เศษเนื้อข้างเขียงพลวัต 2016
เมื่อวานนี้ ก.ล.ต.ออกประกาศลงโทษพนักงานผู้แนะนำการลงทุน 11 รายสังกัด 6 บริษัทหลักทรัพย์ ในข้อหาซ้ำซาก คือ หาประโยชน์กับลูกค้าที่เป็นนักลงทุนรายย่อย (ภาษาอันไพเราะของ ก.ล.ต.คือ แสวงหาประโยชน์จากลูกค้า)
เมื่อวานนี้ ก.ล.ต.ออกประกาศลงโทษพนักงานผู้แนะนำการลงทุน 11 รายสังกัด 6 บริษัทหลักทรัพย์ ในข้อหาซ้ำซาก คือ หาประโยชน์กับลูกค้าที่เป็นนักลงทุนรายย่อย (ภาษาอันไพเราะของ ก.ล.ต.คือ แสวงหาประโยชน์จากลูกค้า)
ข้อกล่าวหาดังกล่าวเป็นเรื่องเกิดซ้ำซาก ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่น่าจะใช่ครั้งสุดท้าย สำหรับบริษัทหลักทรัพย์ที่เน้นหนักในการหารายได้จากลูกค้ารายย่อยที่เป็นนักลงทุนส่วนบุคคล หรือ รีเทล โบรกเกอร์ ที่มีลูกค้าหลากหลายประเภท และแต่ละคนมีภูมิความรู้หรือภูมิคุ้มกันการลงทุนไม่เท่าเทียมกัน
พนักงานมาร์เก็ตติ้ง ถือเป็นกุญแจสำคัญในการให้บริการลูกค้ารายย่อยอย่างมีนับสำคัญ เพราะหากสามารถสร้างความภักดีจากลูกค้าได้ จะเกิดการเล่าปากต่อปาก พร้อมกับคำแนะนำลูกค้าใหม่ๆ เข้ามา ปะเหมาะเคราะห์ดี ได้ลูกค้าเงินถุงเงินถังทำให้วอลุ่มของโป่งพองขึ้น เพิ่มส่วนแบ่งการตลาด
โดยทั่วไป เมื่อเทียบกับจำนวนประชากรแล้ว นักลงทุนทุนรายย่อยที่เปิดบัญชีในตลาดหุ้นไทยปัจจุบันมีบัญชีซื้อขายอู่ประมาณ 1.2 ล้านคน ส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพฯและปริมณฑล ที่เหลือกระจายไปเป็นเบี้ยหัวแตกในต่างจังหวัดทั่วประเทศ
จำนวนนักลงทุนรายย่อยที่แท้จริง (หักจากจำนวนบัญชีที่เกินกว่าจำนวนคนออกไปแล้ว) เพียงแค่นี้ ยังทำให้มูลค่าซื้อขายประจำวันในตลาดหุ้นไทยวันละ 3-5 หมื่นล้านบาท มากกว่าชาติอื่นใดในอาเซียน ดังนั้นจึงสามารถคาดเดาได้ว่า หากมีจำนวนนักลงทุนรายย่อยเข้ามาเปิดบัญชีซื้อขายในตลาดมากขึ้นอีก 2-3 เท่า มูลค่าซื้อขายประจำวัน จะมากขนาดไหน
การสร้างกติกาและการกำกับดูแล เพื่อให้บริษัทหลักทรัพย์ให้บริการแก่ลูกค้ารายย่อยเหล่านี้ จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น เพราะหากปล่อยให้พฤติกรรมซื้อขายหุ้นมีปัญหาขึ้นมา ก็อาจทำให้เกิดวิกฤตศรัทธาขึ้น กระทบกับมูลค่าซื้อขายได้
ประเด็นของพนักงานมาร์เก็ตติ้งเอารัดเอาเปรียบนักลงทุน มีได้หลากหลายรูปแบบ เพราะเหตุผลเดียวง่ายๆ คือ ความโลภไม่เคยปรานีใคร
ในกรณี นี้ ก.ล.ต. ระบุว่า พนักงานมาร์เก็ตติ้ง ทั้ง 11 คน อาศัยโอกาสทำการการติดต่อชักชวนลูกค้าซื้อหุ้น IPO และหุ้นนอกตลาด หรือ OTC โดยไม่มีหุ้นอยู่จริง ถือว่าเป็นการอาศัยช่องโหว่ของการกำกับดูแลของฝ่ายบริหารอย่างชนิดที่ผิดเต็มที่ทั้งในแขนงวิชาชีพ และในแง่ของวินัยขององค์กร
คำถามคือ การกระทำผิดนี้เป็นความบกพร่องส่วนบุคคล หรือของระบบกำกับดูแล
ในกรณีแรก พนักงานมาร์เก็ตติ้ง อาศัยความสนิทสนมกับลูกค้า พูดคุยค้นเคยกันมายาวนาน ทำตัวเป็นคนกลางหรือ “ดีลเมกเกอร์เถื่อน” เสียเอง เพราะมีผลประโยชน์เป็นเงินก้อนใหญ่โดยที่องค์กรไม่ได้มีส่วนรู้เห็นการกระทำแต่อย่างใด แถมยังใช้ประโยชน์จากสิ่งอำนวยความสะดวกทั้งหลายขององค์กรเป็นที่หากำไรเข้ากระเป๋าส่วนตัว
กรณีหลัง ผู้บริหาร หรือพนักงานระดับสูง ร่วมสมคบคิดใช้กลไกของพนักงานมาร์เก็ตติ้งเป็นแขนขาในการหาประโยชน์อันมิควรได้ เพื่อสร้างกำไรเข้าองค์กรบางส่วน และเข้าส่วนตัวบางส่วน ซึ่งความผิดที่เกิดขึ้น จะต้องร่วมรับผิดทุกฝ่าย
คำสั่ง ก.ล.ต.เมื่อวานนี้ ผู้กระทำความผิดกระจายตัวกันในบริษัทหลักทรัพย์ที่เป็น รีเทล โบรกเกอร์ ซึ่งหากแยกแยะข้อกล่าวหารายบุคคลแล้วจะเห็นรายละเอียดน่าสนใจ (ดังตารางประกอบ)
ความผิดของมาร์เก็ตติ้งทั้ง 11 รายดังกล่าว เป็นความผิดที่ “ดิบเถื่อน” อย่างมาก เพราะ ก.ล.ต.ตรวจพบและขอข้อมูลจากบริษัทหลักทรัพย์เพื่อทำการตรวจสอบเพิ่มเติมพบว่า ผู้แนะนำการลงทุน 10 ราย (ไม่นับนายชานนท์) ที่การกระทำคล้ายกันคือ ติดต่อชักชวนและเสนอขายหุ้นที่เสนอขายต่อประชาชนครั้งแรก (IPO) ให้แก่ลูกค้าหลายราย โดยมาร์เก็ตติ้งทั้ง 10 ราย ได้รับส่วนแบ่งจากการซื้อขายและเสนอขายหุ้น ทำให้ลูกค้าได้รับความเสียหายจากการจ่ายเงินค่าซื้อหุ้นแล้ว แต่ไม่ได้หุ้นหรือไม่มีหุ้นดังกล่าวอยู่จริง
ส่วนกรณีของนายชานนท์ แตกต่างออกไป เพราะ ทำตัวเป็น “ดีลเมกเกอร์” ติดต่อชักชวนให้ลูกค้าซื้อหุ้นนอกตลาด (ซื้อขายแบบ OTC) ของบริษัทมหาชนแห่งหนึ่ง โดยอ้างว่าจะเข้าจดทะเบียนซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ ในอนาคต โดยนายชานนท์ได้รับส่วนแบ่งจากการเสนอขาย แต่หุ้นดังกล่าวไม่ได้ขออนุญาตเสนอขายหลักทรัพย์ และไม่ได้เข้าจดทะเบียนในตลาดฯ ตามคำกล่าวอ้าง
บทลงโทษต่างกรรมต่างวาระที่เกิดขึ้น เป็นเรื่องปกติธรรมดา เพราะในธุรกิจของตลาดหุ้นที่มีขนาดของตลาดใหญ่โตมากกว่า 1.4 ล้านล้านบาท และมีมูลค่าซื้อขายประจำวัน 3.5 หมื่นล้านบาทโดยเฉลี่ย เรื่องเลวร้ายที่มาจากความละโมบ จึงเลี่ยงไม่พ้น
ที่น่าสนใจก็คือ การลงโทษที่เกิดขึ้นกับคนทั้ง 11 คน ไม่ได้ปิดช่องตาย ถึงขนาดห้ามคนทั้ง 11 กลับเข้ามาทำงานในธุรกิจลักทรัพย์ได้อีก และไม่ได้มีบทลงโทษต่อเนื่องไปถึงบริษัทที่เป็นต้นสังกัด แสดงให้เห็นว่า โดยระบบกำกับดูแลภายในของบริษัททั้ง 5 ราย น่าจะเพียงพอกับการป้องกันพฤติกรรมนอกลู่นอกทางได้พอสมควร
ขณะเดียวกันก็เป็นตัวอย่างให้นักลงทุนระดับ “แมงเม่า” ทั้งหลาย สามารถเรียนรู้ว่าการลงทุนทุกชนิดมีความเสี่ยงที่หลากรูป ไม่ใช่เฉพาะความเสี่ยงในเรื่องราคาหุ้นหรือหลักทรัพย์ที่ซื้อขาย แต่ยังมีช่องทางอื่นที่อาจจะทำให้นักลงทุนต้องจ่าย “ค่าโง่” ได้ หากยินยอมให้ความโลภชี้ทางเหนือสติปัญญา
ชื่อพนักงานที่ถูกลงโทษ |
ตำแหน่ง |
บริษัทหลักทรัพย์ต้นสังกัด |
ความผิด |
นางสาวณปภัช ต่อศิริกุลฑล |
ผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน |
โนมูระ พัฒนสิน |
พักการให้ความเห็นชอบ 2 ปี |
นางสาววาสนา สมศักดิ์ |
ผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ |
โนมูระ พัฒนสิน |
พักการให้ความเห็นชอบ 1 ปี 6 เดือน |
นางสาวกิตติมา เครือฟู
|
ผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุนและผู้วางแผนการลงทุน |
โนมูระ พัฒนสิน |
พักการให้ความเห็นชอบ 8 เดือน |
นางสาวสุพรรณี สุดสวาสดิ์
|
ผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์และผู้วางแผนการลงทุน |
โนมูระ พัฒนสิน |
พักการให้ความเห็นชอบ 1 ปี |
นางสาวเมธาวดี ถนอมธรรม |
ผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน |
กสิกรไทย |
พักการให้ความเห็นชอบ 1 ปี |
นางสาวจุฑามาส แซ่ลิ้ม |
ผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน |
กสิกรไทย |
พักการให้ความเห็นชอบ 4 เดือน |
นายณัฐกานต์ ทรัพย์เย็น |
ผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน |
กสิกรไทย |
พักการให้ความเห็นชอบ 4 เดือน |
นายกิตติ จงสมจิตต์ |
ผู้แนะนำการลงทุนด้านหลักทรัพย์ |
โกลเบล็ก |
พักการให้ความเห็นชอบ 1 ปี |
นางสาวนุจรี โชคชัยกตัญญู |
ผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน |
เมย์แบงก์ กิมเอ็ง |
พักการให้ความเห็นชอบ 8 เดือน แต่บริษัทได้สั่งพักการปฏิบัติหน้าที่ไปแล้วเป็นเวลา 6 เดือน ก.ล.ต. จึงสั่งพักอีก 2 เดือน
|
นางสาวปิยนุช บุญประเสริฐ |
ผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุนและผู้วางแผนการลงทุน |
เออีซี |
พักการให้ความเห็นชอบ 8 เดือน แต่บริษัทได้สั่งพักเป็นเวลา 3 เดือนแล้ว ก.ล.ต.จึงสั่งพักอีก 5 เดือน |
นายชานนท์ บุญเนย์
|
ผู้แนะนำการลงทุนด้านตลาดทุน |
บัวหลวง |
พักการให้ความเห็นชอบ 6 เดือน |