ดอกเบี้ยจีน – ดอกเบี้ยญี่ปุ่น
“ปุ๋ยราคาแพงกว่าข้าว ก็ไปขายปุ๋ย” คำพูดนี้แม้จะได้รับการกลบเกลื่อนในภายหลังว่า “พูดเล่น” แต่ก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่า “พูดเล่น” ไปทำไม
ขี่พายุ ทะลุฟ้า : ชาญชัย สงวนวงศ์
“ปุ๋ยราคาแพงกว่าข้าว ก็ไปขายปุ๋ย” คำพูดนี้แม้จะได้รับการกลบเกลื่อนในภายหลังว่า “พูดเล่น” แต่ก็ไม่เข้าใจอยู่ดีว่า “พูดเล่น” ไปทำไม
“พูดเล่นบนทุกข์ของชาวนานะหรือ” ใครจะขำด้วยอ๊ะ วุฒิภาวะของคนพูดมีมากน้อยแค่ไหน ทำไมถึงพูดออกไปได้ล่ะ
นี่ถ้าเป็นรัฐมนตรีในคณะรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง ป่านนี้ก็คงจะโดนถล่มแหลกไปแล้ว
อาจหนักหนาถึงขั้นกระเด็นออกจากเก้าอี้
การที่ข้าวราคาตกเป็นเพราะราคาข้าวตลาดโลกส่วนหนึ่ง และอีกส่วนหนึ่งก็เพราะโรงสีสมคบกับนักการเมืองท้องถิ่นกดราคาข้าวชาวนา
ราคาข้าวที่ตกเป็นผลงานมาจากรัฐบาลชุดที่แล้ว
นี่ก็ยังไงเล่าทั้งตกเพราะโรงสีตัวแสบสมคบกับนักการเมืองฝั่งตรงข้ามรัฐบาล และเป็นผลงานของรัฐบาลชุดที่แล้ว
เฮ้อ! มันแล้งมา 3 ปีแล้วผลผลิตก็ออกมาน้อย ยังไม่มีปัญญาดันราคาข้าวขึ้นอีกหรือ นี้ถ้ากล่าวโทษฟ้าฝนเทวดากลั่นแกล้งได้ ก็คงจะตั้งโต๊ะหมู่ทำพิธีกล่าวโทษไปแล้ว
ระหว่างนโยบายสินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปีกับจำนำข้าว มันต่างกันตรงไหนเนี่ย !
นโยบายสินเชื่อฯ รับจำนำที่ 90% แต่ก็มี + + ค่าเก็บเกี่ยวและปรับปรุงคุณภาพข้าว, ค่าเก็บรักษาข้าวเปลือก และค่าไถ่ถอนจำนำ
รวมๆ แล้ว ราคาข้าวหอมมะลิตามนโยบายสินเชื่อฯ ก็ตกตันละ 13,000 บาท
ในขณะที่ราคาตลาด ตามการขายของสมาคมโรงสีอยู่ที่ตันละ 9,000–9,500 บาทเท่านั้น
ถามว่านี่คือการแทรกแซงตลาดเหมือนนโยบายจำนำข้าวไหม ก็ต้องตอบว่าแทรกแซง
ถามว่าแทรกแซงสูงกว่าราคาตลาดไหม ก็ตอบว่าใช่เลย
เพราะราคาตามนโยบายสินเชื่อชะลอฯ ตันละ 13,000 บาท แต่ราคาตลาดยืนพื้นอยู่ที่ 9,000–9,500 บาทเท่านั้น
ความต่างคงอยู่ที่ราคาแทรกแซงไม่ถึง 20,000 บาท เหมือนสมัยรัฐบาลยิ่งลักษณ์เท่านั้น
อย่างไรก็ตามสิ่งที่คงจะเหมือนกันก็คือ ข้าวก็คงจะไหลมาหารัฐบาลเช่นเดียวกันนั่นแหละ และก็คงไม่มีใครมาไถ่ถอน
ขอวกเข้ามาเรื่องของดอกเบี้ยเงินกู้โครงการโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ ที่จะเป็นตัวชี้วัดการลงมือทำโครงการกันบ้าง
ราชกิจจานุเบกษาเมื่อ 13 ต.ค.59 เผยแพร่ประกาศกระทรวงการคลังเรื่องการกู้เงินจากรัฐบาลญี่ปุน สำหรับโครงการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดงช่วงบางซื่อ–รังสิต
ระบุยอดเงินกู้คิดเป็นเงินไทยเท่ากับ 57,907 บ้านบาท กำหนดชำระคืนเงินกู้ภายใน 15 ปี รวมระยะเวลาปลอดหนี้ 5 ปี
อัตราดอกเบี้ย เพียงแค่ 0.30% ต่อปีเท่านั้น
ในส่วนของที่ปรึกษา คิดอัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี และมีอัตราค่าธรรมเนียมเงินกู้ (Front End Fee) แค่ 0.20%
ผมไพล่ไปนึกถึงโครงการรถไฟความเร็วสูง ไทย–จีน ซึ่งผ่านการเจรจามาแล้ว 15 ยก ก็ยังไม่มีอะไรคืบหน้า
มาตรฐานวัสดุอุปกรณ์รวมทั้งรายละเอียดระบบรถไฟที่ทางฝ่ายไทยเรียกร้องให้กำหนดเป็นภาษาสากล ทางฝ่ายจีนก็ยังไม่สามารถจะสนองตอบได้
ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ทางฝ่ายจีนยังยืนแข็งที่ระดับ 2.3% สำหรับเงินกู้สกุลหยวน และ 2.8% สำหรับเงินกู้สกุลดอลลาร์
ทราบมาว่าทางฝั่งไทยพยายามจะเจรจาต่อรองลงมาให้เหลือแค่ 2% แต่ก็น่าคิดนะครับว่าทำไมไม่เอาญี่ปุ่น ซึ่งอัตราดอกเบี้ยแค่ 0.3% เท่านั้น
สมมุติ 2% ของยอดเงินกู้ 2 แสนล้าน ก็จะเกิดภาระดอกเบี้ยปีละ 4,000 ล้านบาท แต่ถ้า 0.3% ก็แค่ 600 ล้านบาทเท่านั้น
แค่คิดก็ปวดหัวแล้วว่าทำไมรัฐบาลต้องดักดานกับรถไฟจีน
รัฐบาลอาจจะโดนข้อหาว่า ไม่รักษาผลประโยชน์ของชาติไหมเนี่ย !