มองข้ามคลินตัน กับ ทรัมป์พลวัต 2016

2 วันนับแต่เช้าวันนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเต็มไปด้วยความผันผวน เพราะรอผลการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ว่ากันว่าสูสีคู่คี่กันมาก อาจจะถึงขั้นมีการฟ้องร้องตามมา คล้ายสมัยจอร์จ บุช คนลูก และอัล กอร์


วิษณุ โชลิตกุล

 

2 วันนับแต่เช้าวันนี้ ตลาดหุ้นทั่วโลกจะเต็มไปด้วยความผันผวน เพราะรอผลการชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ที่ว่ากันว่าสูสีคู่คี่กันมาก อาจจะถึงขั้นมีการฟ้องร้องตามมา คล้ายสมัยจอร์จ บุช คนลูก และอัล กอร์

เพียงแต่ว่าในความผันผวนระยะสั้นนี้ มีประเด็นซ่อนเร้นที่ถูกกลบเอาไว้ รอหลังวันที่ 8 พฤศจิกายนผ่านไปเสียก่อน จะถูกหยิบยกขึ้นมาถกเถียงกันต่อไป

วันศุกร์ที่ผ่านมา ตัวเลขการจ้างงานนอกภาคเกษตรของสหรัฐเพิ่มขึ้นกว่าคาดการณ์มาก และที่สำคัญค่าจ้างแรงงานเฉลี่ยในภาคก่อสร้าง สุขภาพ และการบริการทางธุรกิจ เติบโตอย่างมีนัยสำคัญมากถึง 2.4% เทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน สะท้อนกำลังซื้อที่เพิ่มขึ้น ซึ่งจะต้องติดตามข้อมูลที่แท้จริงในภาพรวมของตลาดแรงงานในวันพรุ่งนี้ อีกครั้ง

ตัวเลขการจ้างงาน และกำลังซื้อของคนงานที่สูงขึ้น เปิดทางให้เงินเฟ้อพุ่งขึ้น เข้าทางของสายเหยี่ยวของเฟดที่ตอกย้ำว่ายังต้องการให้ขึ้นดอกเบี้ยในเดือนธันวาคมนี้ ก่อนที่จะมีฟองสบู่เศรษฐกิจเกิดขึ้น

ดังนั้น แนวโน้มของการที่เฟดจะขึ้นอัตราดอกเบี้ย จึงมีความหมายที่ต้องจับตาเป็นพิเศษนับจากนี้ไปจนถึงกลางเดือนธันวาคม ซึ่งยามนั้น เราควรรู้แล้วว่าใครจะได้มีอำนาจในทำเนียบขาวแล้ว

ระหว่างนี้ มีการสำรวจว่า หลังจากวันที่ 8 พฤศจิกายนผ่านไป จะเกิดอะไรขึ้นกับวงการเมืองสหรัฐที่จะกระทบกับการลงทุนเก็งกำไรในตลาดหุ้นทั่วโลก

ผู้เชี่ยวชาญวอลล์สตรีทหลายเสียง พากันฟันธงว่า ชัยชนะหรือแพ้ของนางฮิลลารี คลินตัน ยังไม่ได้สะท้อนภาพการเมืองอเมริกันชัดเจนทั้งหมด เพราะตัวแปรที่คนภายนอกสหรัฐต้องติดตามคือ ผลการเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ของสหรัฐที่เลือกพร้อมกับเลือกตั้งประธานาธิบดีด้วย

ที่ผ่านมา ในยุคของ บารัค โอบามา เก้าอี้ทั้งของ ส.ส.ในสภาล่าง และของ ส.ว.ในสภาสูง ล้วนตกในกำมือของเสียงข้างมากจากพรรครีพับลิกันยาวนาน โดยเดโมแครตเป็นเสียงข้างน้อยที่มีบทบาทรองไม่มากนัก

การถ่วงดุลดังกล่าวเป็นเรื่องปกติของการเมืองแบบอเมริกันที่พยายามถ่วงให้เกิดดุลยภาพทางอำนาจของฝ่ายบริหารในทำเนียบขาว และนิติบัญญัติในรัฐสภา

ครั้งนี้ หากนางคลินตันเป็นฝ่ายแพ้ และเสียงส.ส.กับ ส.ว.ในรัฐสภาเหวี่ยงกลับอีกข้าง มาเป็นเดโมแครตครองเสียงข้างมาก ก็เท่ากับดุลยภาพใหม่กำลังเกิดขึ้น และฝ่ายบริหารกับนิติบัญญัติต้องทำงานหนักด้วยกันต่อไป

ในทางกลับกัน หากนางคลินตันชนะ และรีพับลิกันยังครองเสียงข้างมาก การเมืองอเมริกันก็จะยังเดินหน้าต่อไปโดยไม่มีการเปลี่ยนอะไร นอกจากชื่อบุคคลเท่านั้น

หากเป็นอีกแบบหนึ่งคือ นางคลินตันได้ชัยชนะ และเดโมแครตได้ครองเสียงข้างมาก หรือกลับกัน ทรัมป์ชนะ และรีพับลิกันได้ครองเสียงข้างมาก ดุลยภาพของอำนาจในสหรัฐจะเปลี่ยนแปลงเป็นเอียงกระเท่เร่ ต้องเริ่มต้นแรงเหวี่ยงหาสมดุลใหม่  และจะส่งผลต่อทิศทางของวอลล์สตรีทใหม่

ความกังวลของวอลล์สตรีทคือ หากทรัมป์ได้ชัยชนะ และรีพับลิกันยังครองเสียงข้างมาก โอกาสที่ทรัมป์จะยกเลิกกฎหมาย Dodd-Frank ที่มีส่วนให้เกิดเสถียรภาพของตลาดเงินและตลาดทุนหลังวิกฤตซับไพรม์เมื่อ 8 ปีก่อน ลงไปง่ายขึ้น อาจจะนำไปสู่ภาวะไร้เสถียรภาพของตลาดเงินตลาดทุนครั้งใหม่ได้อีก

ไม่เพียงเท่านั้น หากนางเอลิซาเบธ วอร์เรน แห่งพรรครีพับลิกัน ซึ่งเป็นผู้นำการต่อต้านวอลล์สตรีท ยังสามารถมีอำนาจเหนือรัฐสภาต่อไป ก็จะยิ่งทำให้ตลาดเงินและตลาดทุนหวั่นไหวไปกับ “นักต่อต้านวอลล์สตรีท” ที่มีพลังผนึกสูงยิ่ง

แต่ทั้งหมดที่ว่ามา ยังไม่สำคัญเท่ากับว่า กลุ่มทุนอเมริกันที่เป็นแกนหลักของการเมืองสหรัฐมาตั้งแต่หลังสงครามโลกครั้งแรกสิ้นสุดลง ที่เรียกว่า CFR จะมีการปรับตัวรับมือกับความท้าทายครั้งใหม่อย่างไร เพราะเป็นที่ทราบชัดเจนว่ากลุ่มนี้สนับสนุนนางคลินตันสุดลิ่มทิ่มประตูมาตั้งแต่ต้น

กว่า 70 ปีของการก่อตั้ง CFR มีส่วนผลักดันให้นโยบายของรัฐบาลกลางอเมริกัน หันเหจากลัทธิมอนโรที่เคยจำกัดตนเองไม่ยุ่งเกี่ยวกับกิจการของชาติอื่นนอกทวีปอเมริกาเหนือและละตินอเมริกา ไปมีส่วนร่วมในการจัดระเบียบใหม่ของโลก ด้วยระบบโลกที่มีสหรัฐเป็นแกนกลางของการขับเคลื่อนทุนนิยมในฐานะ ”รัฐบาลโลก” ทำหน้าที่ควบคุมอยู่หลังฉากธุรกิจ 

บทบาทของ CFR ซึ่งแท้จริงคือ สมาคมลับของกลุ่มทุนและชนชั้นนำอเมริกันเพื่อสร้างอำนาจนำเหนือโลก ดำรงฐานะเป็นรัฐบาลเงาของอเมริกา ต่อเนื่อง โดยผ่านกลไกที่ชอบธรรมของประชาธิปไตยแบบอเมริกัน จนกระทั่งตลอดหลายสิบปีมานี้ เพราะประธานาธิบดี และรัฐมนตรีต่างประเทศสหรัฐจากทุกพรรค ล้วนเป็นสมาชิกหรือ “เด็กฝาก” ของ CFR ทั้งสิ้น

ถ้าครั้งนี้ บังเอิญ “คนนอก” อย่างนายโดนัลด์ ทรัมป์ ขึ้นมามีอำนาจนอกอาณัติของ CFR คำถามคือ จะเกิดอะไรขึ้น

แรกที่สุดคือ อิทธิพลใต้ดินของ CFR ที่เคยชี้นิ้วบงการเบื้องหลังนโยบายสำคัญของสหรัฐมาโดยตลอด จะต้องลดลง และปรับท่วงทำนองความสัมพันธ์หรือกระบวนทัศน์กันเสียใหม่ พร้อมกับความสูญเสียบางส่วนที่ยังยากประเมินได้

หนึ่งในความสูญเสีย ก็อาจจะรวมถึงสิ่งที่เรียกกันว่า ฉันทามติแห่งกรุงวอชิงตัน หรือ  Washington Consensus ซึ่งขับเคลื่อนแนวคิดลัทธิเสรีนิยมใหม่หลังสงครามเย็นสิ้นสุดลงผ่านธนาคารโลก และกองทุนการเงินระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นผลผลิตสำคัญของ CFR เช่นกัน

คำถามที่ท้าทายนักคิดแห่งวอลล์สตรีทหลังวันที่ 8 พฤศจิกายนนี้ไป จึงเป็นอะไรที่มากกว่าแค่ว่านางฮิลลารี หรือ นายโดนัลด์จะชนะหรือแพ้ 

Back to top button