KKP กำไรปกติดี กำไรพิเศษหนุน แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

เมื่อกำไรจากธุรกิจเช่าซื้อสวยงาม ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP มีกำไรจาการดำเนินงานสวยงามแต่ยังไม่อาจะเทียบเท่ากับกำไรพิเศษที่ทำให้อัตราการเติบโตของกำไรโดดเด่นโดนใจ


เมื่อกำไรจากธุรกิจเช่าซื้อสวยงาม ธนาคารเกียรตินาคิน จำกัด (มหาชน) หรือ KKP มีกำไรจาการดำเนินงานสวยงามแต่ยังไม่อาจะเทียบเท่ากับกำไรพิเศษที่ทำให้อัตราการเติบโตของกำไรโดดเด่นโดนใจ

รายงานผลประกอบการของ KKP ไตรมาสสามที่เพิ่งออกมาวานนี้ มีรายละเอียดน่าสนใจหลายเรื่อง ที่สะท้อนว่า ราคาหุ้นที่วิ่งมาล่วงหน้าจนเฉียดกราย 60 บาทก่อนหน้านี้ ไม่ได้คาดเดาเกินเลย

KKP ไตรมาสนี้ มีรายได้จากการดำเนินงาน 5.06 พันล้านบาท เพิ่มขึ้น 31.6% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยมาจากรายได้ดอกเบี้ยสุทธิที่เพิ่มขึ้น 19.5% และรายได้จากค่าธรรมเนียมและบริการสุทธิที่เพิ่มขึ้น 7.7%

 รายได้ทั้งหมด หากแยกแยะรายละเอียดจะพบว่า ส่วนสินเชื่อของธนาคารจะขยายตัวเล็กน้อยที่ 0.2% จากสิ้นไตรมาสก่อน  หลังจากที่มีการหดตัวตลอดตั้งแต่ต้นปี ส่งผลให้ 9 เดือนแรกของปีนี้ สินเชื่อโดยรวมของธนาคารยังคงหดตัวอยู่ที่  1.4% จากสิ้นปี 2558 

สินเชื่อของธนาคารที่มีการขยายตัวค่อนข้างดี ได้แก่ สินเชื่อ Lombard มีการขยายตัวที่ 190.7% สินเชื่อบุคคลขยายตัวที่ 68.0% สินเชื่อ Micro SMEs และสินเชื่อ SME Car3x ขยายตัวที่ 49.7% และสินเชื่อเคหะขยายตัวที่ 161.4%  ในขณะที่สินเชื่อเช่าซื้อหดตัว 2.6%  สินเชื่อธุรกิจหดตัว 8.7% และสินเชื่อบรรษัทหดตัว 14.1% จากสิ้นปี 2558

ด้านคุณภาพของสินเชื่อ อัตราส่วนสินเชื่อด้อยคุณภาพต่อสินเชื่อรวม ณ สิ้นไตรมาส 3/59 อยู่ที่ 5.9% ปรับตัวดีขึ้นจาก 6.1% ในไตรมาส 2/59 โดยสินเชื่อด้อยคุณภาพในส่วนของสินเชื่อธุรกิจอสังหาริมทรัพย์มีการปรับตัวดีขึ้น รวมถึงคุณภาพของสินเชื่อเช่าซื้อที่ยังคงมีการปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง

แม้ว่า หากพิจารณาจากซีกรายได้ พบว่า ยังมีความเปราะบางในการข่งขันให้เห็นเยอะมาก แต่กำไรสุทธิกลับสวยงามขึ้นทดแทนกัน โดยเฉพาะกำไรจากธุรกรรมเพื่อค้าและปริวรรตเงินต่างประเทศ โดยมาจากกำไรสุทธิของธุรกิจตลาดทุน ซึ่งดำเนินการโดย บมจ.ทุนภัทร และบริษัทย่อย ได้แก่ บล.ภัทร และบลจ.ภัทร จำนวน 313 ล้านบาท..ซึ่งก็ไม่ได้ดีเด่นอะไรมากมาย แม้จะกำไรเพิ่มขึ้น

กำไรจากการดำเนินงานปกติ ถูกบดบังโดยตัวเลขการทำกำไรพิเศษ จากการขายเงินลงทุน ในธุรกิจหลักทรัพย์เพราะสามารถทำกำไรก่อนหักภาษีมากถึง 114 ล้านบาท จากการบันทึกกำไรจากการขายบล.เคเคเทด ให้กับบล.หยวนต้าที่กลับเข้ามาดำเนินการครั้งใหม่

ผลพวงของกำไรที่โดดเด่น ทำให้สิ้นงวดไตรมาสสาม  KKP มีอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) คำนวณตามเกณฑ์ Basel III ซึ่งรวมกำไรถึงสิ้นปี 2558 อยู่ที่ 18.80% โดยเป็นเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 15.29% แต่หากรวมกำไรถึงสิ้นไตรมาส 3/59 อัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยงจะเท่ากับ 20.03% และเงินกองทุนชั้นที่ 1 เท่ากับ 16.52%

โจทย์ของ KKP หลังจากกำไรสุทธิโดดเด่นนับจากนี้ไป ไม่ได้อยู่ที่ว่าจะปันผลเท่าใด หรือกำไรต่อหุ้นเท่าใด แต่อยู่ที่ว่า หลังจากทำรายได้จากการขายเงินลงทุนในธุรกิจหลักทรัพย์ออกจากมือไปแล้ว ธุรกจิที่เหลืออยู่ จะสามารถรับมือกับการแข่งขันเพื่อทำกำไรได้ดีมากน้อยแค่ไหน..เพราะดูเหมือนว่าธุรกิจที่เหลืออยู่ ค่อนข้างเปราะบางในการแข่งขันมากพอสมควรทีเดียว

ตามข้อตกลงขาย บล.เคเคเทรด จำกัด ให้กับกลุ่มหยวนต้าจากไต้หวัน กลุ่มหยวนต้า จะซื้อหุ้น 49,999,998 หุ้น หรือ 99.99% ของหุ้นทั้งหมดใน บล.เคเคเทรด ในวงเงินซื้อขายที่เปิดเผยออกมา คือ 686.9 ล้านบาท

ตามขั้นตอนการซื้อขาย คาดว่าจะดำเนินการเสร็จภายใน 3 เดือน นับแต่วันที่ได้ลงนามในสัญญาซื้อขายหุ้น ซึ่งจะเป็นกระบวนการอนุมัติและเห็นชอบจากสำนักงาน ก.ล.ต. ทั้งของไทยและไต้หวัน

นายอภินันท์ เกลียวปฏินนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ KKP ได้เคยเปิดยุทธศาสตร์ในครั้งนั้น ว่า หลังจากการขาย เคเคเทรด ซึ่งเป็นรีเทล โบรกเกอร์แล้ว KKP จะมุ่งหน้าไปสู่การเป็น  wholesale broker เต็มตัวเสียที เพราะเป็นงานถนัดมานานแล้ว 

อนาคตของธุรกิจด้านตลาดทุนสำหรับลูกค้าบุคคลของ KKP จะมุ่งเน้นที่ บริษัทหลักทรัพย์ ภัทร และบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน ภัทร โดยผู้บริหาร KKP เชื่อมั่นว่า จะสามารถจัดสรรทรัพยากรในการพัฒนาและขยายธุรกิจที่กลุ่ม KKP มีความชำนาญ และมีความได้เปรียบในการแข่งขันได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพมากขึ้น 

กุญแจสำคัญไขอนาคตของ KKP ด้านธุรกิจหลักทรัพย์คือการเพิ่มโฟกัสในการทำธุรกิจให้ตรงกับกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย โดยเฉพาะการให้บริการด้าน Wealth Management ที่มีการแข่งขันต่ำกว่า 

แผนยุทธศาสตร์ของ KKP ที่จะเลิกจับปลาซิวปลาสร้อย แต่จะไปจับปลาวาฬ หรือปลาหมึกยักษ์ ที่มีมูลค่าเพิ่มสูงกว่าแทน…ท่ามกลางความเปราะบางของธุรกิจในอนาคต หลังจาก “ขายลูกกิน” นั้น ยังเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย

คำถามคือ ราคาหุ้นของ KKP ที่ระดับเกือบ 60 บาท จากนี้ไป สมเหตุสมผลหรือไม่ …จึงเป็นโจทย์ใหญ่ที่ไม่อาจมองข้ามไปได้

เหตุผลก็เพราะ “คนบัญชา หรือจะสู้ฟ้าลิขิต” นั่นเอง

ไม่มีใครลิขิตชีวิตตนเองได้ทั้งหมด แม้กระทั่งหมอดูที่ว่าแม่นยำที่สุด

“อิ อิ อิ”

 

 

 

Back to top button