ช่องว่างที่แคบลงพลวัต 2016
บริษัทจีน ชื่อ มีเดียกรุ๊ป ทำเรื่องที่แสนจะธรรมดาในโลกการเงิน คือ ยื่นคำเสนอซื้อกิจการของบริษัทเยอรมันชื่อ Kuka AG อีกด้านหนึ่ง บริษัทจีนอีกรายคือSanan Optoelectronics Co. Ltd ก็ยื่นข้อเสนอขอเจรจาซื้อกิจการของบริษัทผลิตหลอดไฟฟ้าอายุนานกว่าศตวรรษของเยอรมัน Osram Licht AG ที่กำลังมีปัญหาการเงินรุมเร้า
วิษณุ โชลิตกุล
บริษัทจีน ชื่อ มีเดียกรุ๊ป ทำเรื่องที่แสนจะธรรมดาในโลกการเงิน คือ ยื่นคำเสนอซื้อกิจการของบริษัทเยอรมันชื่อ Kuka AG อีกด้านหนึ่ง บริษัทจีนอีกรายคือSanan Optoelectronics Co. Ltd ก็ยื่นข้อเสนอขอเจรจาซื้อกิจการของบริษัทผลิตหลอดไฟฟ้าอายุนานกว่าศตวรรษของเยอรมัน Osram Licht AG ที่กำลังมีปัญหาการเงินรุมเร้า
เรื่องธรรมดาของโลกการเงินนี้ กลายเป็นเรื่องไม่ธรรมดาของรัฐบาลเยอรมนีชนิดที่มีการขยายต่อให้มีโอกาสบานปลายอีกนานและใหญ่โตเกินระดับปกติทีเดียว
เหตุผลเพราะบริษัทที่ตกเป็นเหยื่อของบริษัทจีนทั้งสองราย ถือเป็น “หัวกะทิ” ทางด้านเทคโนโลยีแห่งอนาคตของโลกที่เรียกว่ายุค 4.0 กันเลยทีเดียว ถือเป็นธุรกิจยุทธศาสตร์ที่ไม่ควรปล่อยไป
รัฐบาลนางอังเกล่า แมร์เคิล จึงลุกขึ้นมาเรียกร้องให้สหภาพยุโรป หารือกันเพื่อกำหนดมาตรการปกป้องการลงทุนแบบ “ล้วงคองูเห่าของต่างประเทศ” ซึ่งแม้ไม่เอ่ยชื่อใคร ก็รู้กันว่าเป้าหมายของรัฐบาลเยอรมนี คือจีนอย่างไม่ต้องสงสัย
ทั้งสองบริษัทจีน บริษัทแรก ต้องการซื้อ KuKa AG เพราะเป็นผู้ผลิตหุ่นยนต์โรบอตอุตสาหกรรมที่มีสิทธิบัตรมากมายด้านหุ่นยนต์ ซึ่งถือว่าเป็นธุรกิจสำคัญแห่งอนาคต เพราะเพิ่งผ่านการถกเถียงในการประชุม World Economic Forum ที่เมืองดาวอสปีนี้มาหมาดๆ ถือว่าหากดีลสำเร็จ จะเป็นการได้อนาคตทางลัดของจีน ที่ขาดแคลนเทคโนโลยีนี้อย่างยิ่ง ผงาดเป็นหัวแถวทันที
บริษัทจีนรายหลัง ทำธุรกิจหลอดไฟ แอลอีดี ของจีน รายใหญ่ ต้องการซื้อเทคโนโลยีที่บริษัทเยอรมัน มีสิทธิบัตรเอาไว้มากมาย แต่ยังไม่ได้ทำการผลิตเพราะรอความเหมาะสมทางการตลาด ที่สำคัญบริษัทเยอรมันดังกล่าว ถือเป็นหนึ่งในความภาคภูมิใจของคนเยอรมันด้วย
ท่าทีของรัฐบาลเยอรมนี ค่อนข้างน่าสนใจอย่างยิ่งว่า การไล่ล่าธุกิจ “หัวกะทิ” ที่มีอนาคตยาวไกลของโลกในชาติตะวัตก ของบริษัทจีน หากเป็นในอดีต ถือว่าเป็นความน่าละอายของจีน เพราะแสดงความอ่อนด้อยทางภูมิปัญญาอย่างมีนัยสำคัญ แต่ในทางธุรกิจและเศรษฐศาสตร์แล้ว เป็นย่างก้าวเชิงรุก ที่ย้อนรอยความสำเร็จในอดีตของชาติตะวันตกและธุรกิจในเขตยุโรปและสหรัฐฯ
คำเปรียบเปรยเก่า “เยอรมันคิด อเมริกาเอามาทำขาย ญี่ปุ่นลอกเลียน แล้วขายได้ดีกว่า” ที่เคยเลื่องลือเมื่อหลายทศวรรษเก่า กำลังจะเปลี่ยนไป เมื่อ “อเมริกา-เยอรมันคิด จีนซื้อเอามาทำกำไรและยึดครองโลก”
ก้าวย่างของจีนในการซื้อกิจการ “หัวกะทิ” ในโลกตะวันตก เป็นไปตามกระแสโลกาภิวัตน์ที่ทำให้ภูมิศาสตร์ทางธุรกิจของโลกเลอะเลือนเสมือนไร้พรมแดน เช่นเดียวกันกับญี่ปุ่น หรือเกาหลีใต้ หรือธุรกิจในประเทศที่มีเศรษฐกิจเป็นตลาดเกิดใหม่ ที่ต้องการตลาด “ข้ามรัฐ” สร้างการเติบใหญ่
คำถามคือ ท่าทีของรัฐบาลเยอรมนีต่อจีน เป็นท่าทีของลัทธิปกป้องตัวเองทางเศรษฐกิจแบบ ลัทธิพาณิชย์นิยม หรือ Mercantilism ที่เฟื่องฟูของรัฐชาติยุโรปในยุคคริสต์ศตวรรษที่ 18 หรือลัทธิปกป้องทางการค้า หรือ Trade Protectionism ในระยะยาว หรือเป็นเพียงแค่การ “ตั้งการ์ดสูง” เพื่อต่อรองทางผลประโยชน์ในระยะสั้น กันแน่
คำตอบยังไม่ชัดเจน เพราะว่า หากพิจารณาความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจของจีนในภาพรวม เทียบกับชาติตะวันตกหรือญี่ปุ่นแล้ว ยังทิ้งห่างกันมาก ความพยายาม “เต่ากระโดด” เพื่อโตทางลัดของจีน จึงมีความสมเหตุสมผลอย่างยิ่ง
จีนมีสิทธิบัตรทางเทคโโลยีต่ำกว่าชาติ G8 ค่อนข้างมาก การจ่ายเพื่อโตทางลัด ทั้งซื้อกิจการ หรือเช่าสิทธิบัตร แม้จะเป็นวิธีที่แพงลิ่ว แต่เป็นทางลัดที่ไม่อาจรอได้
ในทางปฏิบัติ จีนเองก็เป็นนักปกป้องธุรกิจยุทธศาสตร์ตัวใหญ่ เพราะว่า 4 ธุรกิจหลักที่ “ต้องห้ามสำหรับต่างชาติ” ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ โทรคมนาคม พลังงาน และ คมนาคมขนส่ง เป็นที่ชัดเจน ดังนั้นเมื่อต้องการรุกไปในต่างประเทศ จะถูกย้อนศรเอาคืนบ้าง ก็ไม่แปลก
หลายปีมาแล้ว บริษัทน้ำมันจีน พยายามรุกเข้าซื้อกิจการของบริษัทน้ำมันอเมริกา ก็ถูกห้ามเช่นเดียวกัน ถึงขั้นออกกฎหมายระบุธุรกิจ “ต้องห้าม” ที่โด่งดัง
วันนี้ เมื่อเยอรมนี เริ่มรู้สึกถึงการคุกคามของธุรกิจจากจีนบ้าง ก็เป็นเรื่องปกติ แม้ว่าเยอรมนีจะเป็นชาติคู่ค้าจากยุโรปที่ใหญ่สุดของจีนมาตลอด และอุตสาหกรรมพื้นฐานของเยอมนี ก็แข็งแกร่ง เกินกว่าจะน่ากลัวถูกคุกคาม
ตัวเลขการซื้อกิจการในเยอรมนีของบริษัทจีนใน 9 เดือนแรกของปีนี้ ถือว่าน่าตื่นใจอย่างรุนแรง เพราะมีมูลค่ามากถึง 1.13 หมื่นล้านยูโร (1.23 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) เพิ่มขึ้นจากปีก่อนทั้งปี 8 เท่า แต่ที่น่าสนใจคือ การซื้อกิจการทั้งหมด เป็นการซื้อด้วยวิธีประมูลแบบเปิดทั่วโลก (global open bidding) ซึ่งถือว่าโปร่งใสเป็นที่ยอมรับทั่วไป
ข้อกล่าวหาว่าบริษัทจีนมีเจตนา “ซ่อนเงื่อน” จึงไม่ถูกต้องเสียทั้งหมด หากมองจากมุมของการแข่งขันในกระแสโลกาภิวัตน์
เทคโนโลยี ถือเป็นกุญแจสำคัญชี้วัดความสามารถในการแข่งขันที่มีความสำคัญของรัฐต่างๆ ทั่วโลก ในฐานะส่วนผสมสำคัญของความก้าวหน้าทางอารยธรรม เริ่มต้นเทคโนโลยีทางทหาร มาสู่การผลิต และการแข่งขันทางธุรกิจ
อารยธรรมอียิปต์ เมโสโปเตเมีย อเมริกา จีน อินเดีย เรื่อยมาถึงกรีก-โรมัน ล้วนมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีทางการผลิต และการแข่งขันเป็นองค์ประกอบสำคัญมาตลอด
ในอดีต ชาติในเอเชียและยุโรป ส่งความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีผ่านเส้นทางสายไหมทางบกทางตอนเหนือของจีน โดยถือว่า ขนาดความก้าวหน้าและขนาดเศรษฐกิจของจีนและอินเดีย เหนือกว่ายุโรปอย่างมาก แต่เมื่อโคลัมบัสและแมกเจนแลนค้นพบเส้นทางการค้าทางทะเลรอบโลก เทคโนโลยียิ่งถูกถ่ายทอดในอัตราเร่ง และทำให้ยุโรปมีขนาดทางเศรษฐกิจเติบโตในอัตราเร่ง
การปฏิวัติอุตสาหกรรมในยุโรป เริ่นต้นที่อังกฤษและกระจายไปทั่ว พร้อมกับการคมนาคมที่ขยายตัวรุนแรง ทำให้นับแต่กลางคริสต์ศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ทำให้ขนาดของเศรษฐกิจยุโรปแซงหน้าเอเชียเป็นครั้งแรก
ปรากฏการณ์ดังกล่าว นักประวัติศาสตร์เศรษฐกิจเรียกว่า The Great Divergence ที่ถือเป็นการเบี่ยงเบนครั้งสำคัญทางเศรษฐกิจ เข้าขั้น “ลมตะวันตกพัดแรง” ที่ทำให้เกิดภาวะที่เรียกว่า ยุคครองอำนาจนำของยุโรปเหนือโลก หรือ European Hegemony Era ก่อนที่ยุโรปจะส่งผ่านแบบวิ่งผลัดมาให้กับสหรัฐฯภายใต้ข้อตกลงเบรตัน วูด หลังสงครามโลกครั้งที่สอง
ความเหนือกว่าทางเทคโนโลยีของยุโรป ที่ทำให้ขนาดเศรษฐกิจเหนือเอเชีย แม้จะมีคำอธิบายว่ามีองค์ประกอบอื่นด้วย เช่น 1) บรรยากาศทางการเมืองแบบเปิดที่เอื้อระบบการศึกษาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี 2) กลไกเศรษฐกิจทุนนิยมทุกด้าน 3) การค้นพบและพัฒนาแหล่งพลังงานถ่านหิน และน้ำมันปิโตรเลียม 4) กำลังซื้อและคุณภาพชีวิตที่เหนือกว่าของคนยุโรป ทำให้การตลาดมีความหลากหลายซับซ้อน 5) การชะงักงันของเอเชียจากการคุมคามของนักล่าเมืองขึ้นตะวันตก
วันนี้และอนาคตข้างหน้า ปัจจัยแห่งความได้เปรียบของยุโรปและชาติตะวันตก อาจจะยังเหนือกว่าตะวันออกหรือภูมิภาคอื่นอยู่บางส่วน แต่การหดแคบตัวลงของปัจจัยทั้งหมดโดยรวม กำลังเกิดขึ้น ผ่านการซื้อกิจการและธุรกรรมทางดารเงินใหม่ๆ เป็นพลวัตที่กำลังดำเนินอยู่