ข่าวลือ – ข่าวจริงพลวัต 2016

โดยทั่วไป ตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไร มักจะมีคำกล่าวเกร่อว่า ”ขึ้นตามข่าวลือ ขายตามข่าวจริง” แต่สถานการณ์ของสัปดาห์นี้ในตลาดหุ้นไทยกลับตรงกันข้ามกันอย่างน่าสนใจ เพราะหุ้นลงตามข่าวลือ แต่ขึ้นตามข่าวจริง


วิษณุ โชลิตกุล

 

โดยทั่วไป ตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไร มักจะมีคำกล่าวเกร่อว่า ”ขึ้นตามข่าวลือ ขายตามข่าวจริง” แต่สถานการณ์ของสัปดาห์นี้ในตลาดหุ้นไทยกลับตรงกันข้ามกันอย่างน่าสนใจ เพราะหุ้นลงตามข่าวลือ แต่ขึ้นตามข่าวจริง

ข่าวลือที่ทำให้หุ้นร่วงลงไปค่อนข้างลึกนั้น ไม่ใช่เรื่องน่ายินดี แม้ว่าอาจจะมีคนบางคนที่เล่นตลาดอนุพันธ์หลายคนมากสามารถทำกำไรได้ค่อนข้างสูงในหลายวันมานี้ จากการเล่นเก็งกำไรตลาดขาลง แต่โดยภาพรวมแล้ว มีความเสียหายมากกว่ามากมายเห็นได้ชัด

ตลาดหุ้นนั้นเป็นตลาดที่จะทำกำไรจากขาขึ้นเป็นสำคัญ มีเฉพาะคนไม่กี่คนที่สามารถทำกำไรจากขาลงได้ เพราะสุ่มเสี่ยงอย่างมาก การร่วงลงของตลาดหุ้นในวันจันทร์ถึงครึ่งเช้าวันพฤหัสบดี ทำให้มาร์เก็ตแคปของตลาดหุ้นไทยหายไปมากกว่า 1.2 ล้านล้านบาท แต่เมื่อท้ายตลาดวานนี้ ราคาหุ้นและดัชนีตลาดรีบาวด์กลับแรง ทำให้กลับมาบวกได้ ก็ทำให้มาร์เก็ตแคปที่หายไปกลับคืนมาได้พอสมควร

มาร์เก็ตแคปที่คำนวณจากจำนวนหุ้นคูณด้วยราคาหุ้นบอกถึงความมั่งคั่งของตลาดและของนักลงทุนได้ดี แต่นั่นไม่สำคัญเท่ากับว่า พอร์ตเงินลงทุนของนักลงทุนแต่ละคน เพิ่มมากขึ้นหรือลดลง 

ข่าวลือที่ทำให้ตลาดหุ้นไทยร่วงหนักตลอดสัปดาห์นี้ มีรากเหง้าจากความเปราะบางทางอารมณ์ของนักลงทุน โดยที่ไม่มีใครสามารถเชื่อถือได้ว่า ข่าวจริงคืออะไร ทำให้การประเมินสถานการณ์มีความคลุมเครือ ทางเลือกที่ดีและปลอดภัยสุดคือการขายทิ้งไปก่อนเพื่อไปถือเงินสด จนกว่าข่าวจริงจะออกมา

ข่าวลือที่ไม่มีที่มาที่ไป และไม่รู้ต้นตอ เปรียบได้กับสายลมที่ไม่มีใครรู้แต่สัมผัสได้ ทำให้ความคาดหวังในอนาคตถูกสั่นคลอน เริ่มตั้งแต่ค่าเงินบาทที่เคยแข็งจากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้า เกิดอาการอ่อนยวบกะทันหัน ตามมาด้วยต่างชาติขายตราสารหนี้รัฐบาลไทยในตลาดตราสารหนี้ และการขายต่อเนื่องหลายวันของต่างชาติในตลาดหุ้น โดยที่คนที่เกี่ยวข้องในการกำกับดูแล ต่างไม่มีใครออกมาอธิบายถึงปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้น นอกจากเพียงแค่ว่า พื้นฐานของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยยังแข็งแกร่งไม่มีเปลี่ยนแปลง

คำอธิบายดังกล่าวไม่เพียงพอที่จะสกัดกั้นการร่วงลงของราคาหุ้นที่ถูกถล่มขายอย่างหนักจากนักลงทุนสถาบันในประเทศ และตามมาด้วยพอร์ตโบรกเกอร์และต่างชาติ

โดยหลักการของข่าวลือนั้น เคยมีนักการศึกษาทางด้านสังคมวิทยาชื่อ โรเบิร์ต แน็พ ได้ทำการวิจัยและตีพิมพ์ออกมาเป็นหนังสือชื่อดังเรื่อง A Psychology of Rumor ใน ค.ศ. 1944 ระบุว่า ข่าวลือ คือข่าวที่พยายามพิสูจน์ความมีจริงของข้อมูลข่าวสารซึ่งไม่เคยมีอยู่ โดยใช้วิธีการในการสื่อสารข้อความที่ไม่เป็นทางการด้วยตัวอย่างที่ประดิษฐ์ขึ้นมาเสมือนจริง โดยอาศัยมายาคติของคนในสังคมดั้งเดิมเป็นตัวเชื่อมโยงสำคัญ เพื่อสร้างความเชื่อใหม่

รูปแบบของการเผยแพร่ข่าวลือประกอบด้วย 1) การส่งผ่านและแปรความด้วยการกระจายปากต่อปากในลักษณะของเกม ”เจ๊กกระซิบ” 2) การสร้างเงื่อนไข บุคคล และปรากฏการณ์ที่ผูกกันเข้าอย่างมีตรรกะให้เกิดความน่าเชื่อถือ 3) การกระตุ้นอารมณ์ของจิตวิทยาฝูงชนด้วยประเด็นที่เหมาะกับความสนใจแต่ละช่วงเวลาอย่างเหมาะสม

รูปแบบการเผยแพร่ข่าวลือข้างต้น ทำให้เกิดคำนิยามเกี่ยวกับประเภทของข่าวลือ 3 อย่างที่น่าสนใจได้แก่

-ข่าวลือเพื่อกระตุ้นแรงปรารถนาของสังคม หรือ pipe dream rumors โดยใช้วิธีสร้างตรรกะด้วยทฤษฎีสมคบคิดขึ้นมา

-ข่าวลือเพื่อกระตุ้นความกลัว หรือ bogie rumors ด้วยการสร้างภาพชวนสยองของกลุ่มป้าหมาย

-ข่าวลือแบบเสี้ยม หรือ wedge-driving rumors เพื่อสลายเอกภาพของกลุ่มเป้าหมายโดยมุ่งแตกแยกกัน

ข่าวลือทุกประเภทข้างต้น ล้วนมีกระบวนการรับมือที่ต่างกันในรายละเอียด มีทั้งที่สำเร็จ และมีทั้งที่ล้มเหลว แต่ไม่ว่าจะมีผลลัพธ์อย่างไร ข่าวลือก็เป็นกิจกรรมที่เกิดขึ้นได้ในสังคมทุกแห่งตลอดเวลา ตราบใดที่มีจุดอ่อนเรื่องการสื่อสารที่บกพร้องเกิดขึ้น จนกลายเป็น ”ช่องว่างของการทำความเข้าใจ”

การขจัดข่าวลือ จึงแก้ไม่ได้ง่ายๆ ยกเว้นด้วยการทำให้ข่าวจริงที่มีพลังเกิดขึ้น แต่ส่วนใหญ่ของข่าวจริงที่เกิดขึ้นในการขจัดข่าวลือ มักจะมาช้ากว่าความเสียหายจากข่าวลือเสมอ

กรณีของข่าวลือจากตลาดหุ้น ซึ่งเปราะบางในสังคมไทย ที่ทำได้แค่เพียงบอกว่าข่าวดังกล่าวเป็น ”ข่าวลือไม่เป็นมงคลที่ไม่สามารถอธิบายได้” แทนที่จะเป็นผลดี กลับทำให้มีข่าวลือเพิ่มมากขึ้น เพราะไม่มีใครกล้าบอกได้ว่า อย่างไหนเป็นข่าวจริง และอย่างไหนเป็นข่าวลือ

การแพร่กระจายของข่าวลือที่อธิบายไม่ได้ ทำให้ราคาหุ้นร่วงแรงทุกครั้ง ด้านหนึ่งบ่งบอกคุณภาพและจิตใจที่ไม่สงบนิ่งของนักลงทุนในตลาดได้ว่า ตกอยู่ภายใต้ความไร้เหตุผล และจิตวิทยาฝูงชนอย่างแท้จริง แรงขายในตลาดหุ้นจนราคาหุ้นร่วงทั้งกระดาน จากความสับสนของกระแสข่าวในประเทศ ทำให้ดัชนีร่วงมาถึงจุดสำคัญที่เรียกว่า ”มวลวิกฤต” ทำให้เกิดแรงขายอย่างเร่งร้อนตามมาที่ระดับหนึ่งตามโปรแกรมเทรดที่ตั้งคำสั่งอัตโนมัติไว้ของบรรดากองทุน โดยที่มีหุ้นบางตัวที่ถูกมาร์จิ้น คอลล์ และฟอร์ซ เซลล์ พร้อมกันไป ทำให้หุ้นร่วงหนักกว่าปกติ 

สิ่งที่ผู้เกี่ยวข้องทำได้คือจัดประชุมหารือเพื่อรับมือ ดังกรณีของ 3 หน่วยงานได้แก่ ตลาดหลักทรัพย์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และกระทรวงการคลัง ได้มีการหารืออย่างไม่เป็นทางการ เพื่อรับมือกับการปรับตัวลงอย่างรุนแรงจากข่าวลือ แต่ก็ทำได้เพียงแค่แนวทางปฏิบัติร่วมกันตามปกติเท่านั้น ไม่ได้มีมาตรการอะไรที่เป็นรูปธรรม ต้องปล่อยให้กลไกของตลาดทำงานกันต่อไปตามปกติ เพื่อให้นักลงทุนทุกกลุ่มปรับพอร์ตตามสัญญาณเทคนิคปกติ

ที่น่าสนใจคือ การออกโรงแบบ ”เล่นปาหี่” ของนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ที่ทำท่าขึงขังมาสั่งการให้ ก.ล.ต. หาผู้ปล่อยข่าวลือต่างๆ จนมีผลกระทบต่อการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์อย่างมากเมื่อวันพุธ และขอให้นักลงทุนอย่าหลงเชื่อข่าวลือ จนตกเป็นเหยื่อพวกปล่อยข่าวลือเพื่อทุบหุ้นหาประโยชน์ และขอให้มั่นใจในศักยภาพของประเทศ  และการที่ผู้บริหารของ ก.ล.ต.ก็ออกมาเต้นตามเพลงเดียวกัน ก็ไม่ได้มีประสิทธิผลยับยั้งข่าวลือได้

ความล้มเหลวของการรับมือกับข่าวลือนี้ มลายหายไปทันทีเมื่อมีข่าวจริงเกิดขึ้น และยังผลให้ตลาดขานรับในเชิงบวกทันที เกิดเป็นปรากฏการณ์ ”ลงตามข่าวลือ ขึ้นตามข่าวจริง” ดังที่เห็นกันในท้ายตลาดวานนี้

ถือเป็นกรณีศึกษาเรื่องข่าวลือ-ข่าวจริง ที่น่าสนใจสำหรับการร่วงแรงของตลาดหุ้นไทยสัปดาห์นี้ ที่ไม่ได้มีความสัมพันธ์กับปัจจัยภายนอกเลย

Back to top button