ผลสะเทือนผีเสื้อที่อังกฤษพลวัต 2016
รัฐบาลของนางเทเรซ่า เมย์ของอังกฤษ ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การเมืองครั้งที่ไม่คาดฝันครั้งใหม่ เมื่อศาลสูงของประเทศได้วินิจฉัยวันนี้ว่า การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะดำเนินการใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนแห่งสหภาพยุโรป เพื่อดำเนินการเจรจาถอนตัวออกจากสนธิสัญญาลิสบอนตามประชามติเมื่อกลางปีนี้ ไม่สามารถกระทำได้
วิษณุ โชลิตกุล
รัฐบาลของนางเทเรซ่า เมย์ของอังกฤษ ต้องเผชิญหน้ากับสถานการณ์การเมืองครั้งที่ไม่คาดฝันครั้งใหม่ เมื่อศาลสูงของประเทศได้วินิจฉัยวันนี้ว่า การตัดสินใจของรัฐบาลที่จะดำเนินการใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนแห่งสหภาพยุโรป เพื่อดำเนินการเจรจาถอนตัวออกจากสนธิสัญญาลิสบอนตามประชามติเมื่อกลางปีนี้ ไม่สามารถกระทำได้
การตัดสินใจดังกล่าวเป็นไปตามกระบวนการเมื่อมีนักการเมืองจากพรรคฝ่ายค้านอังกฤษ ทำการยื่นเรื่องร้องศาลสูงว่า การประกาศของนางเมย์เมื่อเดือนก่อนว่าจะเริ่มดำเนินการกับสหภาพยุโรปโดยไม่ต้องรอให้รัฐสภาเห็นชอบเสียก่อน ผิดรัฐธรรมนูญ
ผลของคำตัดสินของศาลสูงดังกล่าว ทำให้ตลาดหุ้นและตลาดตราสารหนี้ รวมทั้งตลาดแลกเปลี่ยนเงินตราปั่นป่วนตั้งแต่บ่ายวานนี้ในเอเชียเลยทีเดียว โดยค่าเงินปอนด์สเตอร์ลิงดันค่าแข็งขึ้นเทียบกับเงินสกุลอื่นทั่วโลกทันที และดัชนี FTSE 100 ของตลาดหุ้นลอนดอนดิ่งเกือบ 1% นับแต่เปิดตลาด ยังผลให้ตลาดเอเชียพลิกผันรุนแรงในภาคบ่ายวานนี้ รวมทั้งตลาดหุ้นไทยด้วย
ช่วงแรกของตลาดหุ้นลอนดอน (ตรงกับต้นตลาดช่วงบ่ายของไทย) ดัชนี FTSE 100 ดีดตัวขึ้นในช่วงแรกที่เปิดตลาด จากแรงหนุนของราคาน้ำมันที่ดีดตัวขึ้น และการประกาศผลประกอบการที่สดใส แต่ได้พลิกตัวดิ่งลงเกือบ 1% ในวันนี้ และลงไปลึกกว่า 50 จุดในทันที แต่ต่อมาก็พลิกตัวลบในกรอบแคบๆ หลังจากที่ได้รับผลกระทบจากปอนด์ที่แข็งค่าขึ้น หลังศาลสูงมีคำวินิจฉัยออกมา
ศาลสูงของสหราชอาณาจักรมีคำวินิจฉัยในวันนี้ว่า รัฐบาลอังกฤษจะต้องขอการอนุมัติจากรัฐสภาเพื่อเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวจากสหภาพยุโรป ก่อนที่รัฐบาลจะสามารถดำเนินการได้โดยที่ศาลได้กำหนดให้รัฐบาลสามารถยื่นอุทธรณ์ต่อคำวินิจฉัยดังกล่าวได้ในวันที่ 5-8 ธ.ค.
คำวินิจฉัยดังกล่าวได้ส่งผลกระทบต่อนางเทเรซา เมย์ นายกรัฐมนตรีอังกฤษ ซึ่งระบุก่อนหน้านี้ว่า รัฐบาลสามารถประกาศใช้มาตรา 50 ของสนธิสัญญาลิสบอนของสหภาพยุโรป เพื่อเริ่มต้นกระบวนการแยกตัวออกได้ โดยไม่ต้องขอการอนุมัติจากรัฐสภา
รัฐบาลอังกฤษได้แสดงความผิดหวังต่อคำวินิจฉัยของศาลดังกล่าว และระบุว่าจะทำการยื่นอุทธรณ์ต่อไป แต่นักการเมืองฝ่ายค้านที่ยื่นเรื่อง บอกว่าไม่เป็นการฉลาดที่จะยื่นอุทธรณ์ เพราะจะทำให้สถานการณ์ยืดเยื้อไปอีกนานมา
ในชั้นต้นนี้ รัฐบาลยังระบุว่า ชาวอังกฤษได้ลงคะแนนเสียงเพื่อแยกตัวออกจากสหภาพยุโรปในการทำประชามติซึ่งได้รับการอนุมัติจากรัฐสภา และรัฐบาลจะเคารพต่อผลการลงประชามติดังกล่าวโดยไม่ต้องขอรับฉันทามติจากสภาอีก
ในขณะที่นายไนเจล ฟาราจ หัวหน้าพรรคร่วมรัฐบาลผสม ที่เป็นตัวการเรียกร้องให้มีการถอนตัวจากสหภาพยุโรป ก็ออกมาระบุว่าคำวินิจฉัยของศาลสูง เป็นการหักหลังต่อเจตนารมณ์ของคนอังกฤษโดยรวม เพราะจะทำให้เกิดปรากฏการณ์ถอนตัวครึ่งๆ กลางๆ หรือ Half Brexit ที่ไม่มีใครต้องการ
ตามกระบวนการที่ศาลอังกฤษระบุนั้น รัฐบาลอังกฤษจะต้องร่างแผนการเพื่อนำเสนอให้สภาพิจารณา และอภิปรายในรายละเอียดถึงหัวข้อ และทางเลือกที่เป็นรูปธรรมในการเจรจาถอนตัวจากสหภาพ พร้อมกับร่างแผนการเจรจากับชาติสมาชิกยูโรโซนในเรื่องต่างๆ เพื่อจะทำข้อตกลงในเรื่องต่างๆ กับของแต่ละชาติสมาชิกยูโรโซน ในทุกเรื่อง ที่ไม่ได้เป็นแบบเดียวกัน
ในเรื่องของการถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปนั้นอาจจะยากพอสมควร แต่ก็ไม่ยากไปกว่าเมื่อเทียบกับการเจรจาแบบทวิภาคีกับชาติต่างๆ ในยูโรโซนที่อังกฤษจะต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่กันในทุกรายละเอียด และรายประเทศซึ่งยากกว่าหลายเท่า
แม้ผู้สังเกตการณ์จะเชื่อว่าท้ายที่สุดแล้วในการประชุมเพื่อขอฉันทานุมัติจากรัฐสภา นักการเมืองส่วนใหญ่ทั้งสภาล่างและสภาขุนนาง จะต้องแสดงท่าทีรับรองบทบาทในการเจรจากับสหภาพยุโรปอย่างเลี่ยงไม่พ้น แต่เนื่องจากเสียงคะแนนในแต่ละเขตที่รับเลือกมา ไม่สามารถการันตีได้เลยว่าจะสะท้อนท่าทีของประชาชนในเขตเลือกตั้งที่ต้องการให้ออกจากสหภาพยุโรป ยกเว้นในบางเขต แต่นั่นก็ดูเบาสถานการณ์ง่ายไป เพราะนักการเมืองในรัฐสภาอังกฤษนั้น ไม่ใช่นักการเมืองใน ”สภาฝักถั่ว” ที่มีหน้าที่เป็นแค่ตรายาง เพราะบางครั้งรัฐสภาก็สามารถดึงเรื่องให้ยืดเยื้อ ไม่ให้จบง่ายๆ อาจจะทำให้ไม่ทันการณ์
ในมุมกลับกัน หากยอมให้มีการอภิปรายในรัฐสภา ก็อาจจะทำให้เกิดความรอบคอบมากขึ้นในการเจรจา แต่ขณะเดียวกัน ก็มีลักษณะที่เป็นเรื่องเปราะบางหากรัฐบาลจะนำเอาผลของการประชุมขออนุมัติต่อรัฐสภา มาเผยแพร่ก็เท่ากับเป็นการ ”แบไต๋” ในการเจรจา ทำให้อาจจะไม่สามารถต่อรองประโยชน์ในการเจรจาได้เต็มที่มากนักหรือไม่ก็ตกเป็นเบี้ยล่างในการเจรจาได้
ความไม่ลงรอยระหว่างเป้าหมายของรัฐบาลที่เป็นฝ่ายบริหาร กับนักการเมืองในรัฐสภาจึงทำให้เงื่อนเวลามีความสำคัญอย่างมาก
นั่นหมายความว่า จากนี้ไป ความไม่แน่นอนในอังกฤษ จะมีบทบาทครอบงำทิศทางของตลาดเงินและตลาดทุนทั่วโลกอย่างมีนัยสำคัญ เพราะสามารถที่จะทำให้ทิศทางของตลาดทั่วโลกผันผวนมากกว่าเดิมหลายเท่า
ปรากฏการณ์ที่เกิดกับตลาดเงินและตลาดหุ้นทั่วโลกบ่ายวานนี้ เรื่อยมาถึงเช้าวันนี้ จึงเป็นปัจจัยแทรกซ้อนที่จะดำรงอยู่ไปอีกอย่างน้อย 2-3 ปีที่จะมีอิทธิพลเป็นระยะต่อตลาดได้
ส่วนจะรุนแรงมากน้อยแค่ไหน คงต้องขึ้นกับประเด็นและความร้อนแรงของสถานการณ์ เหมือนกับความวุ่นวายทั้งหลายในโลก ที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับ “ผลสะเทือนผีเสื้อกระพือปีก” เลยทีเดียว