บูชายัญขรก.ทายท้าวิชามาร
รัฐบาลจะเรียกค่าเสียหายคดีรับจำนำข้าว 142,868 ล้านบาท จากกลุ่มผู้บริหาร รัฐมนตรี อนุกรรมการ 2,000 คน กลุ่มผู้ปฏิบัติ ข้าราชการ 4,000 คน ที่เหลือเป็นภาคเอกชน โรงสี โกดัง แม้บอกว่ายังไม่ใช่ทุกคน ต้องตรวจสอบก่อน แต่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องก็หวาดผวาตามๆ กัน
ใบตองแห้ง
รัฐบาลจะเรียกค่าเสียหายคดีรับจำนำข้าว 142,868 ล้านบาท จากกลุ่มผู้บริหาร รัฐมนตรี อนุกรรมการ 2,000 คน กลุ่มผู้ปฏิบัติ ข้าราชการ 4,000 คน ที่เหลือเป็นภาคเอกชน โรงสี โกดัง แม้บอกว่ายังไม่ใช่ทุกคน ต้องตรวจสอบก่อน แต่ข้าราชการที่เกี่ยวข้องก็หวาดผวาตามๆ กัน
การเรียกค่าเสียหายตาม พ.ร.บ.รับผิดทางละเมิด มีองค์ประกอบ 2 อย่าง คือทุจริต หรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรง ประมาทธรรมดาไม่โดนนะครับ แต่ก็ขึ้นกับใครตีความ อย่างยิ่งลักษณ์ทำตามนโยบายป.ป.ช. TDRI เตือนว่าจะเสียหาย ก็ถูกกล่าวหาว่าประมาทเลินเล่อร้ายแรง
คำถามคือผู้เกี่ยวข้อง 6,000 คน ทุจริตหรือประมาทเลินเล่ออย่างร้ายแรงทั้งหมดไหม ก็คงมีบ้าง แต่ไม่น่าใช่ทั้งหมด ไม่น่าใช่ข้าราชการส่วนใหญ่ที่ทำตามนโยบายรัฐบาล อย่าลืมว่าความเสียหายส่วนใหญ่มาจากนโยบาย “ช่วยชาวนา” คือส่วนต่างตันละ 15,000 กับราคาตลาด ที่เหลือมาจากข้าวหายข้าวเน่าข้าวผิดสเปกซึ่งก็ต้องไล่เช็กว่าข้าราชการเกี่ยวข้องอย่างไร ทุจริตหรือละเลยไหม ในการรับจำนำ การฝากข้าวกับโรงสีกับโกดัง ฯลฯ
ขั้นต่อไปจึงน่าจับตาว่า ศอตช. รัฐบาล จะแยกแยะหรือไม่ จะเรียกค่าเสียหายเฉพาะผู้ที่เข้าข่ายทุจริตเลินเล่อร้ายแรงจริงๆ หรือจะใช้วิธีเหมาโหล กวาดเรียบ เป็นพันๆ ราย แล้วให้ไปสู้คดีเอาเองในศาลโดยอ้างว่า “ถ้าไม่ผิดก็ไม่เห็นต้องกลัวอะไร”
ซึ่งถ้าทำอย่างหลังก็ไม่เป็นธรรม ข้าราชการท้อแท้เสียกำลังใจ ไม่เฉพาะผู้เกี่ยวข้องแต่สะเทือนใจวงกว้างว่านี่หรือความยุติธรรม
แค่นี้คนก็สงสัยทำไมต้องไล่เอาผิดคนจำนวนมาก ตามปกติ รัฐประหารจองล้างแค่นักการเมืองไม่ใช่หรือ เอาละ ในกลุ่มผู้บริหารคงรวมนักการเมืองและเครือข่าย แต่ใช่หรือไม่ว่าในกระแสสังคมคลั่ง “ปราบโกง” “ยาแรง” ใครจับผู้ร้ายได้เยอะก็ได้เป็นพระเอก มีผลงาน
พูดอย่างนี้ไม่ใช่ปกป้องคนโกง ถ้าจับทุจริตได้ ก็ลงโทษหนัก แต่ปราบโกงพักหลัง ส่วนใหญ่เอาผิดกันจากการตีความกฎหมาย ฝ่าฝืนระเบียบ ข้อห้าม ซึ่งเขียนไว้กว้าง เช่นมาตรา 157 ละเว้นปฏิบัติหน้าที่ก็ผิด อะไรคือละเว้น อะไรคือสิ่งที่ควรทำ แล้วไม่ทำ มันตีความได้กว้าง ยิ่งระบบราชการ มีกฎระเบียบจุกจิกเต็มไปหมด ถ้าโดนจ้องจับผิด ข้าราชการมีแต่ตายกับตาย
ไม่กี่วันก่อน อดีตผู้ว่าฯ ลำปางเพิ่งไปร้อง สนช. เพราะโดน ป.ป.ช.ชี้ผิดฐานละเว้นจับกุมผู้บุกรุกสร้างอ่างเก็บน้ำ 4 แห่งในเขตป่าสงวนแม่เมาะ ถูกออกจากราชการ 15 ราย ทั้งนายอำเภอ ป่าไม้ กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน ไล่ไปไล่มา ข้อเท็จจริงคือ ผู้ว่าฯ เป็นประธานกองทุนพัฒนาชุมชนพื้นที่รอบโรงไฟฟ้า อนุมัติสร้างอ่างเก็บน้ำช่วยประชาชนผู้อพยพเพราะได้รับผลกระทบจากโรงไฟฟ้า ในเขตป่าเสื่อมโทรม โดยขออนุญาตใช้พื้นที่จากกรมป่าไม้แต่ระหว่างยังไม่ได้รับอนุญาตก็สร้างไปก่อนเพราะเห็นประชาชนเดือดร้อน ซึ่งเอาละ ผิดระเบียบข้ามขั้นตอน แต่สมควรไหม เอาผิดร้ายแรงทั้งที่ไม่พบทุจริต
ป.ป.ช.ปราบโกงลงเอยแบบนี้เยอะ ไม่ทุจริตแต่ผิดระเบียบ ไม่สามารถพิสูจน์ว่าเอาเงินเข้ากระเป๋าแต่ก็เอาออกจากราชการได้ เพราะโทษวินัย ป.ป.ช.สอบสวนเองตัดสินเอง โทษอาญาศาลทุจริตยึดสำนวนป.ป.ช.เป็นหลัก ยิ่ง ป.ป.ช.เป็นใหญ่ ข้าราชการยิ่งไม่เป็นอันทำงาน ตัวเกร็งตามระเบียบไว้ก่อน
ซ้ำยุคนี้พอไม่ได้ดังใจ ก็โดน ม.44 บางคนตั้งเองย้ายเอง แก้ปัญหาไม่ได้ก็ย้ายข้าราชการเพราะง่ายดี