TICON วิน-วิน เกมแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

บริษัทในเครือเสี่ยเจริญ คิดจะเทกโอเวอร์บริษัทไหน ไม่ใช่เรื่องแปลก ...และหากต้องการจริง ก็มักจะสำเร็จเสียด้วย...ไม่แปลกอีกเช่นกัน


บริษัทในเครือเสี่ยเจริญ คิดจะเทกโอเวอร์บริษัทไหน ไม่ใช่เรื่องแปลก …และหากต้องการจริง ก็มักจะสำเร็จเสียด้วย…ไม่แปลกอีกเช่นกัน

ประเด็นว่า จะเอาบริษัทไหนมาซื้อ จึงไม่มีความสำคัญอะไรเลย

การเข้าเทกโอเวอร์กิจการของ บริษัท ไทคอน อินดัสเทรียล คอนเน็คชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TICON ด้วยข้อเสนอที่ไม่อาจปฏิเสธได้ คือ ซื้อหุ้นราคาแพงกว่าตลาด และ ซื้อหุ้นเพิ่มทุนโดยไม่แตะต้องสัดส่วนผู้ถือหุ้นเดิม จึงสำเร็จเสร็จสมตามปรารถนาราบรื่นยิ่งกว่าโรยด้วยกลีบดอกกุหลาบ

หลังจากที่ TICON ขอขึ้น SP ตั้งแต่วันที่ 4-7 ตุลาคมที่ผ่านมา ในระหว่างที่มีการประชุมบอร์ดเพื่อเพิ่มทุนแ ละมีผลต่อการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างผู้ถือหุ้น ซึ่งโยงใยเข้ากับความเคลื่อนไหวที่มีคนเชื่อว่าโยงเข้ากับการเจรจากับกลุ่มบริษัทในครือเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี ที่ยังไม่แน่ชัดว่าเป็นบริษัทอะไร

แล้วข้อเท็จจริงก็ถูกเปิดออกมา เป็นไปตามคาด        

 นายวีรพันธ์ พูลเกษ กรรมการผู้จัดการ TICON เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 7 ตุลาคม 2559 ที่ผ่านมา ได้มีมติอนุมัติการเพิ่มทุนจดทะเบียนและจัดสรรหุ้นสามัญเพิ่มทุนโดยเสนอขายต่อบุคคลในวงจำกัด (PP) ให้แก่ บริษัท เฟรเซอร์ส พร็อพเพอร์ตี้ โฮลดิ้งส์ (ประเทศไทย) จำกัด หรือ FPHT จำนวน 735 ล้านหุ้น ในราคาหุ้นละ 18 บาท มูลค่ารวม 13,230 ล้านบาท

FPHT เป็นบริษัทในเครือบริษัท Frasers Centrepoint Limited FCL ซึ่งเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์สิงคโปร์ และเป็นหนึ่งในบริษัทชั้นนำด้านการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของสิงคโปร์ มีมูลค่าสินทรัพย์รวม 2.3 หมื่นล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ข้อมูล ณ วันที่ 30 มิถุนายน 2559)

หากยังไม่หลงลืมกัน  FCL เป็นบริษัทย่อยในร่มธงของ F&N ที่เป็นบริษัทผลิตเครื่องดื่มและโลจิสติกส์ และอสังหารมิทรัพย์ข้ามประเทศ แต่มีธุรกิจหลักในสิงคโปร์ ซึ่งกลุ่ม ไทยเบฟเบอเรจ จำกัด (มหาชน) ไปซื้อมาเมื่อ 2 ปีก่อนด้วยมูลค่ามหาศาล  

นั่นก็เท่ากับผลลัพธ์ของดีลนี้ จะทำให้ TICON กลายสภาพเป็นบริษัทในเครือเสี่ยเจริญโดยปริยาย

ราคาที่ FPHT เสนอซื้อ เป็นราคาที่สูงกว่าราคาถ่วงน้ำหนักถัวเฉลี่ย 15 วันย้อนหลัง 11.2% ถือว่าแฟร์เพลย์

 ดีลนี้ ยังไม่สิ้นสุด เพราะ TICON กำหนดให้จัดประชุมวิสามัญผู้ถือหุ้นขึ้นในวันที่ 19 ธันวาคม 2559 เพื่อขอที่ประชุมผู้ถือหุ้นอนุมัติการเพิ่มทุน ซึ่งหลังจากการเข้าซื้อหุ้นเพิ่มทุนจะทำให้ FPHTเข้าถือหุ้นใน TICON คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 40% ของจำนวนหุ้นที่ออกและชำระแล้วทั้งหมด

คำถามคือ นอกจาก TICON จะได้เงินเข้ามาเต็มๆ 13,230 ล้านบาท เพื่อมาเสริมกองทุนแล้ว ถามว่า กุล่มผู้ถือหุ้นเดิมได้อะไรบ้างจากการที่อนาคต TICON จะมีกำไรต่อหุ้นต่ำลงเพราะจำนวนหุ้นเพิ่มขึ้นมากกว่า 70% และ FPHT ก็จะไม่ต้องทำเทนเดอร์ออฟเฟอร์ เพราะเป็นการซื้อหุ้นเพิ่มทุนใหม่  ได้รับยกเว้นภายใต้เงื่อนไขกฎหมายการเข้าครอบงำกิจการ (Whitewash)

คำตอบคือ ไม่มีใครได้ ยกเว้น Nippon Steel ผู้ถือหุ้นใหญ่ของบริษัท สวนอุตสาหกรรมโรจนะ จำกัด (มหาชน) หรือ ROJNA ที่ไม่ต้องวุ่นวายกับการหาทางเพิ่มทุนให้กับ TICON

ที่ผ่านมา TICON อยู่ในลักษณะ “เด็กฉลาด แต่ขาดวิตามิน M” เพราะความต้องการเพิ่มทุนเพื่อขยายความสามารถทางการแข่งขัน ไม่สามารถทำได้ เพราะว่า ROJNA และ Nippon Steel ไม่ต้องการเพิ่มทุนให้กับ TICON

ผลลัพธ์อย่างที่เห็นการสร้างสภาพคล่องของ TICON จึงต้องพึ่งพาการออกกองทุนเป็นหลัก ทำให้ความสามารถทำกำไรลดลงต่อเนื่องเพราะสัดส่วนหนี้สูงลิ่วมาก โดยค่าดี/อี ล่าสุดอยู่ที่ 2.3 เท่า

ท่าทีของ ROJNA นั้น บอกกล่าวผ่านนางสาวอมรา เจริญกิจวัฒนกุล กรรมการบริษัทว่า TICON มีความประสงค์ที่ต้องการปรับโครงสร้างทางการเงิน เพื่อลดต้นทุนการเงิน แต่ ROJNA ที่เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ไม่ต้องการใส่เงินลงทุนเพิ่มเติม การมาของ FPHT จึงช่วยเสริมศักยภาพTICON อย่างมีนัยสำคัญ

เพื่อความรอบคอบก่อนการประชุมผู้ถือหุ้นวิสามัญจะเกิดขึ้น TICON ยังอนุมัติและแต่งตั้งบริษัท เบเคอร์ ทิลลี่ คอร์ปอเรท แอ็ดไวเซอรี่ เซอร์วิสเซส (ประเทศไทย) จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงินอิสระเพื่อแสดงความเห็นเกี่ยวกับการเข้าทำรายการ

เบ็ดเสร็จสมบูรณ์แบบ …ไม่ต้องเยิ่นเย้อเสียเวลา

เหลือเพียงโจทย์สำหรับอนาคตว่า เสี่ยเจริญต้องการหุ้นของ TICON เพียงแค่ 40% เท่านั้นเองหรือ

คำตอบต้องรอดูในอนาคต รวมทั้งเก้าอี้กรรมการผู้จัดการของ นายวีรพันธ์ พูลเกษ

“อิ อิ อิ”

Back to top button