อนาคตของเฟดพลวัต ปี 2016

หนึ่งในปมประเด็นแทรกซ้อนเข้ามาจากชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ที่ว่าชะตากรรมของนางเจเน็ต เยลเลน และธนาคารกลางของสหรัฐ


วิษณุ โชลิตกุล

 

หนึ่งในปมประเด็นแทรกซ้อนเข้ามาจากชัยชนะของนายโดนัลด์ ทรัมป์ อยู่ที่ว่าชะตากรรมของนางเจเน็ต เยลเลน และธนาคารกลางของสหรัฐ

สำหรับนางเยลเลน การคาดเดาว่า หลังจากนายทรัมป์ขึ้นเป็นประธานาธิบดีหลังเดือนมกราคมปีหน้าเป็นต้นไป เก้าอี้ของประธานเฟดจะยังคงแข็งแกร่งแค่ไหน เพราะนายทรัมป์เคยประกาศว่า หากได้เป็นประธานาธิบดีจะปลดนางเยลเลนออก เพราะเข้าข้างพรรคเดโมแครต

สำหรับเฟด คำถามว่า “ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” ในการกำหนดนโยบายการเงินของประเทศที่แยกออกจากนโยบายการคลังจะยังคงแข็งแกร่งประดุจภูผาต่อไปได้หรือไม่ เป็นเรื่องใหญ่และเคร่งเครียดอย่างมาก

เพียงแค่มีคนตั้งประเด็นว่า ในเดือนธันวาคมที่จะถึงนี้ เฟดจะยังคงไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ย ก็สะเทือนถึงใจกลางของปรัชญาของธนาคารกลางมากทีเดียว

นางเยลเลน นักเศรษฐศาสตร์การเงินอเมริกันเชื้อสายยิวเป็นอาจารย์สอนเศรษฐศาสตร์การเงินและแรงงาน ยาวนานในฮาร์วาร์ด สลับ LSE ในลอนดอน ได้ชื่อว่าเป็นผู้ว่าเฟดสตรีคนแรกซึ่งก็ไม่แปลกสำหรับสังคมอเมริกัน เพราะก่อนหน้านี้สตรีที่เด่นดังก็ ไม่ว่าจะเป็น แมดเดอลีนอัลไบร์ท หรือ คอนโดลีซซา ไรซ์ หรือ ฮิลลารีคลินตัน ในตำแหน่งรัฐมนตรีต่างประเทศต่างยุคกัน และอดีตเลขาธิการก.ล.ต. (SEC) ของสหรัฐ แมรี่ ชาร์ปิโร่ก็ได้ชื่อว่าเป็นเลขาธิการโดดเด่นที่สุดมาแล้ว

หากเป็นที่อื่น นางเยลเลนจะถูกปลด หรือลาออกจริง ก็คงเป็นเรื่องปกติ เนื่องจากในเส้นทางของการแต่งตั้งนั้น ผ่านมาทางพรรคเดโมแครต แต่ก็เป็นเรื่องแปลกในสหรัฐ  เพราะก่อนหน้านี้ นายอลัน กรีนสแปน ก็ได้รับแต่งตั้งโดยประธานาธิบดี บิล คลินตัน จากพรรคเดโมแครตมาก่อนเช่นกัน แต่ก็ไม่ถูกปลดเมื่อการเมืองเปลี่ยนขั้ว

หากมีการปลดนางเยลเลนจริง ก็เท่ากับ ทำเนียบขาวยื่นมือเข้าแทรกแซงเฟดโดยตรง ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่กว่า

ในขณะที่อนาคตของเฟดภายใต้นายทรัมป์นั้น เป็นคำถามที่หนักหนายิ่งกว่า เพราะที่ผ่านมา ถือกันว่าเฟดคือ ”เสาหลัก” ในการกำหนดนโยบายการเงินที่ปราศจากการแทรกแซงของทำเนียบขาวมาโดยตลอด เป็นหลักการที่ยอมรับกัน และถือว่า เป็นเสาหลักที่ทำให้เสถียรภาพทางการเงินมั่นคง ฝ่าวิกฤตมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า

ไม่พียงเท่านั้น ในช่วงหลังวิกฤตซับไพรม์ 8 ปีที่ผ่านมา เฟดถือว่ามีส่วนกอบกู้ฐานะของเศรษฐกิจอเมริกันให้ดีขึ้นมาโดยตลอด จากมาตรการ QE และการตรึงอัตราดอกเบี้ยให้ต่ำติดพื้น

มาตรการ QE ได้รับการหยิบยืมและนำไปดัดแปลงที่ยุโรปและญี่ปุ่น ซึ่งทำการพิมพ์เงินออกมามหาศาลต่อปี มากกว่าที่เฟดเคยกระทำมา จนกลายเป็นแรงกดดันให้เฟดต้องทบทวนว่าจะขึ้นดอกเบี้ย และต่อสู้กันภายในมาต่อเนื่อง

นับจากการขึ้นดอกเบี้ยเมื่อเดือนธันวาคมปีก่อน อันเป็นครั้งสุดท้ายที่ถือว่าเป็นการ โยนก้อนหินถามทาง” เพื่อทดสอบท่าทีของตลาด ก็ปรากฏว่า ผลลัพธ์ไม่เป็นที่น่าพึงพอใจ จนทำให้ คณะกรรมการเฟดพยายามยื้อเวลาอย่างสุดฤทธิ์มานานถึง 11 เดือน เพื่อให้มั่นใจว่า การจ้างงานและเป้าหมายเงินเฟ้อจะบรรลุเป้าหมาย ท่ามกลางแรงกดดันของคนที่รู้สึกว่า อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ต่ำติดพื้นระดับ 0% ของเฟดนานเกิน ฝืนธรรมชาติของกลไกตลาด อาจนำไปสู่สภาวะฟองสบู่ของเศรษฐกิจ ทำนองเดียวกับที่เฟด ยุคนายอลัน กรีนสแปน เคยกดดอกเบี้ยต่ำนานเกิน จนเป็นรากเหง้าของวิกฤตซับไพรม์มาแล้ว

มุมมองของตลาดเงินและตลาดทุนในสหรัฐปัจจุบันบางส่วน ถือว่าขณะนี้ค่าดอลลาร์อ่อนเกินจริง ซึ่งไม่เป็นผลดีต่อเศรษฐกิจ เพราะแม้ดอลลาร์ต่ำจะช่วยให้การส่งออกสินค้าของสหรัฐดีขึ้นต่ำ แต่ขีดจำกัดในการแข่งขันของภาคการผลิตสินค้า มีคุณูปการต่อเศรษฐกิจน้อยกว่าความได้เปรียบในสินค้าบริการทางการเงินในตลาดโลก

ค่าดอลลาร์ที่ต่ำเกิน เปิดช่องให้ธุรกิจและชาติต่างๆ ในโลก โดยเฉพาะญี่ปุ่น และจีน อาศัยประโยชน์จากอัตราดอกเบี้ยสหรัฐต่ำ กู้ยืมเงินจากตลาดในรูปดอลลาร์ทำกำไรผ่าน ดอลลาร์ แคร์รี่ เทรด และลดต้นทุนการเงินต่อเนื่องตลอดหลายปีนี้

ทางเลือกที่ดีกว่า ในมุมมองของวอลล์สตรีท และนักเศรษฐศาสตร์การเงิน คือ เฟดต้องขึ้นดอกเบี้ยเพื่อให้ดอลลาร์แข็งขึ้น เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐเริ่มฟื้นตัวจนถึงระดับที่เรียกว่า “มวลวิกฤต” เพื่อทำให้ชาติที่เคยชินกับ ”โอกาส” ในการกู้ยืมต้นทุนต่ำในรูปดอลลาร์ มาเผชิญกับ ”ภาระ” แทน เพราะต้นทุนกู้เงินดอลลาร์จะแพงเกินจนไม่คุ้มอีกต่อไป แล้วจากนั้นชาติเหล่านั้น จะต้องเปลี่ยนสถานะของการถือเงินสกุลดอลลาร์ มาเป็นการเก็งกำไรแทน ทำให้สหรัฐสามารถครอบงำตลาดโลกได้เต็มที่

ท่าทีโลเลของเฟด ถูกมองจากนักการเมืองอนุรักษนิยมในพรรครีพับลิกันอย่างคับข้องใจมาตลอด และนายทรัมป์เองก็เป็นตัวแทนพรรคที่ชูข้อเสนอมาอย่างชัดเจนว่า นอกจากการปลดนางเยลเลน อันเป็นแค่ปฏิบัติการเชิงสัญลักษณ์เพื่อแสดงอำนานเหนือเฟดแล้ว ปฏิบัติการลดอำนาจของเฟดในการกำหนดนโยบายการเงิน เป็นเป้าหมายใหญ่กว่าที่ต้องกระทำ

ข้อเสนอของนายทรัมป์ ที่จะให้ยกเลิกกฎหมายปฏิรูปการเงินสำคัญล่าสุดคือ Dodd-FrankAct 2012 ก็มีสาระสำคัญส่วนหนึ่งที่ต้องการลด ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” อย่างเฟดลงไปอย่างมีนัยสำคัญ

หากนายทรัมป์ดำเนินการอย่างที่ว่าจริง หลักปรัชญาของธนาคารกลางทั้งหลายที่พยายามอ้างเฟดมาตลอดใน 2 ทศวรรษที่ผ่านมาว่าด้วย ”ความเป็นอิสระของธนาคารกลาง” คงสั่นคลอนรุนแรงไม่น้อย

หากนายทรัมป์บรรลุเป้าหมายได้สำเร็จ จะเป็นการ รุก” ทางอำนาจที่มากกว่าปฏิบัติการ เด็ดดอกไม้ สะเทือนถึงดวงดาว” อย่างมีความหมายลึกซึ้งยิ่ง

Back to top button