พาราสาวะถี อรชุน
ยังคงเดินสายยื่นเรื่องร้องต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องสำหรับ ศรีสุวรรณ จรรยา ต่อการกังขาเรื่องการใช้งบประมาณ 20.9 ล้านบาทของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่นำคณะ 38 คนเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐฯ ที่ฮาวาย โดยล่าสุดไปยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบ เพราะเห็นว่าสิ่งที่บิ๊กป้อมดำเนินการไปนั้นขัดต่อค่านิยม 12 ประการของรัฐบาล ที่ให้เน้นความประหยัด มัธยัสถ์ โดยมีการวางหลักค่านิยมดังกล่าวให้มีการปฏิบัติตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง
ยังคงเดินสายยื่นเรื่องร้องต่อองค์กรที่เกี่ยวข้องต่อเนื่องสำหรับ ศรีสุวรรณ จรรยา ต่อการกังขาเรื่องการใช้งบประมาณ 20.9 ล้านบาทของ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่นำคณะ 38 คนเดินทางไปร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐฯ ที่ฮาวาย โดยล่าสุดไปยื่นร้องต่อผู้ตรวจการแผ่นดินให้ตรวจสอบ เพราะเห็นว่าสิ่งที่บิ๊กป้อมดำเนินการไปนั้นขัดต่อค่านิยม 12 ประการของรัฐบาล ที่ให้เน้นความประหยัด มัธยัสถ์ โดยมีการวางหลักค่านิยมดังกล่าวให้มีการปฏิบัติตามวิถีเศรษฐกิจพอเพียง
สิ่งที่ศรีสุวรรณตั้งเป็นข้อสังเกตก็คือ ในฐานะหัวหน้าคณะ บิ๊กป้อมมีสิทธิที่จะเลือกอาหารสำหรับรับประทานบนเครื่องบินได้ ไม่ต้องหรูหราถึงขั้นไข่ปลาคาเวียร์จนทำให้ค่าอาหารสำหรับคน 38 คนแพงหูฉี่ถึงมื้อละ 150,000 บาท เช่นเดียวกับการพาคณะติดตามเดินทางไปจำนวนมากทั้งๆ ที่เป็นการประชุมอย่างไม่เป็นทางการ
ผิดกับ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ที่เดินทางไปร่วมประชุมแต่ละครั้งใช้วิธีการเดินทางแบบประหยัดและใช้คณะติดตามไม่มาก อย่างไรก็ตาม ศรีสุวรรณยังตั้งข้อสังเกตต่อกระบวนการตรวจสอบของสตง.ที่รวดเร็วและสรุปไปในทำนองว่าทุกอย่างโปร่งใส ไร้มลทิน ทั้งๆ ที่การบินไทยและสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองบอกว่าจะต้องใช้เวลาอย่างน้อย 2 เดือนในการตรวจสอบเรื่องดังกล่าวให้ได้ข้อสรุป
นั่นหมายความว่า บทสรุปของสตง.ส่อพิรุธ ยิ่งได้ฟังคำให้สัมภาษณ์ของ พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าฯสตง.ล่าสุดที่บอกว่า จะรอให้การบินไทยวางบิลก่อนจึงจะตอบได้ว่าค่าใช้จ่ายทั้งหมดนั้นคุ้มค่าหรือไม่ แล้วที่ไปการันตีก่อนหน้าว่าทุกอย่างเหมาะสมหมายความว่าอย่างไร งานนี้ เดาได้เลยว่าบทสรุปสุดท้ายคณะบิ๊กป้อมจะได้ใช้ของดีราคาถูก ส่วนจะถูกต้องและทำให้การบินไทยได้ประโยชน์หรือไม่ อันนี้คงไม่ต้องบอก
เก็บตกประเด็นการถูกถอนประกันของ จตุพร พรหมพันธุ์ ฝ่ายที่ตกเป็นจำเลยในสายตาของคนเสื้อแดงคือบิ๊กตู่และคณะคสช. แต่เบื้องลึกรายงานว่างานนี้ผู้มีอำนาจปัจจุบันไม่เกี่ยว เป็นเพียงแพะรับบาปเท่านั้น เพราะมือที่สั่งการเรื่องนี้เป็นกลุ่มอำนาจเก่าที่ไม่พอใจประธานนปช.มานานนม พอสบช่องจึงดำเนินการจนทำให้ท่านผู้นำรู้สึกอึดอัดไม่ใช่น้อย
ประกอบกับก่อนหน้านี้บิ๊กตู่ก็เคยพูดประเด็นเรื่องคนที่มีคดีความติดตัวให้ระวังจะถูกดำเนินการอย่างใดอย่างหนึ่ง จึงทำให้แนวร่วมคนเสื้อแดงปักใจเชื่อว่า ผลแห่งการทำให้จตุพรถูกถอนประกันนั้นมาจากรัฐบาลและคสช. เรียกได้ว่าคนที่อยู่เบื้องหลังการเดินเกมหนนี้ยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว ถือว่าคุ้มแสนคุ้ม แต่ที่กลุ้มสุดๆ คือรัฐบาล เพราะจะต้องคอยเฝ้าระวังแรงกระเพื่อมที่จะตามมา
พรุ่งนี้จะครบรอบ 43 ปีเหตุการณ์ตุลามหาวิปโยค ขณะที่เพิ่งผ่านพ้นกิจกรรม 40 ปี 6 ตุลา 2519 มาหมาดๆ ในแง่ของคนเดือนตุลานั้นคงไม่ต้องพูดถึง กับการที่บางส่วนได้ละทิ้งอุดมการณ์หันไปซุกปีกเผด็จการอย่างไม่สะทกสะท้านต่อเสียงวิพากษ์วิจารณ์ใดๆ แต่ยังคงมีคนในเหตุการณ์อีกจำนวนไม่น้อยที่ยังยึดมั่นต่อแนวทางที่ตัวเองยึดถือมาตั้งแต่ครั้งนั้นจนถึงทุกวันนี้
หนึ่งเสียงที่น่าสนใจคือ สุชีลา ตันชัยนันท์ อดีตรองเลขาธิการศูนย์กลางนิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทยหรือศนท.ในเหตุการณ์ 6 ตุลา ที่ล่าสุดเขียนบทความเรื่อง โต้วาทกรรม Blame the Victim กรณี 6 ตุลา 2519 โดยฉายภาพให้เห็นถึงขบวนการนักศึกษาและประชาชนที่ต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด
คำถามคือ การที่ขบวนการนักศึกษาประชาชนยืนหยัดต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยอย่างถึงที่สุด เป็นการกระทำที่ “ซ้ายจัด” และสมควรถูกลงโทษกระนั้นหรือ สิ่งนี้คือวาทกรรมที่เรียกว่า Blame the Victim อันหมายถึง การที่ฝ่ายถูกกระทำต้องลงโทษและตำหนิตัวเองในอาชญากรรมและเหตุร้ายต่างๆ ที่เกิดขึ้น
เช่นกรณีที่นักศึกษาประชาชนถูกปราบปรามอย่างรุนแรงและโหดเหี้ยมในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519 ถือเป็นความรับผิดชอบของฝ่ายผู้ถูกกระทำเอง ที่ลุกขึ้นมาต่อต้านการรัฐประหารและแผนการล้มล้างระบอบประชาธิปไตยหรือเพราะซ้ายจัดนั่นเอง สิ่งที่เราควรตั้งคำถามคือ ทำไมเมื่อขบวนการนักศึกษาประชาชนลุกขึ้นมาต่อต้านเผด็จการ เขาเหล่านั้นกลับกลายมาเป็นผู้ทำความผิดและต้องถูกลงโทษ
ทำไมเราไม่มองว่าเขาเหล่านั้นเป็นผู้ที่มีจิตใจกล้าต่อสู้ กล้าเสียสละในการต่อสู้เพื่อปกป้องระบอบประชาธิปไตยจนถึงที่สุดเล่า คำถามต่อมาคือ แม้ว่าจะไม่มีการชุมนุมในวันที่ 6 ตุลาคม เราจะแน่ใจได้อย่างไรว่ารัฐไทยจะไม่ทำการปราบปรามและกวาดล้างขนานใหญ่ นั่นเพราะบทเรียนในอดีตอันขมขื่นสอนให้เรารู้ว่า ไม่ว่าฝ่ายประชาชนจะเคลื่อนไหวชุมนุมหรือไม่ก็ตาม ฝ่ายขวาจัดย่อมลงมือปราบปรามผู้เรียกร้องสิทธิเสรีภาพและประชาธิปไตยอย่างโหดเหี้ยมเสมอ
ไม่ว่าจะมีการชุมนุมวันที่ 6 ตุลาคมหรือไม่ รัฐก็ต้องลงมือปราบปรามขบวนการนักศึกษาประชาชนอย่างไม่ต้องสงสัย ดังนั้น จิตใจที่กล้าต่อสู้ กล้าเสียสละของวีรชนจำนวนมากเพื่อปกป้องประชาธิปไตยในวันนั้นจึงสมควรได้รับการยกย่องและเป็นแบบอย่างแก่อนุชนรุ่นหลัง เมื่อเป็นเช่นนั้น สังคมไทยต้องดำเนินการทั้งในแง่ของการเปิดเผยข้อเท็จจริงและการจัดการกับผู้ก่ออาชญากรรมในเหตุการณ์นองเลือด 6 ตุลา 2519
เพื่อนำไปสู่การยุติความรุนแรงต่อประชาชน และเพื่อเป็นบรรทัดฐานต่อกรณีการก่ออาชญากรรมโดยรัฐ ดังที่มีการดำเนินการในนานาอารยประเทศ แม้ข้อเขียนดังกล่าวของสุชีลาไม่ได้กล่าวถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน แต่การเพิกเฉยต่อกรณี 6 ตุลา ก็น่าจะเข้ากับภาวะของคนดีทั้งหลายแหล่ที่ไม่แยแสต่อกระบวนการเอาผิดกับกลุ่มนักศึกษาและประชาชนที่เรียกร้องถามหาสิทธิ เสรีภาพและประชาธิปไตยในพ.ศ.นี้
จะเห็นได้ว่าสังคมโดยเฉพาะผู้ที่ได้ชื่อว่าคนดีและอดีตนักเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยในอดีตไม่ได้อินังขังขอบต่อการที่กลุ่มนักศึกษาซึ่งเคลื่อนไหวด้านประชาธิปไตยถูกจับกุมคุมขังด้วยอำนาจพิเศษ รวมไปถึงประชาชนบางกลุ่ม ในทางตรงข้ามกลับมองว่าคนเหล่านั้นเป็นเครื่องมือหรือเครือข่ายของฝ่ายที่ตัวเองเกลียดชัง
ทั้งๆ ที่กลุ่มนักศึกษาอย่างขบวนการประชาธิปไตยใหม่ ผลงานที่ผ่านมาได้พิสูจน์ชัดว่าคือบุคคลและกลุ่มคนที่เคยต่อต้านระบอบทักษิณมาก่อน นี่คือภาพสะท้อนของความเป็นจริงที่ว่า ไม่ว่าวันเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ ความเกลียดชังหรืออคติส่วนตัวที่ถูกปลุกเร้าขึ้นจนกลายเป็นความมืดบอด พร้อมที่จะก้มหัวสยบยอมให้กับอำนาจอย่างอื่นเพื่อสนองความสะใจของตัวเองทั้งสิ้น โดยไม่สนใจว่าประชาธิปไตยของประเทศจะถอยหลังหรือจมปลักดักดานอยู่กับที่อย่างไร