ทรัมป์และเรแกนโนมิกส์กลายพันธุ์

ทีมงานเปลี่ยนผ่านอำนาจของทรัมป์ เริ่มดำเนินการอย่างเต็มที่และมั่นใจว่าฉันทามติหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งชัยชนะของพรรครีพับลิกัน มากเพียงพอสำหรับการขับเคลื่อนโยบาย ที่จะฟื้นคืนความยิ่งใหญ่ของอเมริกาเหนือโลก หรือ Pax Americana ได้อย่างราบรื่น


พลวัต 2016 : วิษณุ โชลิตกุล

 

ทีมงานเปลี่ยนผ่านอำนาจของทรัมป์ เริ่มดำเนินการอย่างเต็มที่และมั่นใจว่าฉันทามติหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งชัยชนะของพรรครีพับลิกัน มากเพียงพอสำหรับการขับเคลื่อนโยบาย ที่จะฟื้นคืนความยิ่งใหญ่ของอเมริกาเหนือโลก หรือ Pax Americana ได้อย่างราบรื่น

นอกเหนือจากนโยบายต่างประเทศที่เราจะได้ตระหนักการหวนคืนสู่อำนาจครั้งใหม่ของกลุ่มนีโอคอนส์สหรัฐแล้ว เราจะได้เห็นการกลับมาของ “เรแกนโนมิกส์กลายพันธุ์” ที่ชัดเจนยิ่งขึ้น

เรแกนโนมิกส์ คือ นโยบายเศรษฐกิจแบบซัพพลายไซด์ (supply-sided economics) ที่เน้นการสร้างอุปทานเพื่อขับเคลื่อนอุปสงค์ของตลาดสินค้าและบริการ ด้วยมาตรการหลัก 2 ด้านพร้อมกัน คือ 1) ลดภาษีธุรกิจและคนรวย (แต่อ้างว่าลดให้คนชั้นกลางเป็นหลัก) 2) ผลักดันให้มีผู้ว่าการเฟด “สายเหยี่ยว” ออกมาตรการดันดอกเบี้ยสูง เพื่อให้ดอลลาร์แข็งค่าเพื่อรักษาความได้เปรียบทางการเงินของตลาดเงินและวอลล์สตรีท ด้วยข้ออ้างเพื่อสกัดอัตราเงินเฟ้อที่รุนแรง ทำให้เงินทุนทั่วโลกไหลกลับเข้าสหรัฐเพื่อทำแครี่ เทรด

มาตรการแรก มีชื่อเสียงลือลั่นกับ ข้อเสนอทางเศรษฐศาสตร์ที่เรียกว่า Laffer Curve ผสมกับมาตรการ “อุ้มคนรวยเพื่อช่วยคนจน” หรือ Trickle-down Effect

Laffer Curve (ดูกราฟประกอบ) ระบุว่า การลดภาษีในระดับที่เหมาะสม ในยามที่การลงทุนเอกชนถดถอยลง ต่ำกว่าอัตราเพิ่มของเงินอัดฉีดจากภาครัฐ เพราะไม่อาจจะทนต่อการเสียภาษีที่เพิ่มขึ้นได้ จะช่วยให้เอกชนลงทุนเพิ่มมากขึ้นเพราะมีแรงจูงใจที่ดีขึ้น 

ส่วนมาตรการ “อุ้มคนรวย เพื่อช่วยคนจน” คือการลดภาษีคนรวยและนิติบุคคลเพื่อทำให้เกิดการลงทุนที่เพิ่มขึ้น ท้ายสุดจะลงไปสู่การจ้างงานและค่าเฉลี่ยของค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นโดยปริยาย

ส่วนมาตรการขึ้นดอกเบี้ยดึงเงินทุนไหลกลับสหรัฐนั้น เป็นมาตรการเก่าแก่ที่ทำมาหลายครั้ง โดยเฉพาะครั้งที่ขึ้นดอกเบี้ยมหาโหดสุดในช่วงเรแกนโนมิกส์ ที่เป็นผลดีในระยะแรก และสร้างหายนะในช่วงท้าย และยังมีส่วนทำลายล้างพลังอำนาจของสหภาพโซเวียตยุคหลังนายลีโอนิก เบรสเนฟ จนย่อยยับ

ในช่วงแรกของเรแกนโนมิกส์อันโด่งดัง ดัชนีตลาดหุ้นนิวยอร์กเป็นภาวะกระทิงนานนับปี ก่อนที่ดอลลาร์ซึ่งแข็งค่ารุนแรงเทียบกับเงินสกุลอื่นอย่างดอยช์มาร์กปอนด์สเตอร์ลิงเฟรนช์ฟรังก์และเยนญี่ปุ่น มากถึง 55% (ธนาคารกลางทั่วโลกก็พากันกว้านซื้อดอลลาร์เข้าเก็บผ่านการแทรกแซงตลาดเงินแข็งขัน) ทำให้สหรัฐขาดดุลการค้าและดุลบัญชีเดินสะพัดเรื้อรัง นานถึง 5 ปีระหว่างค.ศ.1980-1985 โดยดุลบัญชีเดินสะพัดในกลางปี 1985 ขาดดุลถึง 3.5% ของจีดีพีเข้าขั้นอันตราย

บริษัทอเมริกันขายสินค้าไม่ออกและสินค้านำเข้าตีตลาดสหรัฐกระจุยจึงมีเสียงเรียกร้องให้รัฐสภาสหรัฐเร่งออกกฎหมายต่อต้านการนำเข้าหรือปกป้องการค้าทุกรูปแบบ

แรงกดดันจากหายนะของเรแกนโนมิกส์ยุคปลาย ที่สร้างขึ้นมาโดยพรรครีบพับลิกัน ภายใต้คำขวัญนำอเมริกากลับมายิ่งใหญ่ครั้งใหม่ ทำให้ทำเนียบขาวในยุคประธานาธิบดี จอร์จ บุช คนพ่อ จำต้องเรียกประชุม 5 ชาติมหาอำนาจเศรษฐกิจโลกยามนั้น เพื่อต่ออายุความยิ่งใหญ่ของอเมริกาให้ยาวนานออกไป 

ผลการประชุม ที่โรงแรมพลาซ่านิวยอร์กเพื่อหาทางออกค่าดอลลาร์แข็งเกินยื่นข้อเสนอให้ชาติมหาอำนาจอีก 4 แห่งเลือกเอาว่าหากไม่ต้องการให้ร่างกฎหมายปกป้องการค้าผ่านรัฐสภาอเมริกันชาติต่างๆต้องยินยอมช่วยกันขายเงินดอลลาร์อเมริกันที่ถือไว้ออกจากมือเพื่อให้ดอลลาร์เสื่อมค่าลงโดยยอมแลกกับความเสียหายจากการส่งออกของทั้ง 4 ชาติ เป็นที่มาของข้อตกลง “พลาซ่าแอคคอร์ด” อันลือลั่นที่ทำให้ทุนญี่ปุ่นล่มสลายและย้ายแหล่งไปมายังไทยมหาศาลในยุครัฐบาลชาติชายของไทยจนเกิดเป็นฟองสบู่ของทุนไหลเข้าครั้งแรก

ประวัติการณ์ของเรแกนโนมิกส์ในอดีตที่มีท่าหวนย้อนคืนมาในยุคของโดนัลด์ทรัมป์แม้ว่าจะทำให้ในระยะสั้นดัชนีดาวโจนส์ขานรับเชิงบวกสวนทางกับราคาพันธบัตรที่ร่วงหนักเพราะอัตราผลตอบแทนที่พุ่งขึ้นในขณะที่นักลงทุนและนักการเงินที่เข้าใจประวัติศาสตร์ดีเริ่มทบทวนท่าทีใหม่ว่าการถอดรื้อกฎหมายสำคัญทางการเงินอย่าง Dodd-Frank Act ซึ่งสอดรับกับแนวทางลดภาษีทุนใหญ่ของทรัมป์ตามนโยบายอุ้มคนรวยเพื่อช่วยคนจนอาจลากจูงตลาดเงินกลับไปสู่ยุคดอลลาร์แข็งระลอกใหม่อย่างเลี่ยงไม่พ้น

วันศุกร์ที่ผ่านมาสัญญาณทุนไหลออกจากตลาดเกิดใหม่ถูกจุดปะทุให้เกิดขึ้น ส่งผลให้ธนาคารกลางมาเลเซียและอินโดนีเซียต้องตัดสินใจเข้าแทรกแซงตลาดปริวรรตเงินเพื่อสกัดการทรุดตัวลงของค่าเงินหลังจากพบว่าค่าเงินริงกิตของมาเลเซียร่วงลง 1% แตะระดับต่ำสุดในรอบ 9 เดือนครึ่งขณะที่ค่าเงินรูเปียของอินโดนีเซียดิ่งลงกว่า 2.5% สู่ระดับต่ำสุดในรอบ 4 เดือนครึ่ง

สำหรับค่าบาทที่ล่าสุดอ่อนยวบเหนือ 35.35 บาทต่อดอลลาร์ภายใน 3 วันเมื่อคืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ยังเป็นแค่จุดเริ่มต้นเท่านั้นเพราะความตื่นตระหนกดังกล่าวมีโอกาสที่จะเกิดกับตลาดเงินไทยได้ง่าย

การไหลออกของทุนต่างชาติหรือฟันด์โฟลว์ไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ทั่วโลกหันไปถือดอลลาร์หรือตราสารหนี้รัฐบาลอเมริกันแทนมากถึง 1 ล้านล้านดอลลาร์ในสัปดาห์เดียวเป็นข่าวดีสำหรับตลาดเก็งกำไรในสหรัฐอย่างปราศจากข้อสงสัย

ในทางตรงกันข้ามฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่ไหลออกมากกว่า 1.5หมื่นล้านบาทจากตลาดหุ้นไทยและมากกว่านั้นในตลาดตราสารหนี้ในครึ่งแรกของเดือนพฤศจิกายนนี้อาจจะยังเป็นสัดส่วนไม่มากมายในตลาดหุ้นไทยแต่ไม่ได้หมายความจะมีข่าวดีรออยู่ข้างหน้า

คำปลอบโยนแบบ มะนาวหวาน ของผู้ที่เกี่ยวข้องกับตลาดหุ้นไทยยามนี้ไม่ได้บอกข้อเท็จจริงที่กำลังดำเนินไปอะไรเลยอาจทำให้เกิดการหลงผิดได้ง่ายด้วยซ้ำไป

ช่วงเวลาของความปั่นป่วนจากปรากฏการณ์ของทรัมป์ (Thrump Effect) ยังแค่เริ่มต้นเท่านั้นความปั่นป่วนที่มากกว่ายังจะตามมาอีกหลายระลอก

ส่วนจุดจบของนโยบายทรัมป์จะเหมือนกับเรแกนโนมิกส์หรือไม่ยังต้องจับตาเพื่อพิสูจน์ในอนาคต

Back to top button