TU ไม่ได้ปลา ก็จับกุ้งแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

หลังจากดีลซื้อกิจการในสหรัฐฯของผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ของไทย บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ล่มลงไป ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ตามมา จนกระทั่งล่าสุดก็มีดีลแบบเดิม ซึ่งสำเร็จแล้วเกิดขึ้นอีกครั้ง


หลังจากดีลซื้อกิจการในสหรัฐฯของผู้ผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ของไทย บริษัท ไทยยูเนี่ยน โฟรเซ่น กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU ล่มลงไป ก็ไม่มีความเคลื่อนไหวใหม่ๆ ตามมา จนกระทั่งล่าสุดก็มีดีลแบบเดิม ซึ่งสำเร็จแล้วเกิดขึ้นอีกครั้ง

ครั้งล่าสุดนี้ TU เข้าซื้อธุรกิจร้านอาหารทะเล Red Lobster ที่มีขนาด 754 สาขาทั่วโลก มูลค่า 2 หมื่นล้านบาท จากผู้ขายคือ Golden Gate Private Equity

ตามข้อมูลที่รวบรวมได้ Red Lobster ดำเนินธุรกิจเครือข่ายร้านอาหารทะเล และสินค้าบรรจุภัณฑ์ที่เกี่ยวกับ Red Lobster มีสาขาทั่วโลก 754 แห่ง (สหรัฐฯ 677, แคนาดา 27, ญีปุ่น 24, และประเทศอื่นๆ 26 แห่ง) ถือเป็นเครือข่ายภัตตาคารรายใหญ่ระดับกลางและบนของสหรัฐฯ เลยทีเดียว โดยในรอบ 12 เดือนล่าสุดถึงเดือนสิงหาคมปีนี้ มีรายได้ 2,479 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และมี EBITDA เท่ากับ 144 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (margin 5.8%) แต่มีกำไรสุทธิติดลบ

ที่ผ่านมา Red Lobster ตกเป็นเหยื่อของการซื้อขายกิจการมาหลายทอด โดยเมื่อสองปีก่อน กลุ่มทุนเจ้าของร้านอาหารที่เข้าเทกโอเวอร์บริษัทนี้คือ Darden Restaurants ได้ถอนตัวเพราะทนขาดทุนไม่ไหว ปล่อยให้กลุ่มพันธมิตรที่เป็นบริษัทนักล่าซื้อขายกิจการนำโดย Starboard Value และ Barington Capital Group เข้าไปครอบครอง ซึ่งก็มีการผ่องถ่ายกันไปมา เพราะกิจการยังมีตัวเลขขาดทุน

สำหรับ TU การเข้าซื้อกิจการคราวนี้ ไม่ได้เข้าไปซื้อเพื่อบริหารในทันที เพราะซื้อหุ้นสามัญของ Red Lobsterในสัดส่วนเพียง 25%ในมูลค่ารวม 230 ล้านดอลลาร์ แต่ซื้อหุ้นบุริมสิทธิไว้อีก 24%ในมูลค่ารวม 345 ล้านดอลลาร์ รวมเป็นการเข้าลงทุน 575 ล้านดอลลาร์ หรือราว 2 หมื่นล้านบาท

เงื่อนไขของหุ้นบุริมสิทธิคือ จะมีอายุนาน 10 ปีให้ TU สามารถเลือกว่าจะแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญ หรือ ขายคืนเจ้าของเดิม เมื่อครบกำหนด โดยประเมินว่าหุ้นบุริมสิทธิที่ถือ จะได้รับผลตอบแทนในรูปดอกเบี้ยอัตราปีละ 8%หรือราว 22 ล้านดอลลาร์ต่อปี

การเข้าซื้อกิจการครั้งนี้ ระบุว่า แหล่งเงินทุนช่วงแรกจะมาจากกู้ Bridge Loan (จากธนาคารในประเทศไทย 3 แห่งคือ  BBL, SCB และ BAY เป็นระยะเวลา 6 เดือน หลังจากนั้นจะ Refinance เป็นเงินกู้ระยะยาวและหุ้นกู้ โดยจะไม่ใช้วิธีเพิ่มทุนแต่อย่างใด ซึ่งผลของการใช้วิศวกรรมการเงินเพื่อซื้อกิจการนี้ กระทบค่า Net D/E จะเพิ่มขึ้นเป็น 1.16 เท่า จากปัจจุบันที่ 0.74 เท่า

TU ระบุยุทธศาสตร์ของการซื้อกิจการคราวนี้ว่า แต่เดิม TU และ Red Lobster เป็นคู่ค้ากันอยู่นานแล้ว โดยมีมูลค่าซื้อขายระหว่างกันราว 50 ล้านดอลลาร์ต่อปี การเข้าร่วมทุนจะทำให้ได้เห็นพลังผนึกระหว่างกันเพิ่มขึ้นในอนาคต  แต่หากสามารถเข้าไปช่วยให้ RedLobster สามารถทำตามเป้าหมายคือกลับมาทำกำไรอีกครั้งทันทีในปีหน้า จะทำให้ TU รุกเข้าต่อยอดสู่ธุรกิจปลายน้ำอย่าง Food Service มากขึ้น โดยหวังรับรู้ส่วนแบ่งกำไร (จากเข้าถือหุ้นสามัญ 25%) ราว US$7-8 ล้านต่อปี

มุมมองในทันทีของนักวิเคราะห์ ระบุว่า เป็นบวกในระยะยาว แต่ในระยะสั้นยังสร้างมูลค่าเพิ่มให้กิจการไม่มากนัก โดยหลังเข้าซื้อแล้วเสร็จ และอิงเป้าหมายของ TU จะมีกำไรสุทธิเพิ่มขึ้นราว 6% หรือราว 300 ล้านบาท (รวมภาระดอกเบี้ยจ่ายปีละ US$20 ล้าน) คิดเป็น EPS 0.06 บาทต่อหุ้น ราคาเป้าหมายจะเพิ่มขึ้น 1 บาทเท่านั้น

ที่พูดนี้หมายความว่า ถ้าสามารถบรรลุเป้าหมายทำให้ Red Lobster กลับมาทำกำไรได้… แต่ว่า หากเกิดผลลัพธ์ตรงกันข้าม…นักวิเคราะห์ไม่ได้บอกเอาไว้

เพียงแต่มีบางคนที่เหนียมๆ ก็บอกทางอ้อมเอาไว้เป็นนัยว่า อาจจะเป็นช่องทางสำคัญในการศึกษาธุรกิจอาหารในอนาคตนอกเหนือจากที่ดำเนินการในปัจจุบัน อย่าง Ambient Seafood (อาหารทะเลบรรจุในภาชนะ) และ อาหารทะเลแช่แข็งและอาหารแช่เย็น)  จึงแนะนำแบบเชียร์แขกว่า ให้ “ซื้อลงทุน” ต่อไป โดยให้เหตุผลว่า บริษัทนี้ มีส่วนแบ่งทางการตลาดในธุรกิจร้านอาหารทะเลในทวีปอเมิรกาเหนือ มากกว่า 50% (ทิ้งคู่แข่งเบอร์ 2 ที่มีสาขาในทวีปอเมริกาเหนือเพียง 210 สาขา) ซึ่งหากผลตอบแทนออกมาดีทาง TU สามารถเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นได้ แต่หากผลประกอบการไม่เป็นไปตามที่ทาง TU คาดไว้ ก็ยังสามารถถือหน่วยลงทุนและรับผลตอบแทนที่ระดับ 8% ต่อปีได้ต่อไปจนครบเวลา 10 ปี 

เหตุผลที่ว่ามาล้วนดูดีไปหมด..ถือว่าเป็นการโตทางลัดในธุรกิจข้ามพรมแดนที่สำคัญ โดยไม่ต้องไปบุกเบิกตลาดเองให้เสียเวลา

เงินต่อเงิน..และเงินต่อธุรกิจ พูดกันง่ายๆ ไม่ต้องคิดมากให้วุ่นวาย

ยุทธการโตทางลัดของ TU ไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่ เพราะพิสูจน์มาแล้วทุกครั้งว่าได้ผลดีเสมอมา นับแต่การเข้าซื้อกิจการ Tri-Union Seafoods LLC ผู้ผลิตและจำหน่ายปลาทูน่ากระป๋องและอาหารทะเลอื่นๆ เจ้าของแบรนด์เนม “Chicken of the Sea” ในสหรัฐฯ ในปี ค.ศ. 2001 ต่อมาด้วยการร่วมทุน 50% ร่วมกับพันธมิตร Tri-Marine International และ The Gann Family Trust เพื่อซื้อกิจการของบริษัท Van Camp Seafoods ที่อยู่ในภาวะล้มละลาย และได้ตัดสินใจเข้าไปถือหุ้นเต็ม 100% ในวงเงินมูลค่า 38.5 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ก่อนที่จะก้าวข้ามไปยุโรปกลางปี ค.ศ. 2010 เพื่อประมูลซื้อกิจการของ MW Brands ในยุโรป ด้วยมูลค่า 680 ล้านยูโร จากมือของ Trilantic Capital Partners ซึ่งทำให้ TU กลายเป็นผู้ผลิตปลาทูน่าบรรจุกระป๋องรายใหญ่ที่สุดในโลกถึง 500,000 ตันต่อปี มีเครือข่ายครอบคลุมไปทั่วโลก และเป็นเจ้าของตราสินค้าชื่อดังในยุโรปหลายยี่ห้อ เช่น John West, Petit Navire, Hyacint, Parmentier และ Mareblu กลายเป็นบริษัทผลิตอาหารทะเลรายใหญ่ที่สุดของโลก

มีเพียงกรณีBumble BeeHoldco SCA ที่ดีลล่มไปเสียก่อนปีที่แล้วเท่านั้น

ย่างก้าวใหม่ที่ใหญ่กว่าเดิมนี้ ทำให้ TU เป็นกิจการข้ามชาติสมบูรณ์แบบไปแล้ว

เหินฟ้าระดับโลกอย่างนี้…ก็ต้องถือคติ เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ ….กันต่อไป

“อิ อิ อิ”

Back to top button