาจากการมองเห็นอนาคตของประเทศที่ต่างกัน และการมองเห็นอนาคตว่าผู้นำประเทศที่ปราศจากการฉ้อราษฎร์บังหลวง ซึ่งก็มองเห็นจากรัฐบาลปัจจุบัน เมื่อพูดถึงคนชั้นกลางเก่าที่ต้องการรัฐบาลที่พิทักษ์สิทธิของคนกลุ่มน้อย แต่พยายามที่จะต้านทุนสามานย์ นักการเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง แล้วมองนักการเมืองว่าทำแล้วเป็นการโกง แต่ทหารทำแล้วมองว่าเป็นการบริจาค
เมื่อมีท่าทีและการมองในลักษณะที่ผิดแผกแตกต่างจากวิถีที่ควรจะเป็นเช่นนี้ จึงเป็นที่มาของการทำให้ กลุ่มชนชั้นเก่าเริ่มออกห่างการเลือกตั้งแล้วเข้าไปหาทหารแทน ล่าสุด คสช.ก็เป็นผู้เสนอตัวพยายามที่จะกอบกู้ความเป็นปึกแผ่น ขจัดความความขัดแย้งทางการเมืองไทยให้สงบ ซึ่งเป้าหมายเพื่อให้ได้ประชาธิปไตยที่มั่นคง
โดยพฤติกรรมมวลชนรอยัลลิสต์จับมือกับรัฐบาลคสช.ใช้มาตรา 112 และมาตรา 44 สร้างสภาวะยกเว้นของเขตปลอดการเมืองถาวร ติดตั้งประชาธิปไตยย้อนยุค สร้างอำนาจรัฐให้เข้มแข็งเหนือสังคมทั่วไป พึ่งพาอาศัยรัฐราชการ มีความทะเยอทะยานควบคุมอำนาจอาญาสิทธิ์ที่ไม่ต้องรับผิดต่อใคร มีวิธีคิดตกค้างจากสงครามเย็น คณะทหารมีลักษณะอนุรักษนิยมพ่อขุนอุปถัมภ์สืบทอดจากสมัยสฤษดิ์โดยไม่ถูกปฏิรูป คำถามก็คือ เครื่องมือเช่นนี้หรือที่จะทำให้เกิดประชาธิปไตยมั่นคง สถาบันพระมหากษัตริย์มั่นคง
ในมุมของกลุ่มคนพวกนี้ความเสมอภาคไม่ใช่เรื่องใหญ่โดยเฉพาะในทางการเมือง ซึ่งจะขัดขวางไม่ให้คนดีเข้ามาบริหารได้ บทความชิ้นนี้ของเกษียรสอดรับกับบทความของ สุธาชัย ยิ้มประเสริฐ ที่เขียนไว้ก่อนหน้านั้น ซึ่งเขามองว่า หลังจากปี 2522 เป็นต้นมา ประเทศไทยก็กลับเข้าสู่ระบอบประชาธิปไตยรัฐสภาเช่นเดิม และดำเนินต่อมา จนก่อให้เกิดความเข้าใจว่า ระบอบประชาธิปไตยจะมีความมั่นคงและหยั่งรากลึกในสังคมไทย
เช่นเดียวกับในประเทศตะวันตกทั้งหลาย ซึ่งแม้ว่าจะมีแนวโน้มไปทางอนุรักษนิยมเช่นกัน แต่กติกาประชาธิปไตยในประเทศเหล่านั้นมีความมั่นคง การเปลี่ยนแปลงทางการเมืองจะดำเนินการด้วยเสียงของประชาชนเท่านั้น การรัฐประหารโดยกองทัพจะเป็นวิธีการที่เกิดขึ้นไม่ได้เลย นักคิดทางการเมืองของไทยแทบทั้งหมดก่อนปี 2549 ก็มีความเชื่อในลักษณะที่ว่าการเมืองไทยก้าวไปสู่วิถีแบบอารยประเทศแล้ว
แต่ปรากฏว่า แนวคิดเช่นนั้นผิดสำหรับสังคมไทย เพราะอนุรักษนิยมไทยมีความล้าหลังที่สุด ย้อนยุคที่สุดและป่าเถื่อนที่สุดเกินความคาดหมาย ความล้าหลังของชนชั้นนำไทยที่มีแนวคิดอนุรักษนิยมสุดขั้วอยู่ที่ว่า พวกเขาเห็นว่าประชาธิปไตยเป็นเพียงวิธีการ คะแนนเสียงเลือกตั้งของประชาชนเป็นเพียงพิธีการรองรับการเปลี่ยนแปลงในกรอบที่ถูกกำหนดไว้แล้ว ถ้าประชาชนมีพฤติกรรมทางการเมืองนอกกรอบที่ชนชั้นนำต้องการ การรัฐประหารก็เป็นวิธีที่สามารถใช้ได้
ไม่เพียงเท่านั้น แม้กระทั่งการฟื้นระบอบเผด็จการสุดขั้ว ให้อำนาจทั้งหมดอยู่ในมือของผู้นำกองทัพ ลิดรอนสิทธิเสรีภาพของประชาชน ใช้กฎหมายป่าเถื่อนตามใจชอบ โดยไม่ต้องได้รับการรองรับจากประชาชน ใช้วิธีการสองมาตรฐานจนเป็นเรื่องปกติ อนุรักษนิยมไทยก็สามารถยินยอมได้ การรัฐประหารภายใต้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จึงเป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่า เผด็จการในไทยสามารถอยู่ได้เป็นระยะเวลานาน ตราบเท่าที่เผด็จการนั้นรองรับอำนาจของฝ่ายอนุรักษนิยม
ด้วยแนวโน้มเช่นนี้ สังคมไทยก็จะก้าวไปทางขวาอนุรักษนิยมมากขึ้น และแม้กระทั่งหลักการแบบเสรีนิยม ที่เชื่อในแนวคิดปัจเจกชนนิยม ระบบการเมืองที่มีเหตุผล ความเสมอภาคและเสรีภาพของประชาชน ตลอดจนถึงความเป็นนิติรัฐ ก็ยังเป็นเรื่องที่ไกลเกินฝัน ชัยชนะของฝ่ายอนุรักษนิยมในการผลักดันร่างรัฐธรรมนูญฉบับเหลวไหลจนผ่านประชามติ 7 สิงหาคมที่ผ่านมา ยิ่งสะท้อนความมืดมนในสังคมไทยมากยิ่งขึ้น
แม้กระทั่ง ทุนนิยมโลกาภิวัตน์ ก็ยังเป็นสิ่งที่ก้าวหน้าเกินไปสำหรับประเทศไทย เพราะการบริหารโดยกองทัพและระบบราชการถือว่ามีความมั่นคงกว่า และถือว่านี่เป็นเรื่องของสังคมไทยเราเอง คนนอกไม่เกี่ยว นี่คือสภาพความเป็นจริงของสังคมไทยวันนี้ ไม่ใช่แค่ในโอกาสครอบรอบ 10 แห่งการรัฐประหารตั้งแต่ 19 กันยายน 2549 เท่านั้น วิญญาณของวีรชนจากเหตุการณ์ 14 ตุลา 2516 ที่กำลังจะมาถึง และ ผู้เสียสละเมื่อ 6 ตุลา 2519 ที่ผ่านไป หากรับรู้ได้คงจะเสียใจกันเป็นอย่างยิ่ง เลือดเนื้อและชีวิตที่สูญเสียกลายเป็นความสูญเปล่า