ความเป็นไทยเชียร์ทรัมป์ทายท้าวิชามาร
เว็บปลอมปล่อยข่าวทักษิณตาย ตามด้วยข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตแสดงความเสียใจ ทำเอากองเชียร์ทรัมป์ในเมืองไทยเซ็งไปไม่น้อย เพราะกองเชียร์ส่วนใหญ่ “เกลียดแม้ว” และเกลียดประชาธิปไตยฝรั่ง
ใบตองแห้ง
เว็บปลอมปล่อยข่าวทักษิณตาย ตามด้วยข่าวโดนัลด์ ทรัมป์ทวีตแสดงความเสียใจ ทำเอากองเชียร์ทรัมป์ในเมืองไทยเซ็งไปไม่น้อย เพราะกองเชียร์ส่วนใหญ่ “เกลียดแม้ว” และเกลียดประชาธิปไตยฝรั่ง
แม้หุ้นขึ้นติดกันมา 2 วันเพราะความมั่นใจว่าฮิลารี คลินตัน จะเป็นประธานาธิบดีหญิงคนแรก ไม่ใช่ทรัมป์ ซึ่งมีนโยบายกีดกันการค้า แต่ก็ยังมีคนอีกมากแอบหวังว่า ทรัมป์จะชนะ หรือถ้าทรัมป์ไม่ชนะ ก็ปลอบใจตัวเองว่า หลังเลือกตั้งครั้งนี้ อเมริกาจะไม่มีวันยิ่งใหญ่แบบเดิม จะได้ไม่มาแสดงบทบาท “ตำรวจสิทธิมนุษยชน” ไม่ยอมรับรัฐประหาร วิพากษ์วิจารณ์ ม.44 เรียกร้องให้มีเลือกตั้ง
เอาเข้าจริงคือไม่ได้เชียร์ทรัมป์หรอก แค่อยากเห็นอเมริกาเสื่อม จะได้สะใจ สมน้ำหน้าโอบามาไม่ยอมถอยหลังไปเชียร์รัฐประหารเหมือน 40-50 ปีก่อน
นักธุรกิจบางคน ออกวิทยุพูดเจื้อยแจ้วว่า อยากเห็นทรัมป์ชนะ เผื่ออเมริกาจะหันมาสนใจผลประโยชน์ทางการค้า มากกว่า “สร้างความขัดแย้งทางการเมือง” เลิกวิจารณ์จีน รัสเซีย และปัญหาต่างๆ ในโลก ทำมาค้าขายกัน หันไปสนใจเรื่องในประเทศตัวเองดีกว่า เพราะยังเต็มไปด้วยปัญหาเศรษฐกิจ ความเหลื่อมล้ำ คนอเมริกันลำบากกันเยอะหลังวิกฤติซับไพรม์ ซึ่งก็คล้าย Brexit ที่คนอังกฤษอยากแยกตัวไปสนใจปัญหาตัวเองดีกว่า
ฟังเหมือนเข้าท่า ถ้าไม่มองความเพี้ยน ล้าหลัง เหยียดเพศ เหยียดเชื้อชาติ เหยียดมุสลิม ฯลฯ ของทรัมป์ อันที่จริง ปรากฏการณ์ทรัมป์สะท้อนความเรียกร้องต้องการของคนอเมริกันแบบบ้านๆ ที่เบื่อหน่ายระบบการเมืองเชิงสถาบัน Establishment ของ 2 พรรคใหญ่ จนหันไปเลือกคนแหกคอกนอกโลกแบบทรัมป์ โดยหวังว่าจะทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ดีขึ้นบ้าง
เทียบง่ายๆ ก็เหมือนคนไทยเบื่อ 2 พรรคใหญ่จนเลือก “เสี่ยอ่าง” แต่เงื่อนไขหลายอย่างต่างกัน คนไทยจึงไม่ได้ชูวิทย์ กมลวิศิษฏ์ เป็นผู้นำ แบบคนฟิลิปปินส์ได้ดูเตอร์เต (แต่ได้ท่านผู้นำโดยไม่ต้องเลือกตั้ง)
ปรากฏการณ์ทรัมป์สะท้อนความพยายามก้าวไปข้างหน้าของประชาธิปไตยอเมริกัน ที่อยากสลัดพ้นการครอบงำของ Establishment เช่นเดียวกับปรากฏการณ์เบอร์นีแซนเดอร์ ในเดโมแครต เพียงแต่ทรัมป์เป็นการลองผิดลองถูกที่เตลิดเปิดเปิง
กระนั้น ปรากฏการณ์เชียร์ทรัมป์ในกลุ่มประเทศล้าหลังกลับสวนทางกัน มันสะท้อนความพยายามปฏิเสธ “ระเบียบโลกใหม่” ยุคโลกาภิวัตน์ ที่อเมริกาและยุโรปเป็นศูนย์กลาง ซึ่งแน่ละในด้านที่เป็นทุนข้ามชาติฟาดเรียบอาจน่าเกลียดน่าชัง แต่สิ่งที่กลุ่มประเทศล้าหลังเกลียดมากกว่า คือกติกาเสรีภาพ ประชาธิปไตย สิทธิมนุษยชน กวดขันการค้ามนุษย์ การใช้แรงงานไม่เป็นธรรม
ซึ่งอันที่จริงไม่ใช่เรื่องของโอบามาหรือผู้นำคนไหน แต่มาจากพลังประชาสังคมโลกผลักดัน จนเรื่องเสรีภาพ ความเป็นธรรม สิทธิมนุษยชน กลายเป็นกติกาสำคัญ ในช่วง 20-30 ปีหลังนี่เอง
ตรงกันข้าม สิ่งที่กองเชียร์ทรัมป์อยากเห็นคือ “จักรวรรดินิยมอเมริกา” ล่มสลาย จีน รัสเซีย เป็นมหาอำนาจใหม่ แล้วประเทศต่างๆ ก็ทำมาค้าขายโดยไม่ต้องสนใจ “การเมือง” ไม่ก้าวก่ายกัน ไม่ว่าประเทศไหนจะใช้แรงงานเด็ก ค้าแรงงานทาส กวาดล้างชนกลุ่มน้อย หรือใช้กำลังรุกรานเพื่อนบ้าน สมมติรัสเซียบุกยูเครน เราสนใจไปไย เราจะขายข้าวสาร ประเทศอื่นก็ไม่ต้องมาสนใจเรา ไม่ว่ามีรัฐประหาร มีเลือกตั้ง จำกัดสิทธิเสรีภาพ หรือเลือกตั้งเป็นพิธีโดยไม่ต้องมีประชาธิปไตย เพราะแค่เป็นไทยก็พอแล้ว
นั่นแหละ ระเบียบโลกแบบที่คนชั้นกลางและนักธุรกิจบางคนต้องการ