พาราสาวะถี อรชุน

เป็นสัจธรรมของคนพรรคการเมืองนี้จริงๆ ใครอยู่ด้วยถือเป็นคนดีไม่ว่าจะมีชนักปักหลังอย่างไรก็ต้องปกป้องกันอย่างเต็มที่ แต่เมื่อผันตัวเองออกไปอยู่ที่แห่งใหม่ไม่ว่าจะด้วยวิถีแบบใดก็ตาม จะถูกซ้ำเติมค่อนขอดจากสมาชิกร่วมพรรค ล่าสุด เป็น วัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาแขวะใส่ อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.กรณีเตือนนักการเมืองให้หยุดทะเลาะกันเรื่องข้าว


เป็นสัจธรรมของคนพรรคการเมืองนี้จริงๆ ใครอยู่ด้วยถือเป็นคนดีไม่ว่าจะมีชนักปักหลังอย่างไรก็ต้องปกป้องกันอย่างเต็มที่ แต่เมื่อผันตัวเองออกไปอยู่ที่แห่งใหม่ไม่ว่าจะด้วยวิถีแบบใดก็ตาม จะถูกซ้ำเติมค่อนขอดจากสมาชิกร่วมพรรค ล่าสุด เป็น วัชระ เพชรทอง อดีตส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ที่ออกมาแขวะใส่ อลงกรณ์ พลบุตร รองประธานสปท.กรณีเตือนนักการเมืองให้หยุดทะเลาะกันเรื่องข้าว

โดยเสี่ยจ้อนออกมาขอร้องให้นักการเมืองและพรรคการเมืองสำรวมกิริยาด้วยการลด-ละ-เลิกกิจกรรมการเมืองที่ก่อให้เกิดความขัดแย้งในช่วงไว้อาลัย โดยเฉพาะกรณีการช่วยเหลือชาวนาเรื่องข้าวที่ราคาตกต่ำ ซึ่งวัชระมองว่าอลงกรณ์จะมาชุบตนเป็นครูระเบียบก็ดูเกินพอดี เพราะฐานะของอลงกรณ์ก็ไม่แตกต่างไปจากนักการเมือง

อาจดูเหมือนเป็นเรื่องวิวาทะของคนในพรรคและอดีตคนเคยร่วมงานกับพรรค ที่แยกตัวไปเพราะอยากให้เกิดการปฏิรูปพรรคสำหรับการแข่งขันกับพรรคนายใหญ่ให้สูสี แต่ก็มีบางมุมของวัชระที่สะท้อนภาพการเป็นนักการเมือง (สไตล์พรรคเก่าแก่) ได้เป็นอย่างดีเหมือนกัน ดังเช่นวลีที่บอกว่า บางเรื่องเช่นการช่วยชาวนา ทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาคเอกชนและประชาชน ต่างดำเนินกิจกรรมช่วยเหลือแบบปิดทองหลังพระ เพราะรักและห่วงใยชาวนาและทำโดยบริสุทธิ์ใจ ไม่หวังผลตอบแทนใดๆ

ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องป่าวประกาศออกหน้าออกตา ทำแบบจิตอาสาที่ชาวบ้านเขาทำกัน จึงไม่ต้องชิงดี ชิงเด่น ชิงดัง และไม่ต้องมีกล่าวโจมตีกันและกันจนกลายเป็นวิวาทะทางการเมืองผ่านทางสื่อต่างๆ และโซเชียลมีเดียทุกวันๆ ดังเช่นที่ผ่านมา จะเห็นได้ว่าแม้จะพยายามสร้างสมดุลในการกล่าวหานักการเมืองทุกฝ่าย แต่ก็ไม่วายที่จะไปแขวะนักการเมืองซีกเพื่อไทย โดยเฉพาะ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่จัดกิจกรรมขายข้าวจนเป็นข่าวใหญ่โต

จะว่าไปแล้ว ไม่ว่าจะจัดกิจกรรมกันแบบไหน เอิกเกริกหรือช่วยแบบจิตอาสา แต่ถามว่านั่นเป็นหนทางที่ยั่งยืนสำหรับชาวนาหรือไม่ เปล่าเลย ด้วยเหตุนี้บทความของ อรรถจักร์ สัตยานุรักษ์ ศาสตราจารย์ ประจำสาขาวิชาประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ที่ว่าด้วยเรื่องข้าว ชาวนา รัฐ และโลก จึงน่าจะช่วยตอบโจทย์ของพวกที่ถกเถียงหรือทะเลาะกันอยู่เวลานี้ได้อยู่ไม่น้อย

ในมุมของอาจารย์อรรถจักร์เห็นว่า นโยบายการส่งเสริมการปลูกข้าวและมาตรการชั่วคราวในการรักษาระดับราคาเป็นปัจจัยที่ทำให้เกิดการขยายตัวการผลิตของชาวนา  ดังนั้น ปัญหาราคาข้าวตกต่ำซึ่งจะเกิดขึ้นเป็นประจำทุกปีก็จะทำให้เกิด การสร้างความต้องการเทียมอย่างต่อเนื่องต่อไปอีกนาน และเราก็ต้องมาถกเถียงในเรื่องนี้กันอีกต่อไป รวมทั้งทำให้นักการเมืองฉวยโอกาส สามารถเล่นกลเพื่อแลกกับใจและคะแนนเสียงของชาวนา

ทางเลือกและทางออกในการแก้ปัญหานี้ควรจะมีอย่างไรบ้างนอกเหนือจากมาตรการเดิมที่ทำกันมาหากพิจารณาจากความต้องการข้าวในตลาดโลกซึ่งเคลื่อนไหวเพิ่มขึ้นน้อยมาก ในขณะที่การเพาะปลูกข้าวในประเทศต่างๆ กลับขยายตัว ดังนั้น หากจะคิดถึงทางออกสำหรับสังคมไทยคงจะเป็นไปได้ประมาณนี้ ประการแรก ขอให้คนไทยใจร้ายมากขึ้นด้วยการภาวนาให้ประเทศต่างๆ ที่ส่งข้าวขายแข่งกับเราประสบภัยพิบัติน้ำท่วมฝนแล้งจนปลูกข้าวได้ผลน้อยๆ ซึ่งจะทำให้ราคาข้าวบ้านเราดีขึ้นในปีนั้น

ประการที่สอง จำเป็นที่จะต้องขยายการส่งออกข้าวให้ได้มากขึ้น วิธีนี้จำเป็นที่จะต้องอาศัยมือของผู้เชี่ยวชาญในการค้าข้าวส่งออก โดยที่รัฐบาลอาจจะเปลี่ยนแนวทางจากการอุดหนุนหรือสร้างความต้องการเทียมในตลาด หันมาใช้เงินจำนวนเดียวกันนี้ (อาจจะน้อยกว่า) ให้แก่ผู้ส่งออกที่สามารถส่งออกข้าวประเภทที่ล้นตลาดเดิมไปสู่ตลาดใหม่  ซึ่งวิธีนี้อาจจะถูกมองว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ส่งออก แต่แนวทางนี้กลับจะส่งผลให้พยุงความเดือดร้อนให้แก่ชาวนาที่มีผลผลิตเหลือในหนึ่งช่วงฤดูกาลเพาะปลูก

สำหรับการสนับสนุนผู้ส่งออกเช่นนี้ นอกจากจะสามารถดึงราคาให้สูงขึ้นได้แล้ว ในด้านหนึ่งก็น่าจะเป็นทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในช่วงสามสี่ปีที่ผ่านมา เพราะว่าช่วงที่ใช้นโยบายการจำนำข้าวทุกเมล็ด ผู้ส่งออกข้าวจำนวนหนึ่งที่ไม่สามารถหาข้าวในประเทศส่งออกตามออเดอร์ได้เพียงพอ  ทำให้พวกเขาได้ลงทุนสนับสนุนการปลูกข้าวพันธุ์ดีหรือข้าวหอมในเวียดนาม ซึ่งทำให้การส่งออกข้าวคุณภาพดีของเวียดนามในปีที่ผ่านมาสูงขึ้น

ประการที่สาม การสร้างความหลากหลายของพันธุ์ข้าวที่ใช้ในแต่ละฤดูกาล เพื่อทำให้เกิดการกระจายและสร้างความแตกต่างของตลาดให้สลับซับซ้อนมากขึ้น เช่น ทำให้เกิดการขยายตัวของการปลูกข้าวปลอดสารพิษ ปลอดสารเคมี หรือการส่งเสริมพันธุ์ข้าวเฉพาะถิ่นที่มีคุณสมบัติพิเศษ เพราะในปัจจุบันนี้เองแม้ว่ามีเกษตรกรรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งจะพยายามสร้างตลาดเฉพาะราคาสูง และเริ่มมีกระแสความนิยมข้าวพิเศษเหล่านี้ แต่จำนวนข้าวที่ผลิตได้ก็ยังคงอยู่แค่หลักแสนตันเท่านั้น

ประการที่สี่ ต้องสร้างอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าข้าวเพื่อตอบสนองแก่ตลาดภายในและตลาดภายนอกให้มากขึ้น ในปัจจุบันการแปรรูปสินค้าข้าวได้เริ่มขึ้นในระดับหนึ่ง มูลค่าโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 30,000 กว่าล้านบาท ซึ่งโดยศักยภาพแล้วเราน่าจะทำได้ดีกว่านี้ จำเป็นต้องคิดถึงการแปรรูปข้าวนี้ให้เพิ่มช่องทางมากกว่าการแปรรูปข้าวเป็นสินค้าแป้ง

แม้ว่าจะสามารถส่งออกไปสู่กระบวนการผลิตในประเทศอื่นเช่น ญี่ปุ่น คงจำเป็นต้องคิดถึงการทำให้เกิดการแปรรูปสินค้าข้าวเพื่อตอบสนองตลาดภายในประเทศให้ได้กว้างขวางและหลากหลายกว่านี้ ซึ่งจำเป็นที่จะต้องได้รับการสนับสนุนจากรัฐมากขึ้นโดยเฉพาะในช่วงแรก เช่น ตลาดเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมจากข้าวเป็นต้น เพราะอุตสาหกรรมการแปรรูปสินค้าข้าวนี้นอกจากจะเป็นอนาคตของการจัดการผลผลิตข้าวแล้ว ยังจะส่งผลถึงการจ้างงานที่เพิ่มมากขึ้นอีกโสดหนึ่งด้วย

การแก้ปัญหาเรื่องข้าวจึงต้องคิดไปให้พ้นจากการสร้างความต้องการเทียมแบบที่ทำกันมา ไม่อย่างนั้นแล้ว เราจะพบปัญหานี้ต่อไปทุกปีและเชื่อได้ว่าจะรุนแรงมากขึ้นด้วย ข้อกังวลนี้ของอรรถจักร์ดูเหมือนว่าอาจจะไร้ผล เพราะที่เห็นและเป็นอยู่ในปัจจุบัน การแห่ช่วยกันขายและซื้อข้าวไม่ว่าจะเห็นหน่วยงานรัฐ เอกชนหรือนักการเมือง ยังไม่มีใครตอบได้ว่านั่นเป็นความต้องการที่แท้จริง สะท้อนภาวะดีมานด์ซัพพลายที่สอดประสานกันหรือแค่แก้ผ้าเอาหน้ารอดเท่านั้น

Back to top button