พาราสาวะถี อรชุน

อย่างที่รู้กันราคาข้าวตกต่ำที่ถูกโยนเป็นเรื่องของนักการเมืองรวมหัวกับโรงสีในพื้นที่เพื่อกดดันราคา หวังผลให้ชาวนามีปัญหากับรัฐบาลนั้น ถูกปลุกและสร้างประเด็นโดยนักการเมืองบางพรรค เพียงแต่ว่า ไม่มีใครคาดคิด ท่านผู้นำจะหลงเหลี่ยมเล่นเกมการเมืองนี้ไปกับเขาด้วย จนสุดท้ายต้องยอมเสียฟอร์มออกมาขอโทษขอโพยสมาคมโรงสีที่กรรมการสมาคมประกาศยุติบทบาทกันทั้งคณะ


อย่างที่รู้กันราคาข้าวตกต่ำที่ถูกโยนเป็นเรื่องของนักการเมืองรวมหัวกับโรงสีในพื้นที่เพื่อกดดันราคา หวังผลให้ชาวนามีปัญหากับรัฐบาลนั้น ถูกปลุกและสร้างประเด็นโดยนักการเมืองบางพรรค เพียงแต่ว่า ไม่มีใครคาดคิด ท่านผู้นำจะหลงเหลี่ยมเล่นเกมการเมืองนี้ไปกับเขาด้วย จนสุดท้ายต้องยอมเสียฟอร์มออกมาขอโทษขอโพยสมาคมโรงสีที่กรรมการสมาคมประกาศยุติบทบาทกันทั้งคณะ

ไม่รู้ว่าใครไปเป่าหูทำให้ท่านเชื่อถึงขนาดนั้น หวังว่าคงไม่ใช่โฆษกจอมหน้าแหกที่เป็นข่าวถูกแฮกข้อมูลอีเมล์เวลานี้นะ แต่จะอย่างไรก็ตาม คำยืนยันจาก ดวงพร รอดพยาธิ อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ ที่พูดถึงราคาข้าวปรับตัวลดลงในช่วงนี้ว่า เป็นไปในทิศทางเดียวกับราคาธัญพืชทุกประเภท ที่มีผลผลิตมากแต่ภาวะการเงินฝืดทำให้กำลังซื้อลดลง เป็นหลักเศรษฐศาสตร์ และการที่ราคาข้าวลดลงไม่ได้เกิดจากการที่มีใครไปกดราคา

ตาสว่างกันทั้งคณะ ไม่ใช่ไปมะงุมมะงาหรากับฝ่ายการเมืองที่ถนัดแต่โยนชั่วให้คนอื่น หากยังไม่เข้าใจในประเด็นเรื่องกลไกของราคาข้าว น่าจะลองไปหาอ่านบทความของ วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ทีดีอาร์ไอ สถาบันที่การันตีว่าไม่ได้อยู่ข้างระบอบทักษิณอย่างแน่นอน

โดยเจ้าตัวได้เขียนเรื่องทฤษฎีสมคบคิดเรื่องการทุบราคาข้าว อธิบายเรื่องการกำหนดราคาไว้อย่างละเอียดยิบ กล่าวคือ สำหรับประเทศที่ส่งข้าวออกที่สำคัญ ถ้ารัฐบาลไม่ได้มีมาตรการที่มีผลทำให้ราคาในประเทศต่างออกไป เช่น เข้าไปรับซื้อ รับจำนำข้าวหรือจ่ายเงินอุดหนุน ราคาในประเทศก็มักถูกกำหนดจากราคาส่งออกหรือที่เรียกกันว่าราคาตลาดโลก ซึ่งในภาคปฏิบัติจะมีหลายราคา เช่น ข้าวไทยจะแพงกว่าข้าวเวียดนามและอินเดีย แต่ปกติราคาข้าวส่งออกจากสามประเทศนี้มักจะเคลื่อนไหวขึ้นลงในทิศทางเดียวกัน

ปกติผู้เล่นที่มีความสำคัญและถือได้ว่าเป็นผู้สร้างผู้กำหนดราคาตลาดโลกก็คือ กลุ่มผู้ค้าและนายหน้าระหว่างประเทศ หรือ International trader/broker กลุ่มเหล่านี้มักมีบทบาทเป็นตัวแทนของผู้ซื้อที่จะไปเจรจาซื้อข้าวและเสนอราคาต่อผู้ส่งออกในประเทศต่างๆ โดยเป็นผู้เสนอราคาซื้อ ถ้าบริษัทผู้ส่งออกตกลงทำสัญญาขาย บริษัทผู้ส่งออกก็มักจะนำราคาดังกล่าวมาทอนเป็นราคาที่จะรับซื้อจากนายหน้าและโรงสีในประเทศ ซึ่งมักจะกำหนดตามกันไปเป็นทอดๆ

แต่เนื่องจากกระบวนการหลักคือ บริษัทผู้ส่งออกไปตกลงทำสัญญารับออเดอร์และมากำหนดและแจ้งราคารับซื้อ ทำให้ในกรณีที่บริษัทไปรับออเดอร์มาในราคาที่ต่ำและแจ้งราคารับซื้อที่ต่ำ มักทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องไม่พอใจและกล่าวหาว่าบริษัทเหล่านี้ไปขายตัดราคาและมากดราคาซื้อในตลาดในประเทศ บางครั้งก็มีการกล่าวหาว่า บริษัทเหล่านี้ต้องการทุบราคาให้ต่ำๆ เพราะทำให้ซื้อง่ายขายคล่องและมีกำไรมากขึ้นจากเงินลงทุนที่น้อยลง เพราะรายได้ของบริษัทมาจากการกินส่วนต่าง ซึ่งไม่ได้ลดลงมากเมื่อราคาข้าวต่ำลง

แต่การที่จะสรุปฟันธงเช่นนี้ก็มีข้อควรคำนึงอย่างน้อยสองข้อคือ ถ้าบริษัทเหล่านี้ไปทำสัญญาขายในราคาต่ำเกินไป แล้วไม่สามารถหาซื้อข้าวในราคาที่ตัวเองจะทำกำไรได้ บริษัทผู้ส่งออกก็จะขาดทุน ซึ่งถ้าเราดูรายชื่อผู้ส่งออกรายใหญ่ในช่วงต่างๆ ก็จะเห็นชื่อที่เปลี่ยนไปพอสมควร ซึ่งหลายรายที่หายหน้าหรือลดบทบาทไปก็เกิดจากการขาดทุนในการเก็งราคาข้าวนั่นเอง

ประการต่อมาเวลาข้าวขาดตลาด บริษัทเหล่านี้ก็ทำสัญญารับออเดอร์มาได้ในราคาที่สูง และราคาข้าวภายในประเทศก็พุ่งสูงตามด้วยเหมือนกัน ซึ่งบ่งชี้ว่า ในกรณีที่เป็นไปได้ ผู้ส่งออกของไทยก็อยากขายข้าวในราคาแพงมากกว่าราคาถูก ขณะที่กรณีโรงสี มักจะมีข้อกล่าวหาเรื่องโรงสีกดราคาหรือหยุดไม่ยอมรับซื้อข้าวเป็นข้อกล่าวหาหลัก

ถ้าพิจารณาจากลักษณะของธุรกิจแล้ว โรงสีเป็นผู้รับภาระความเสี่ยงด้านราคามากกว่าผู้ส่งออกเสียอีก เพราะโรงสีที่มีข้าวอยู่ในมือจะขายข้าวได้ง่ายกว่าโรงสีที่ยังไม่มีข้าว โดยทั่วไปแล้วโรงสีก็จะซื้อข้าวโดยทอนจากราคาที่ได้รับแจ้งจากผู้ส่งออกหรือนายหน้า แต่ถ้าโรงสีหรือตลาดคาดว่าผลผลิตจะออกมามากแล้วราคาจะต่ำลงอีกในอนาคต โรงสีก็มักต้องปรับตัว

วิธีการปรับตัวของโรงสีก็คือ หยุดซื้อข้าวไปก่อนแล้วรอไปซื้อในวันหน้าหรือเดือนต่อๆ ไปที่คาดว่าราคาจะต่ำลง หรือรับซื้อในราคาที่คาดว่าจะต่ำลงในอนาคต โดยทั่วไปแล้ว การเปลี่ยนแปลงราคาที่สำคัญมักจะเกิดในช่วงฤดูใหม่ ซึ่งราคาใหม่จะขึ้นกับการคาดการณ์อนาคตของฝ่ายต่างๆ ซึ่งโดยทั่วไปแล้วอนาคตจะมีทั้งส่วนที่เป็นแนวโน้มที่พอคาดการณ์ได้ล่วงหน้า กับส่วนที่คาดการณ์ได้ยากหรือเกิดขึ้นกะทันหัน เช่น น้ำท่วมหนักในบางปี

ในประเทศที่ระบบข้อมูลไม่ดี โอกาสที่คาดการณ์ผิดหรือเกินความจริงย่อมมีมากกว่า และอาจมีผลทำให้ผู้ที่เกี่ยวข้องใช้วิธีตั้งราคาแบบที่ป้องกันตัวเองไว้ก่อน ทำให้มีความเป็นไปได้มากที่เราจะเห็นราคาขึ้นลงมากกว่าที่ควรจะเป็น หรือเรียกว่า overshoot เช่น กรณีราคาข้าวหอมมะลิ ต่อเมื่อมีข้อมูลที่ชัดเจนขึ้น ราคาก็จะปรับมาสู่จุดที่สมเหตุสมผลมากขึ้น

ในกรณีที่ผู้ที่เกี่ยวข้องขาดข้อมูลที่แม่นยำ บทบาทที่รัฐบาลจะทำได้ดีกว่าคือ การลงทุนสร้างระบบติดตามข้อมูลทางภูมิศาสตร์ที่จะช่วยให้ฝ่ายต่างๆ สามารถคาดการณ์อนาคตได้แม่นยำมากขึ้น ไม่ใช่ไปกล่าวหาหรือชี้หน้าด่าใครต่อใครว่าสมคบคิดกันทุบราคาข้าว ซึ่งเอาเข้าจริงแล้วไม่ว่านักธุรกิจหรือนักการเมืองไทยส่วนใหญ่ไม่ได้มีศักยภาพที่จะทำเช่นนั้นได้ แม้กระทั่งบริษัทธุรกิจเกษตรระดับข้ามชาติของไทยก็เคยคาดการณ์ผิดและเจ็บตัวจากการเก็งตลาดข้าวผิดพลาดในช่วงที่มีการจำนำข้าวมาแล้ว    

ไม่แน่ใจว่าเป็นเพราะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ได้รับข้อมูลจากบทความในเรื่องนี้หรือเปล่า ท่าทีที่เคยแข็งกร้าวต่อการแก้ปัญหาราคาข้าวตกต่ำจึงเปลี่ยนแปลงไป เปลี่ยนไปในลักษณะที่สุขุมคัมภีรภาพมากขึ้น เลิกหงุดหงิด ไม่กล่าวหา มิหนำซ้ำยังกล้าที่จะเอ่ยปากขอโทษ เพราะโดยความเป็นจริงไม่ว่าจะเป็นใครฝ่ายไหนก็ตาม หากได้มาช่วยชาวนาขายข้าวแล้วก็ต้องถือว่ามาทำดีร่วมกัน ไม่เหมือนบางคนบางพวกที่ดีแต่พูด เอาแต่ตำหนิคนอื่นแต่ไม่เห็นลงมือทำอะไร คนพวกนี้แหละสมควรที่ท่านผู้นำต้องเข้าไปจัดการ

Back to top button