ใคร (จะ) ซื้อ KKPลูบคมตลาดทุน
มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KKP
ธนะชัย ณ นคร
มีประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับธนาคารเกียรตินาคิน หรือ KKP
ราคาหุ้นของ KKP นับจากปลายเดือนกรกฎาคม 59 ปรับขึ้นมาตลอด แม้จะมีพักฐานเป็นบางช่วง
หากดูจากเส้นกราฟในช่วงเวลาดังกล่าว
จะเห็นถึงการเปลี่ยนแปลงด้านราคาอย่างชัดเจน
และมีนัยสำคัญอย่างมาก
เพราะลำพังเพียงแค่ผลประกอบการที่ปรับดีขึ้นในช่วงไตรมาส 3/59 ก็ไม่น่าทำให้ราคาหุ้น KKP พุ่งสนั่นทุ่งได้ขนาดนี้
มีกระแสข่าวว่า มีสถาบันการเงินหลายแห่ง จากต่างประเทศสนใจซื้อหุ้น KKP
ข่าวว่ารูปแบบของการซื้อ ไม่ใช่เป็นการเทกโอเวอร์
แต่จะเข้ามาในลักษณะของการร่วมเป็น “พันธมิตรธุรกิจ”
แต่ทว่า ผ่านมาถึงวันนี้ ก็ยังคงไม่มีข้อสรุป และเชื่อแน่ว่าภายในสิ้นปี 2559 ก็ยังไม่มีข้อสรุปเช่นกัน ซึ่งมีแหล่งข่าวคนหนึ่งยืนยันมาแบบนี้
หากย้อนกลับไปในช่วงระหว่าง “ทุนภัทร” เข้าซื้อหุ้นใน KK (ชื่อย่อแบงก์เกียรตินาคินในขณะนั้น) เมื่อเกือบ 5 ปีก่อน
มีอยู่ข้อตกลงหนึ่งที่น่าสนใจคือ มีการกำหนดว่า ผู้บริหารหรือผู้ถือหุ้นจากฝั่งทุนภัทร “ห้ามขายหุ้น” ออกมาภายในระยะเวลา 5 ปี นับจากวันที่มีการซื้อขายหุ้นกันในขณะนั้น
และช่วงเวลาห้ามดังกล่าวกำลังจะหมดลง
ประมาณกันว่า จะอยู่ในช่วงปลายปี 2559
หรืออาจซักต้นปี 2560
หากนำเสนอข้อมูลแบบนี้ ก็อาจมีการคิดกันไปว่า ผู้บริหารจากฝั่งทุนภัทร อาจจะมีการขายหุ้นออกมา
นั่นเป็นคำตอบที่อาจถูกเพียงครึ่งหนึ่ง
เพราะหากตอบให้ถูกทั้งหมด ก็คือ มีการคาดว่า ฝั่งของกลุ่ม “วัธนเวคิน” ก็อาจมีการขายหุ้นออกมาด้วย
หรือสรุปง่ายๆ น่าจะมีการขายหุ้นออกมาจากทั้ง 2 ฟาก และจะไม่มีการขายเพียงฟากใดฟากหนึ่งเพียงฟากเดียวอย่างแน่นอน โดยเฉพาะจากฝั่งวัธนเวคิน
สำหรับกลุ่มวัธนเวคินนั้น มีแหล่งข่าวยืนยันว่า พวกเขาไม่ทิ้งหุ้น KKP ออกมาจาก มือแน่นอน
หรือจะ “ไม่ทิ้งหุ้น” จนทำให้สิทธิในการบริหารงานลดลง
ย้อนกลับมาดูราคาหุ้นของ KKP กัน
ในช่วงปลายเดือนกรกฎาคม 59 ราคาหุ้น KKP ได้เริ่มขยับ หรือปรับขึ้นมาต่อเนื่อง หรือจากระดับ 40.00–41.00 ต่อหุ้น มาถึงวานนี้ ราคามาอยู่ที่ 58.50 บาท
หรือเปลี่ยนแปลงกว่า 46% ในช่วงเวลาแค่ 3 เดือน
ราคาหุ้นขึ้นที่ว่านี้ ดีกว่าภาพรวมของตลาด และกลุ่มธนาคารค่อนข้างมาก
ส่วนราคาหุ้นของนักวิเคราะห์จากบริษัทหลักทรัพย์ต่างๆ ให้ราคาเป้าหมายอยู่ระหว่าง 55–70 บาทต่อหุ้น
แต่โดยเฉลี่ยแล้วจะอยู่ราวๆ 60 บาทต่อหุ้น
บรรดานักวิเคราะห์ต่างมองว่า ผลประกอบการไตรมาส 3/59 ออกมาดีกว่าที่คาดการณ์ไว้
KKP มีการบันทึกกำไรจากการขาย NPA ที่ดีเกินคาดของนักวิเคราะห์
และนั่นทำให้ KKP นำรายได้พิเศษดังกล่าวไปกันสำรองหนี้ฯ ทั่วไปเพิ่มขึ้นถึง 750 ล้านบาทในไตรมาส 3/59 ส่งผลให้ NPL Coverage ratio เพิ่มขึ้นมาที่ 105.5% (จาก 96%) พร้อมกับ NPL ลดลงมาที่ 5.9% ของสินเชื่อรวม
ส่วนสินเชื่อหากนับจากสิ้นปี 58 จะติดลบ 1.4%
แต่ก็ยังถือว่า อยู่ในระดับที่ดีจากก่อนหน้านี้ และยังมีแนวโน้มที่ดีในช่วงไตรมาส 4/59
การวางยุทธศาสตร์ใหม่ ปรับกลยุทธ์ในการปล่อยสินเชื่อไปยังหลากหลายกลุ่ม ทำให้ช่วยกระจายความเสี่ยงได้ค่อนข้างมีประสิทธิภาพ
ว่ากันว่า KKP นั้น ได้ผ่านจุดต่ำสุดไปแล้ว
และระหว่างนี้กำลังทะยานขึ้นอีกครั้ง
แนวโน้มนี้ก็จะยังคงดีขึ้นไปเรื่อยๆ ในปี 2560 และนั่นทำให้หุ้น KKP ได้รับความสนใจจากกลุ่มสถาบันการเงินจากต่างประเทศที่ต้องการเข้ามาร่วมทุน
ส่วนจะเป็นรายใดนั้น ยังไม่มีใครทราบ
แต่ได้รับการยืนยันว่ามีแน่นอน