ฝันแบบอเมริกันที่แปรเปลี่ยนพลวัต 2016
ชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ คือ นรกสำหรับตลาดเก็งกำไรทั่วโลกวานนี้ ยกเว้นตลาดทองคำแท่ง
วิษณุ โชลิตกุล
ชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ในการได้เป็นว่าที่ประธานาธิบดีคนใหม่ของสหรัฐ คือ นรกสำหรับตลาดเก็งกำไรทั่วโลกวานนี้ ยกเว้นตลาดทองคำแท่ง
การถล่มทลายของดัชนีตลาดหุ้นเอเชีย ยุโรป และดัชนีล่วงหน้าในสหรัฐเมื่อวานนี้ หลังจากรู้แนวโน้มของคะแนนการเลือกตั้ง ไม่ใช่เรื่องน่าประหลาดใจ เป็นไปตามที่มีการประเมินเอาไว้ ส่วนผลกระทบต่อไปข้างหน้าว่า ปฏิกิริยาเชิงลบของตลาดที่มีต่อนายทรัมป์นั้น จะเป็นเรื่องชั่วคราว หรือยาวนาน เป็นสิ่งที่ยังต้องรอให้เกิดขึ้นจริงเสียก่อน
ในเชิงประวัติศาสตร์แล้ว การตัดสินใจของคนอเมริกันส่วนใหญ่ที่เราต้องเคารพในการตัดสินใจมีความหมายอย่างมาก เพราะนับจากนี้เป็นต้นไป สิ่งที่เคยเรียกกันว่า “ความฝันแบบอเมริกัน” (American Dream) จะแปรเปลี่ยนไปอย่างมีนัยสำคัญครั้งใหญ่อีกครั้ง หลังจากการแปรเปลี่ยนมาตามยุคสมัยโดยตลอด
ที่สำคัญ การต่อสู้ระหว่างอุดมคติ “ความฝันแบบอเมริกัน” กับ “อัตลักษณ์เฉพาะแบบอเมริกัน” (American Exceptionism) จะต้องเข้มข้นยิ่งขึ้น ซึ่งผลพวงที่ตามมาหนีไม่พ้นทำให้สังคมอเมริกันไม่ใช่ดินแดนแห่งโอกาสและเสรีภาพสำหรับผู้อพยพต่างแดนอีกต่อไป
คำว่า ฝันแบบอเมริกัน ถือเป็นอุดมคติและบุคลิกภาพของคนอเมริกันทั้งจากมุมมองตนเอง และจากมุมมองของคนภายนอก โดยแต่ดั้งเดิมที่ก่อรูปขึ้นมาโดยอเล็กซิส เดอ ท็อกเกอร์วิลล์ ในคริสต์ศตวรรษที่ 19 และต่อยอดมาทีหลัง โดย เจมส์ ทรัสโลว์ อาดัมส์ เมื่อคริสต์ทศวรรษ 1930 มีองค์ประกอบ 5 ประการคือ ประชาธิปไตย เสรีภาพ โอกาส ความเสมอภาค และบริโภคนิยม
แม้คำนิยามจะค่อนข้างลงตัว แต่การเน้นความสำคัญของปัจจัยที่เป็นองค์ประกอบของความฝัน มีการแปรเปลี่ยนไปมาตามสถานการณ์ของยุคสมัยมาโดยตลอด แต่ที่ดูเหมือนจะเป็นแกนหลักของบุคลิกภาพแบบอเมริกันที่ถือว่าเป็นต้นแบบทางบวกที่จะบรรลุความฝันแบบอเมริกัน ได้แก่ การทำงานหนักเพื่อสร้างโอกาสให้กับอนาคตของตนเองให้บรรลุความรุ่งโรจน์ของชีวิต นับแต่เด็กต้องเรียนหนักเพื่อเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ดี มีงานทำที่ประสบความสำเร็จตามศักยภาพ โดยปราศจากอุปสรรคทางด้านความเชื่อ ชนชั้น การศึกษา วรรณะ ชาติพันธุ์ หรือสีผิว
ต้นแบบสำคัญที่โดดเด่นในการสะท้อนถึงภาพของคนที่แสวงหาความฝันแบบอเมริกัน ได้แก่ ตัวละครในละครชื่อดังของอาร์เธอร์ มิลเลอร์ เรื่อง อวสานของเซลส์แมน คือ วิลลี่ โลแกน ที่ค้นหาเพื่อบรรลุความฝันแบบอเมริกันเป็นเป้าหมายชีวิตสูงสุด
ความฝันแบบอเมริกันที่เมื่อแพร่กระจายไปทั่วโลกแล้ว หนีไม่พ้นความฝันของลัทธิบริโภคนิยม ที่เป็นต้นธารของการตลาดสินค้าเชิงวัฒนธรรมถึง 4 แนวคิดคือ ความฝันว่าด้วยความอุดมของสินค้า (Dream of Abundance) ความฝันของประชาธิปไตยในการบริโภคสินค้า (Dream of a Democracy of Goods) ความฝันว่าด้วยอิสรภาพของทางเลือก (Dream of Freedom of Choice) และความฝันว่าด้วยประดิษฐกรรมใหม่ (Dream of Novelty)
ด้านมืดดังกล่าว เปรียบเสมือนหน้ากากชวนให้สยดสยองสำหรับคนที่ไม่ได้เป็นอเมริกัน และไม่สามารถเข้าถึงแกนกลางของความฝันแบบอเมริกัน เพราะบดบังด้านบวกของมันไปเกือบหมดสิ้น
นับแต่นโยบายต่างประเทศของสหรัฐหลังสงครามโลกครั้งแรก แปรเปลี่ยนจากการหมกมุ่นกับเขตอิทธิพลส่วนตัวของอเมริกัน ของลัทธิมอนโร มาเป็นการเป็นผู้เล่นที่กระตือรือร้นในฐานะผู้รักษาสันติภาพของโลก ความฝันแบบอเมริกันถูกเผยแพร่ออกไปในฐานะต้นแบบใหม่ของมหาอำนาจยุคใหม่ที่เข้ามาแทนรูปแบบเก่าๆ ของระบอบอาณานิคม
หลังสงครามโลกครั้งที่สอง สหรัฐขยายพรมแดนของความฝันแบบอเมริกันในช่วงโลกอยู่ภายใต้แรงกดดันของของสงครามเย็น และข้อตกลงเบรตัน วูด เพื่อสร้างกติกาโลกขึ้นมาใหม่ ให้กลายเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมแบบอเมริกัน ในฐานะวิถีชีวิตที่เหนือกว่าผู้คนใต้วัฒนธรรมของคอมมิวนิสต์โซเวียต
เมื่อสหรัฐไม่สามารถเอาชนะในทางการทหารในเวียดนามได้ และจำต้องฉีกข้อตกลงเบรตันวูดเพื่อให้ค่าดอลลาร์ลอยตัว ทางออกในลักษณะ “ถอยเพื่อรุก” ของการรักษาความยิ่งใหญ่ด้วยการบีบคั้นให้กลุ่มโอเปกที่มีซาอุดีอาระเบียเป็นแกนหลัก ยอมรับเอาเงินสกุลดอลลาร์เป็นเงินตราสากลของโลกในการค้าน้ำมันดิบ ทำให้สามารถประคองรักษาความฝันแบบอเมริกันเอาไว้ได้ จนกลับมารุ่งเรืองอีกครั้งเมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายในคริสต์ทศวรรษ 1990
ภายใต้ฉันทามติวอชิงตัน หรือ Washington Consensus สหรัฐในฐานะมหาอำนาจเดี่ยวของโลกหลังสงครามเย็นสิ้นสุดลง พยายามส่งออกความฝันแบบอเมริกันส่วนของ ประชาธิปไตย เสรีภาพ โอกาส และความเสมอภาคไปยังชาติต่างๆ ในฐานะ “ระเบียบโลกใหม่” ใต้กระแสโลกาภิวัตน์
การส่งออกความฝันแบบอเมริกันในกรอบของฉันทามติวอชิงตัน ดำเนินไปได้ไม่นานก็มีปฏิกิริยาทางลบเกิดขึ้นในขอบเขตทั่วโลกจากปัญหาทางเศรษฐกิจในช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งในเอเชียที่ลุกลามไปทั่วโลก และลามไปยังเรื่องการเมืองอื่นๆ ก่อนที่จะย้อนกลับมาเป็นวิกฤตซับไพรม์ในใจกลางของโครงสร้างสหรัฐเองเมื่อ 8 ปีก่อน
ปัญหาที่เรื้อรังและยาวนานไม่เห็นทางออกชัดเจน และไม่สามารถสร้างมหัศจรรย์ใหม่ขึ้นมาสร้างความหวังในอนาคตได้ ทำให้ความฝันแบบอเมริกันภายใต้ฉันทามติวอชิงตันเริ่มเสื่อมค่าลง และสะท้อนออกมาเป็นการกลับมาหมกมุ่นเข้าหาตนเองครั้งใหม่ โดยมีข้อเสนอของนายทรัมป์เป็นตัวแทนเชิงสัญลักษณ์ทางจิตสำนึก ที่สะท้อนว่า ความฝันแบบอเมริกันจากนี้ไปไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว
เมื่อใดก็ตามที่การค้นหาอนาคตจากการท่องโลกมีต้นทุนความสูญเสียของตัวเองมากเกินไป การกลับเข้ามาสร้าง “พื้นที่แห่งความปลอดภัย” จึงเป็นจิตสำนึกใหม่ของคนอเมริกัน ท่ามกลางความว้าวุ่นจากความรู้สึกว่าโลกในกำมือนั้น หดแคบลงไป จึงเป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่พ้น
เมื่อความฝันแบบอเมริกันแปรเปลี่ยน มุมมองของคนอเมริกันต่อสังคมโลก ก็คงต้องไม่เหมือนเดิม ในทางตรงกันข้าม มุมมองของชาวโลกต่อคนอเมริกัน ก็คงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย ส่วนจะดีขึ้นหรือแย่ลง ขึ้นกับมุมมองที่ต่างกันไป ซึ่งเป็นเรื่องของอนาคต ที่คาดเดายาก