พาราสาวะถี อรชุน
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ชัยชนะตกเป็นของ โดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน หักปากกาเซียนทั่วโลกและโพลทุกสำนัก จากการที่ให้ ฮิลลารี คลินตัน เป็นผู้นำในหน้าสื่อมาโดยตลอด จึงไม่แปลกที่หลังทราบผลอย่างเป็นทางการ ปรากฏการณ์ของการพาดหัวข่าวไม่ว่าจะเป็นสื่อที่อเมริกาหรือทั่วโลกจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันนั่นก็คือ “ช็อก”
ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา ชัยชนะตกเป็นของ โดนัลด์ ทรัมป์ จากรีพับลิกัน หักปากกาเซียนทั่วโลกและโพลทุกสำนัก จากการที่ให้ ฮิลลารี คลินตัน เป็นผู้นำในหน้าสื่อมาโดยตลอด จึงไม่แปลกที่หลังทราบผลอย่างเป็นทางการ ปรากฏการณ์ของการพาดหัวข่าวไม่ว่าจะเป็นสื่อที่อเมริกาหรือทั่วโลกจึงเป็นไปในทิศทางเดียวกันนั่นก็คือ “ช็อก”
เห็นอาการช็อกดังว่าแล้วตามมาด้วยการชุมนุมประท้วงไม่ยอมรับว่าที่ประธานาธิบดีของอเมริกันชนบางส่วน ชวนให้คิดถึงปรากฏการณ์การไม่ยอมรับกระบวนการประชาธิปไตยในบางประเทศ แน่นอนว่า คนที่ออกมาล้วนแล้วแต่เป็นพวกที่มีการศึกษาหรือที่เรียกกันว่าชนชั้นกลางค่อนไปทางชั้นสูง นี่เป็นภาพสะท้อนอะไรบางอย่าง พฤติกรรมของคนเหล่านี้ไม่ต่างกัน ไม่ว่าจะในประเทศศิวิไลซ์หรือกำลังพัฒนา
นั่นคงเป็นเพราะว่า คนเหล่านี้คิดว่าตัวเองแน่ คิดว่าตัวเองมีพลัง มีการศึกษาที่ดีกว่าคนส่วนใหญ่ ซึ่งเป็นพลังเงียบ ดังนั้น เมื่อผลของการเลือกตั้งออกมาจึงแสดงความไม่พอใจอย่างรุนแรง เป็นการกลบเกลื่อนความผิดหวังของตัวเองในรูปแบบลักษณะของพวกเอาแต่ใจ หากเทียบเคียงในประเทศไทยก็คงเหมือนกับด๊อกแต๋วบางรายที่บอกว่าคะแนนเสียงหลายล้านของคนต่างจังหวัดไม่เท่ากับ 3 แสนเสียงในกรุงเทพฯนั่นเอง
ทั้งๆ ที่ตามหลักประชาธิปไตยทุกคนมีหนึ่งสิทธิ์หนึ่งเสียงเท่ากัน ไม่ว่าจะยากดีมีจน ไร้การศึกษาหรือจบเป็นด๊อกเตอร์ด๊อกแต๋วมาจากไหนก็ตาม ด้วยเหตุนี้คำพูดของ สุรชาติ บำรุงสุข ที่เคยนำเสนอไปก่อนหน้านั้นจึงน่าจะเป็นสิ่งที่ตรงจุด และภาพของปัญหาอันแท้จริงที่ผู้มีอำนาจควรจะต้องเข้าไปแก้ไขนั่นก็คือ คนชั้นกลางไม่เอาประชาธิปไตย
ขบวนการรวมหัวจากการขับไล่ ทักษิณ ชินวัตร จนมาถึง ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร การบอยคอตเลือกตั้งเมื่อปี 2549 จนมาถึง 2557 และการลาออกจากความเป็นส.ส.ไปก่อม็อบข้างถนน เป็นบทพิสูจน์ของการไม่ยึดหลักการของระบอบประชาธิปไตยได้เป็นอย่างดี แม้ผู้หลักผู้ใหญ่ของพรรคการเมืองดังว่าจะประกาศหลักการสวยหรู ยึดระบบรัฐสภาก็ตาม
ความจริงแล้ว ความกลัวของอเมริกันชนที่มีต่อทรัมป์นั้น เป็นเพียงการมองจากภาพลักษณ์ภายนอกผ่านการประกาศนโยบายและท่วงทำนองในการหาเสียงรวมทั้งการดีเบตบนเวทีที่ต้องปะทะกับมาดามคลินตันเท่านั้น โดยไม่ได้มองอีกมุมหนึ่งว่า หลังการเข้ามาทำหน้าที่ประธานาธิบดีคนที่ 45 แล้ว บางเรื่องทรัมป์อาจทำไม่ได้เพราะมันเป็นแง่มุมของข้อกฎหมาย ซึ่งมันไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปล่อยผ่านกันง่ายๆ
ท่าทีที่เปลี่ยนไปของทรัมป์เห็นได้ชัดเจนจากถ้อยแถลงหลังคว้าชัย หนึ่งคืออ่อนโยนอย่างยิ่งต่อการแสดงความเสียใจต่อคลินตันผู้พ่ายแพ้ พร้อมประโยคที่ว่า ฮิลลารีได้ทำงานอย่างยาวนานและทำงานหนักตลอดช่วงระยะเวลานี้ และเราก็รู้สึกซาบซึ้งในสิ่งที่เธอได้ทำให้กับประเทศนี้ นี่เป็นความเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นของคนที่หยาบกระด้างหลังประสบชัยชนะ
ไม่เพียงเท่านั้น ว่าที่ผู้นำคนใหม่ยักษ์ใหญ่ของโลก ยังประกาศเรื่องของการสร้างเศรษฐกิจของอเมริกาให้เข้มแข็ง และจุดยืนที่น่าจะเป็นจุดแข็งสำหรับนโยบายในการหาเสียงครั้งนี้นั่นก็คือ การทำให้ความสำคัญกับผลประโยชน์ของอเมริกันชนมาเป็นอันดับ 1 แต่ในการประกาศชัยชนะทรัมป์เพิ่มเติมในสิ่งที่คนส่วนใหญ่อยากได้ยินว่า เราจะให้ความสำคัญกับทุกๆ คนด้วย
นี่ไงคือสิ่งที่กูรูหลายรายบอกไว้ก่อนหน้านี้ แม้ทรัมป์จะดูแข็งกร้าว ปากกล้า ไม่เกรงใจใคร แต่หากเขาประสบชัยชนะ มหาเศรษฐีผู้ที่ผ่านการล้มลุกคลุกคลานมาหลายหน ย่อมพร้อมที่จะปรับเปลี่ยนท่าทีและบทบาท เพราะบางสิ่งบางอย่างนั้นในแง่มุมของธุรกิจสามารถทำได้หรือตัดสินใจด้วยตัวเอง แต่ในมิติทางการเมืองบางเรื่องต้องอาศัยความรอบคอบและต้องปรึกษากันหลายตลบ
เมื่อพิจารณาจากท่าทีล่าสุดของทรัมป์ประกอบกับการหายตกใจ นั่นจึงทำให้ตลาดหุ้นทั่วเอเชียเปิดตัวปรับขึ้นมาในแดนบวกเมื่อวานนี้ การปรับตัวขึ้นในแดนบวกของหุ้นในเอเชียสอดรับกับการปรับตัวขึ้นของหุ้นในสหรัฐฯและยุโรปก่อนหน้านี้ โดยดัชนีนิเกอิของญี่ปุ่นปรับขึ้น 6% ซึ่งมากกว่าที่ตกไปก่อนหน้านี้ ส่วนดัชนีฮั่งเส็งของฮ่องกงก็เพิ่มขึ้น 1.8% ที่ออสเตรเลียปรับขึ้น 2.8%
ขณะที่ดัชนีดาวโจนส์เพิ่ม 1.4% เอสแอนด์พี 500 ปรับขึ้น 1.11% แนสแด็กปรับขึ้น 1.11% เช่นเดียวกับดัชนีไฟแนนเชียลไทม์ส ของอังกฤษ ที่ตกลงไป 2% เมื่อเปิดตลาดแต่ปิดเพิ่มขึ้น 1% ส่วนที่ฝรั่งเศสและเยอรมนีก็ปรับเพิ่ม 1.5% หลังจากที่ตกลงไป 2% เมื่อเปิดตลาด โดยนักวิเคราะห์มองว่าหลังตกอยู่ในภาวะช็อกเมื่อทราบข่าว ขณะนี้นักลงทุนดูเหมือนจะรู้สึกว่ารัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของทรัมป์น่าจะเป็นผลดีต่อธุรกิจในประเทศ
อันเนื่องมาจากนโยบายปรับลดอัตราภาษีและลดกฎระเบียบที่ทำให้เกิดปัญหา ขณะที่อีกส่วนหนึ่งน่าจะมาจากถ้อยแถลงของทรัมป์หลังได้รับชัยชนะ ที่เรียกร้องให้สร้างความเป็นหนึ่งเดียวในชาติ ซึ่งช่วยลดความหวาดวิตกของตลาดไปได้บางส่วน เรียกได้ว่าท่วงทำนองของท่านว่าที่ประธานาธิบดีช่วยลดภาวะหวาดกลัวที่เกิดขึ้นก่อนหน้านั้นไปไม่น้อยทีเดียว
ส่วนประเทศไทย คงไม่ต้องสนใจอะไรต่อความเปลี่ยนแปลงที่ทั้งโลกเขาหวั่นวิตก เพราะ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ประกาศไว้ก่อนหน้านั้นแล้ว ไม่ว่าใครจะขึ้นมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ รัฐบาลคสช.ก็ไม่ห่วง เพราะยึดแนวนโยบายเรื่องของความเป็นไทยเป็นหลัก มิหนำซ้ำ ยังมียุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีที่เตรียมการไว้แล้ว ทุกอย่างจึงไร้ปัญหา
เดิมทีหากยึดโยงในสิ่งที่ทรัมป์ได้ประกาศในช่วงหาเสียง ก็อาจจะเบาใจได้สำหรับประเทศไทย เพราะดูเหมือนว่าเขาจะไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องการต่างประเทศและไม่สนใจเรื่องของประชาธิปไตยมากเท่าไหร่ แต่เมื่อได้ฟังถ้อยแถลงในการประกาศชัยชนะ ดูเหมือนว่าอาจจะต้องกลับมาคิดกันใหม่ โดยเฉพาะเรื่องความเป็นประชาธิปไตย ใครที่คิดว่าจะเล่นบทตีเนียนเลือกตั้งเมื่อไหร่ก็ได้หรือเลือกตั้งแล้วไม่เป็นประชาธิปไตยในแบบสากล อาจต้องคิดกันใหม่ แหกตาคนไทยด้วยกันได้แต่จะไปหลอกประเทศที่เขาเป็นประชาธิปไตยที่ถูกต้องนั้นยาก