‘เม่า’ ในอุ้งมือ ก.ล.ต.ลูบคมตลาดทุน
นับจากคุณรพี สุจริตกุล เข้ามารับตำแหน่ง เลขาธิการ ก.ล.ต.
ธนะชัย ณ นคร
นับจากคุณรพี สุจริตกุล เข้ามารับตำแหน่ง เลขาธิการ ก.ล.ต.
ก็ดูเหมือนจะมีอะไรเปลี่ยนแปลงหลายอย่าง
คล้ายกับว่าเป็นการ “จัดระเบียบ”
และมีนัยสำคัญไปถึง “การปกป้อง” นักลงทุน
ในด้านของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ จากเดิมนั้น ก.ล.ต.อาจไม่ค่อยเข้มงวดเรื่องการให้ข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทจดทะเบียน หรือ บจ.มากนัก
เช่น นักวิเคราะห์บางคนมีใบอนุญาตในการพูดพื้นฐานของ บจ.
แต่ไม่มีใบอนุญาตทางด้านเทคนิค
ก็พูดเรื่อง(สัญญาณ)เทคนิคไม่ได้
หรือมีใบอนุญาตเทคนิค แต่ไม่มีด้านพื้นฐาน ก็ให้ข้อมูลด้านเทคนิคได้เท่านั้น
ระยะหลังเหมือนมีการตรวจจับมากขึ้นในเรื่องนี้
พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ ที่มีการแก้ไขใหม่ และผ่าน สนช.มาแล้ว เหลือเพียงรอลงพระปรมาภิไธย ก็ถูกกล่าวถึงอย่างมากในวงการตลาดทุน
ซึ่งเรื่องนี้เขียนมาหลายรอบแล้ว
โดยเฉพาะประเด็นการให้ข้อมูลของผู้บริหาร บจ. และการวิเคราะห์หุ้นของนักวิเคราะห์หลักทรัพย์
ประเด็นไหนพูดได้บ้าง หรือห้ามพูดบ้าง(ก่อนแจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ)
มิเช่นนั้น อาจเข้าข่ายถูกกล่าวโทษ นำ “ข้อมูลภายใน” มาเปิดเผย
รวมไปถึงมีการตีความคำว่า “บุคคลใด” ในร่างฉบับใหม่ ที่เกี่ยวกับการเปิดเผยข้อมูล บจ. ให้หมายความรวมถึง “สื่อมวลชน” ด้วย
จนอาจเป็นการ“ละเมิด”การทำหน้าที่ของสื่อหรือไม่
การออกกองทุนของบริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุน(บลจ.) หรือกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน กองรีท(REIT) ฯลฯ ก็ถูกเข้มงวดมากขึ้นในการเปิดเผยข้อมูล
และห้ามเปิดเผยข้อมูล
ข้อมูลบางอย่างไม่จำเป็นต้องมาเปิดเผยกับนักลงทุนก็ได้
ก็จะถูก ก.ล.ต.ให้เปิดเผย
หรือบางข้อมูลที่นักลงทุนต้องการรับทราบ เช่น ผลตอบแทนของกองทุนรีท กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ก็จะถูกเพ่งเล็งจาก ก.ล.ต.อย่างมาก หากมีการนำมาเปิดเผย
ยกตัวอย่าง ล่าสุด TPRIME REIT ที่เพิ่งจะเข้าซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ฯ
แม้กองทุนนี้จะเน้นขายนักลงทุนสถาบัน เช่น บริษัทประกันชีวิตต่างๆ
รวมไปถึงกลุ่มลูกค้า ไพรเวทแบงกิ้ง ของธนาคารที่มีเงินในบัญชีเยอะๆ 20-30 ล้านบาทขึ้นไป
แต่ในด้านของผลตอบแทนนั้น กลับไม่มีการเปิดเผยออกมา
ท่ามกลางกระแสข่าวว่า ก.ล.ต.ไม่ค่อยอยากจะให้เปิดเผย หรืออาจห้ามเปิดเผย
ในด้านของนักลงทุนสถาบันนั้น ส่วนใหญ่จะมีทีมที่ปรึกษา เพื่อคำนวณแนวโน้มผลประกอบการ แนวโน้มผลตอบแทนอยู่แล้ว
ส่วนนักลงทุนรายใหญ่ หรือกลุ่มลูกค้าไพรเวทแบงกิ้ง
ก็มักจะมีทีมที่ปรึกษาด้านการลงทุนเช่นกัน
หากกองทุนไม่ได้ให้ข้อมูลมากนัก(อาจด้วยข้อจำกัดจาก ก.ล.ต.) นักลงทุนกลุ่มนี้ก็จะมีข้อมูลจากทีมวิจัยของตนเอง
ส่วนนักลงทุนรายย่อยนั้น หมดสิทธิ์รับรู้ข้อมูล
สมมุติว่า นายเอ ไปถามแม่ค้าขายก๋วยเตี๋ยวว่า อร่อยไหม..? ก่อนจะซื้อกิน
แม่ค้าจึงตอบกลับว่า “บอกไม่ได้” สคบ.(สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค) ห้ามไว้! หากอยากรู้ว่าอร่อยหรือไม่ ลูกค้าก็ต้องซื้อกินดู
ความอร่อยนั้น ก็เปรียบเสมือน “ผลตอบแทน” ที่คนซื้อควรจะได้รับรู้ก่อนซื้อ
หากแม่ค้าบอกว่าอร่อย แต่พอซื้อมากินแล้วไม่อร่อย ครั้งต่อไปลูกค้าก็จะไม่เข้าไปใช้บริการอีก และแม่ค้ารายนั้นก็จะสูญเสียความน่าเชื่อถือ
ในส่วนของกองทุนต่างๆ ทั้งโครงสร้างพื้นฐาน กองรีท ฯลฯนั้น
นักลงทุนส่วนใหญ่ ซื้อเพื่อหวังผลตอบแทน หรือเงินปันผลเป็นหลัก ไม่ได้ดู หรือคาดหวังกับ Capital gain มากนัก
ดังนั้น เมื่อไม่รู้ว่า ผลตอบแทนเป็นเช่นไร มันก็จะเข้า“ทฤษฎีซื้อก๋วยเตี๋ยว” ข้างต้น
นับจากที่ ก.ล.ต.พยายามจัดระเบียบ
อย่างที่บอกไว้เหมือนจะหวังดีกับนักลงทุน เข้ามาช่วยปกป้อง โดยเฉพาะนักลงทุนรายย่อย
แต่ไปๆ มาๆ เหมือนกับ(กีด)กันนักลงทุนรายย่อยออกนอกตลาดหุ้น จากข้อมูลข่าวสารที่ถูกจำกัดมากขึ้น ซึ่งแตกต่างจากนักลงทุนสถาบัน และรายใหญ่ ที่จะเข้าถึงได้(เปรียบ)การเข้าถึงข้อมูลที่ดีกว่า
อย่าลืมนะว่า ปัจจุบัน สัดส่วนของนักลงทุนรายย่อย
คิดเป็น 55% ของนักลงทุนในตลาดหุ้น
และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ