ต่างชาติ และ ดัชนี 1,500จุดพลวัต 2016

ประเด็นน่าจับตามองในโค้งสุดท้ายของตลาดหุ้นไทยปีนี้ อยู่ที่ 2 เรื่องหลัก คือ 1) ต่างชาติจะถอนตัวไปหลังจากเข้ามาซื้อสุทธิกว่า 1.1 แสนล้านบาทไปแล้วเมื่อสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2) ดัชนีSET จะสามารถยืนเหนือ 1,500 จุดได้สูงแค่ไหน


วิษณุ โชลิตกุล

 

ประเด็นน่าจับตามองในโค้งสุดท้ายของตลาดหุ้นไทยปีนี้ อยู่ที่ 2 เรื่องหลัก คือ 1) ต่างชาติจะถอนตัวไปหลังจากเข้ามาซื้อสุทธิกว่า 1.1 แสนล้านบาทไปแล้วเมื่อสิ้นสุดเดือนตุลาคม 2) ดัชนีSET จะสามารถยืนเหนือ 1,500 จุดได้สูงแค่ไหน

ทั้ง 2 ประเด็นโยงใยเข้าหากันลึกซึ้ง แม้ว่าผลลัพธ์จะไม่ได้สอดรับกันเสมอไป

โดยทั่วไป (ซึ่งอาจจะผิดพลาดได้เสมอ) คือ เมื่อใดที่ต่างชาติทำการซื้อสุทธิ จะมีส่วนขับเคลื่อนอย่างมีนัยสำคัญให้ราคาหุ้นและดัชนีตลาดหุ้นไทยวิ่งบวกเป็นขาขึ้น และเมื่อใดที่ต่างชาติทำตรงกันข้ามคือขายสุทธิ ก็จะขับเคลื่อนให้ตลาดวิ่งลบเป็นขาลง 

ข้อเท็จจริงไม่ได้เป็นเช่นนั้น ในปี 2557 ซึ่งเป็นปีที่ต่างชาติขายสุทธิหนักมากถึง 2 แสนล้านบาทเศษ เนื่องจากความวุ่นวายทางการเมืองในประเทศและการรัฐประหารของกองทัพ ดัชนีตลาดหุ้นไทยบวกมากถึง 306.97 จุดเมื่อสิ้นปีนั้น

ในปี 2558 ต่างชาติขายสุทธิทั้งปี 7.0 หมื่นล้านบาทเศษ แต่ดัชนีตลาดหุ้นไทยบวกแรงเช่นกันมากถึง 280.27 จุด

ส่วนปีนี้ เมื่อนับจนถึงสิ้นสุดวันที่ 31 ตุลาคมที่ผ่านมา ต่างชาติซื้อสุทธิไปแล้วมากถึง 1.13 แสนล้านบาทเศษ แต่ดัชนีกลับบวกขึ้นมาเพียงแค่ 194.74 จุด

ความสัมพันธ์ที่ลุ่มๆ ดอนๆ ไม่ค่อยจะสอดรับกัน ระหว่างการซื้อ-ขายของต่างชาติ และทิศทางของดัชนีตลาดหุ้นไทย จึงมีคำถามตามมาว่า ใน 2 เดือนสุดท้ายนี้ หากต่างชาติจะต้องถอนตัวจากไปเพราะเหตุผลที่กลัวกันนักหนาคือ เฟดจะขึ้นดอกเบี้ยในอเมริกา และทำให้ค่าดอลลาร์แข็งขึ้น จะทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยมีทิศทางไปอย่างไรระหว่างวิ่งลงไปหา 1,400 จุด หรือวิ่งขึ้นไปปิดท้ายปีที่ระดับเหนือ 1,550 จุด

หากพิจารณาเพิ่มเติมเชิงลึกต่อไป จะพบว่า (ดูตารางประกอบ) การซื้อขายของต่างชาติในปีนี้ มีอิทธิพลต่อทิศทางของดัชนีตลาดหุ้นไทยเฉพาะครึ่งหลังของปีเท่านั้น แต่ในช่วงครึ่งแรกของปี กลับมีทิศทางตรงกันข้าม

ดัชนีเมื่อเปิดตลาดวันแรกของปี 2559 ร่วงลงอย่างผิดความคาดหมาย อยู่ที่จุดต่ำสุดของปีนี้คือ 1,220.45 จุด แต่หลังจากนั้นก็ปรับตัวสูงขึ้นมาจนถึงจุดพักตัวที่ระดับ 1,400 จุดในเดือนมีนาคมถึงมิถุนายน ก่อนที่จะเริ่มขยับตัวขึ้นมาในเดือนกรกฎาคมระดับหนึ่งอย่างช้าๆ

ในช่วง 7 เดือนแรกของปีนี้ แม้ตลาดหุ้นไทยจะกระเตื้องขึ้นจากจุดต่ำสุด แต่ก็เห็นตัวเลขขายสุทธิของต่างชาติมากถึง เกือบ 1 แสนล้านบาท จนกระทั่งถึงสัปดาห์สุดท้ายของเดือนกรกฎาคมเป็นต้นมาที่เริ่มมีการซื้ออย่างแรงของต่างชาติอย่างเอาเป็นเอาตายตลอดถึงเดือนกันยายนเลยทีเดียว

เงินไหลเข้าจากทุนเก็งกำไรที่เข้ามาในตลาดหุ้นไทยนี้ เป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเงินจำนวนมหาศาลที่เกิดจากการทำ ดอลลาร์ แครี่ เทรด จากจังหวะของทุนล้นเกินของโลกในช่วง 6 ปีที่ผ่านมา ที่เข้ามาหากำไรในตลาดแลกเปลี่ยนเงินตรา ตลาดตราสารหนี้ และตลาดหุ้นไทย

ประเทศไทยนั้น มีปัจจัยเหมาะกับการนำเงินไหลเข้ามาเพื่อทำแครี่ เทรดในยามนี้ เพราะ 1) มีทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศระดับหัวแถวของโลก 2) มีเศรษฐกิจเติบโตแม้จะอยู่ในระดับต่ำลง และเงินเฟ้อต่ำ 3) ตลาดทุนเปิดกว้าง ไม่มีมาตรการควบคุมการไหลเวียนของเงินทุนเข้มงวด 4) ธนาคารแห่งประเทศไทย เลือกการคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายให้สูงกว่าชาติอื่น เพื่อควบคุมเงินเฟ้อในประเทศ เปิดช่องให้มีส่วนต่างดอกเบี้ยนโยบายประมาณ 1.25% เป็นส่วนต่างให้ทำกำไรได้มากพอ

ยอดซื้อสุทธิของต่างชาติประมาณ 2 เดือนเศษ ที่ทำให้ตัวเลขเปลี่ยนจากขายสุทธิเป็นซื้อสุทธิมากถึง 1.5 แสนล้านบาทเศษ ในต้นเดือนตุลาคม สอดรับกับการที่มีส่วนทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยบวกทะยานขึ้นไปสู่จุดสูงสุดที่ระดับ 1,550 จุดได้สำเร็จ ก่อนที่จะมีแรงขายออกมาทั้งเพื่อพักฐาน และเกิดจาก ข่าวลือไม่เป็นมงคล” เกี่ยวกับพระอาการประชวรของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชฯ จนดัชนีร่วงแรงและรีบาวด์กลับมาสู่ระดับวนเวียนรอบๆ ดัชนี 1,500 จุด

สองสัปดาห์มานี้ ตัวเลขการขายสุทธิของต่างชาติในตลาดหุ้นไทยต่อเนื่องชนิดไม่มีหยุด ไม่ว่าจะเป็นวันที่หุ้นบวกหรือลบ ผสมกับค่าเงินบาทที่เริ่มอ่อนตัวลงเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ เป็นปัจจัยที่ทำให้นักวิเคราะห์ และนักลงทุนพากันระมัดระวังอย่างยิ่งเพราะเกรงว่าทุนต่างชาติจะไหลกลับออกไปเป็นฟันด์โฟลว์ไหลออก ทั้งจากทิศทางที่เฟดอาจจะขึ้นดอกเบี้ย และดอลลาร์ที่แข็งขึ้น

ตัวแปรที่ยังทำให้ความกังวลดังกล่าวเจือจางลง คือ การซื้อของต่างชาติในตลาดตราสารหนี้ของไทย ที่ยังมีต่อเนื่อง แม้ว่าจะมีปรากฏการณ์ซื้อที่ไม่สม่ำเสมอมาก เพราะบางวันขายสุทธิ บางวันซื้อสุทธิ แต่ถ้าติดตามต่อเนื่องจะพบว่า ยังมีการซื้อมากกว่าขาย

ตัวอย่างเช่นตัวเลขในสัปดาห์สุดท้ายของเดือนตุลาคม (25-28 ตุลาคม) พบว่า แม้จะมีการขายสุทธิของต่างชาติในตลาดตราสารหนี้  2,122 ล้านบาท แต่พบว่า ยอดขายมากถึง 8,985 ล้านบาท เป็นตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติซึ่งหมดอายุ แต่กลับปรากฏว่าในวันที่ 1 พฤศจิกายน นักลงทุนต่างชาติทำการซื้อสุทธิอย่างหนักมากถึง 18,062 ล้านบาท ในขณะที่ขายสุทธิในตลาดหุ้น ซึ่งสะท้อนว่าการขายต่อเนื่องในตลาดหุ้นนั้น เป็นแค่การปรับพอร์ต ไม่ได้หมายถึงการถอนตัวออกจากตลาดไทย

ที่สำคัญสุดนับจากนี้ไปคือ การที่มีการประเมินว่า ในไตรมาสสามนี้ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยไตรมาสสามที่ทยอยประกาศออกมา จะมีกำไรรวมมากถึง 2.2 แสนล้านบาท เติบโตมากกว่าระยะเดียวกันปีก่อนที่มีเพียงแค่ 5 หมื่นล้านบาท ประมาณ 3.5 เท่า หรือ 350% ถือว่ามากที่สุดระดับหัวแถวของโลก ทำให้ค่าพี/อีของตลาดหุ้นไทยลดฮวบ กลายเป็นตลาดหุ้นที่ราคา ถูกมาก” โดยปริยาย

มีการประเมินว่า ในกลางเดือนนี้  ดัชนี MSCI สำหรับเอเชีย จะปรับเพิ่มน้ำหนักตลาดหุ้นไทยขึ้นอีก ทำให้ตลาดหุ้นไทยมีเสน่ห์มากขึ้น

หากเป็นเช่นนั้นจริง ต่างชาติจะกลับมา และโอกาสที่ดัชนีจะขึ้นไปเหนือ 1,500 จุดปลายปีนี้ก็เป็นไปได้สูงขึ้น

 

Back to top button