หยวน กับ ดอลลาร์พลวัต 2016

เมื่อวานนี้ ค่าเงินหยวนของจีน อ่อนที่สุดเทียบกับค่าดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดในรอบ 8 ปี กับ 5 เดือน เป็นค่าที่อ่อนสุดนับตั้งเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา


เมื่อวานนี้ ค่าเงินหยวนของจีน อ่อนที่สุดเทียบกับค่าดอลลาร์สหรัฐ มากที่สุดในรอบ 8 ปี กับ 5 เดือน เป็นค่าที่อ่อนสุดนับตั้งเดือนมิถุนายน ค.ศ. 2008 เป็นต้นมา

เปิดตลาดมาเช้าวานนี้ ค่าหยวนอยู่ที่ระดับ 6.8291 หยวนต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ แต่ตกบ่ายค่าหยวนอ่อนต่อไปที่ระดับ 6.8384 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ที่น่าสนใจคือ ค่าหยวนที่อ่อนลงนี้ เกิดจากการกำหนดขึ้นโดย China Foreign Exchange Trading System (CFETS) โดยที่ผ่านมา อัตราค่ากลางสกุลเงินหยวนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐ อิงกับราคาเฉลี่ยแบบถ่วงน้ำหนัก ก่อนที่ตลาดจะเปิดทำการซื้อขายในแต่ละวัน แต่วานนี้ มีการเปลี่ยนค่าระหว่างวันด้วย ซึ่งไม่เกิดขึ้นบ่อยครั้ง

การอ่อนค่าของเงินหยวนครั้งล่าสุดนี้ ถือเป็นแรงเหวี่ยงที่รุนแรงครั้งที่ 4 ของปีนี้ โดยที่น่าสนใจคือ เกิดขึ้นภายใต้ข้อเท็จจริงที่ว่า 1) ค่าเงินยวนเป็นค่าที่ไม่ได้เป็นค่าเงินลอยตัวตามธรรมชาติของตลาดเงินระหว่างประเทศ แต่เป็นอัตราที่เกิดจากการกำกับดูแลของหน่วยงานรัฐ คือ CFETS 2) เกิดขึ้นในขณะที่จีนรายงานตัวเลขเศรษฐกิจที่เป็นบวกหลายรายการเมื่อวานนี้

คำถามตามมาคือ CFETS ต้องการอะไรจากการลดค่าเงินหยวนโดยเจตนาดังกล่าว หากไม่ใช่เป้าหมายเพื่อทำสงครามราคากับค่าเงินหลักของโลกคือดอลลาร์

ที่น่าประหลาดมากขึ้นไปอีกคือ เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมานี้เอง ธนาคารกลางของจีนหรือ PBOC เป็นหนึ่งในธนาคารกลาง 3 ชาติของเอเชียที่เข้าแทรกแซงค่าเงินหยวน เช่นเดียวกันกับธนาคารกลางของอินโดนีเซีย (เงินรูเปีย) และมาเลเซีย (เงินริงกิต) ด้วยข้ออ้างปกป้องเสถียรภาพค่าเงิน และป้องกันการไหลออกของทุนเพื่อไปถือดอลลาร์

ความลักลั่นเชิงนโยบายของหน่วยการกำกับดูแลค่าเงินของรัฐบาลจีนเช่นนี้ นอกจากสะท้อนความด้อยประสิทธิภาพแล้ว ยังสะท้อนถึงการเคลื่อนย้ายทุนอย่างมีนัยสำคัญนับตั้งแต่ทีมงานผ่องถ่ายอำนาจของนายโดนัลด์ ทรัมป์ออกมายืนยันมาตรการเศรษฐศาสตร์ซัพพลายไซด์ ที่จะนำมาใช้อีกครั้ง หลังจากถูกยกเลิกใช้ไปหลังสมัยประธานาธิบดีโรนัลด์ เรแกน

นับแต่เงินหยวนจีน ได้รับการนำเข้าคำนวณในตะกร้าเงิน SDRs เงินหยวนของจีนเผชิญหน้ากับการเปลี่ยนแปลงค่าในทางขาลงรุนแรงมาแล้ว 3 ครั้ง และแต่ละครั้งของเงินหยวนที่อ่อนค่าลง มีเหตุผลต่างกันไป แต่มีลักษณะร่วมกันคือ สะท้อนว่าภาระหรือต้นทุนของจีนในการทำให้เงินหยวนเป็นสกุลเงินสากลในอนาคตแบบเดียวกับเงินเยน หรือยูโร หรือดอลลาร์สหรัฐ ค่อนข้างสูง

การอ่อนค่าครั้งแรก เกิดขึ้นในวันที่ 7 มกราคมปีนี้ ค่าเงินหยวนของจีนร่วงลงแตะระดับต่ำสุดในรอบเกือบ 5 ปี จากแรงเทขายออกมา ทำให้ราคาตลาดจากราคาทางการ 3.32% แตะที่ 6.5646 หยวนต่อดอลลาร์สหรัฐ ส่งผลรุนแรงให้ตลาดหุ้นเซี่ยงไฮ้ที่ไม่คุ้นเคยกับปรากฏการณ์ มีแรงเทขายหุ้นอย่างหนักจนถึงขั้นต้องใช้มาตรการ เซอร์กิต เบรกเกอร์ 2 ครั้งในรอบสัปดาห์เดียว เพราะหุ้นตกหนัก

ครั้งนั้น แม้ว่าทางการจีนต้องหาทางใช้มาตรการยับยั้งการไหลออกของเงินทุนจากต่างประเทศ และยังป้องกันทุนในประเทศเกรงกลัวฉวยโอกาสหลบหนีไปหาทรัพย์สินที่เป็นเงินสกุลหลักของโลก แต่มาตรการที่นำออกมาใช้อย่างลองผิดลองถูกของหน่วยงานรัฐจีน ทำให้มีการประเมินว่า ความเสียหายต่อตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไรทั่วโลกช่วงนั้น มีมากถึง 1.44 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐ

ครั้งที่สองเกิดขึ้นหลังจากวิกฤตตลาดเก็งกำไร รับทราบผลการลงประชามติอังกฤษถอนตัวออกจากสหภาพยุโรปในเดือนมิถุนายน ซึ่งปรากฏว่าค่าเงินหยวนลดต่ำลงอย่างหนัก โดยอัตราแลกเปลี่ยนอยู่ที่ 6.6857 หยวนต่อดอลลาร์ ซึ่งถือว่าแตะระดับต่ำที่สุดในรอบ 5 ปีครึ่งเลยทีเดียว

ครั้งที่สาม ต้นเดือนตุลาคม ค่าเงินหยวนอ่อนค่าจากเจตนาของธนาคารกลางจีนจนกระทั่งแตะระดับต่ำสุดในรอบ 15 เดือนที่ระดับ 6.7098 ต่อดอลลาร์ และเกิดขึ้นในขณะที่ผู้นำจีน นาย หลี่ เค่อ เฉียง นายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า เศรษฐกิจของประเทศในปีนี้ ดีกว่าที่คาดไว้มาก เนื่องจากปริมาณการจ้างงานใหม่ที่สูงขึ้นในตลาด และปัจจัยสนับสนุนจากอุตสาหกรรมการบริโภคและบริการที่มีต่อการเติบโตของเศรษฐกิจ โดยในช่วง 9 เดือนแรกของปีนี้ จีนสามารถสร้างงานได้กว่า 10 ล้านตำแหน่งในเมืองต่างๆ โดยอัตราการว่างงานที่ได้มีการสำรวจในเมืองต่างๆ 31 แห่งนั้นอยู่ที่ระดับต่ำกว่า 5% ในเดือน ก.ย. ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดในรอบ 2-3 ปีที่ผ่านมา

ยิ่งไปกว่านั้น ในขณะที่ทางการจีนลดค่าเงินหยวนลงโดยเจตนาครั้งนั้น ธนาคารกลางจีนยังออกมาแถลงหน้าตาเฉยว่า พร้อมที่จะรักษาเสถียรภาพของค่าหยวนต่อไป ไม่ให้เกิดการเสื่อมค่า สะท้อนให้เห็นว่า การอ่อนค่าของหยวนเป็นเพียงแค่การบริหารให้อ่อนค่าลงอย่างผิดธรรมชาติ  หรือ managed devaluation

กรณีเมื่อวานนี้ ยังไม่มีคำชี้แจงใดๆ ออกมาจากธนาคารกลางของจีน แต่ข้อสังเกตว่า การลดค่าเงินรุนแรงนี้ เกิดขึ้นคล้ายกับเดือนตุลาคมคือ มีการรายงานตัวเลขดัชนีสำคัญทางเศรษฐกิจ (เช่น ยอดค้าปลีก การบริโภคในเขตชนบท การลงทุนในสินทรัพย์ถาวร การลงทุนโดยภาคเอกชน รายได้ด้านการคลัง) ที่สะท้อนว่าเศรษฐกิจจีนมีแนวโน้มโตขึ้นอย่างมีเสถียรภาพอย่างมาก

เกมนี้ คำถามที่ต้องค้นหาคำตอบมีอยู่ว่า จีนต้องการอะไรกันแน่ในการบริหารค่าเงินหยวน ระหว่างยุทธศาสตร์ ปกป้องค่าเงิน หรือ ป้องกันการไหลออกของทุนภายนอกและภายใน หรือ การเร่งส่งออกในจังหวะเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวระลอกใหม่หลังการปรับดุลยภาพนานหลายปี 

Back to top button