พาราสาวะถี อรชุน
ความย้อนแย้งของผู้มีอำนาจนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันบ่อยครั้ง เพราะหลายๆ เรื่องที่กล่าวหาอดีตรัฐบาลหรือต่อว่านักการเมืองว่าทำไม่ดี รัฐบาลนี้ก็ดำเนินการในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียกหรือพลิกแพลงวิธีการที่จะดำเนินการเท่านั้น เหมือนกรณีการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ
ความย้อนแย้งของผู้มีอำนาจนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศ เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงกันบ่อยครั้ง เพราะหลายๆ เรื่องที่กล่าวหาอดีตรัฐบาลหรือต่อว่านักการเมืองว่าทำไม่ดี รัฐบาลนี้ก็ดำเนินการในลักษณะที่ไม่แตกต่างกัน เพียงแต่เปลี่ยนชื่อเรียกหรือพลิกแพลงวิธีการที่จะดำเนินการเท่านั้น เหมือนกรณีการแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำ
ในมุมมองของคนที่เคยร่วมอดีตรัฐบาล ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ถูกกล่าวหาเรื่องโครงการจำนำข้าว นาวาอากาศเอกอนุดิษฐ์ นาครทรรพ สะท้อนภาพที่เกิดขึ้นว่า รัฐบาลทหารทราบดีว่าวิธีการแก้ปัญหาให้ชาวนาและต่อไปในอนาคตอันใกล้อาจเป็นพืชผลการเกษตรตัวอื่นๆ นั้น หนีไม่พ้นการแทรกแซงราคา แต่จะใช้กระบวนการแบบไหนและเรียกว่าอะไรก็ตามจะพบว่ารัฐต้องชดเชยทั้งสิ้น แปลว่ายังไงรัฐก็ต้องขาดทุน
ดังนั้น ถ้าใช้ตรรกะเดียวกันในการดำเนินคดียิ่งลักษณ์เรื่องจำนำข้าว ผู้มีอำนาจที่รับผิดชอบการแก้ไขปัญหาในรัฐบาลนี้ก็ต้องโดนดำเนินคดีเช่นกัน แต่เรากลับเห็นว่าไม่มีใครหน้าไหนออกมาโจมตีมาตรการช่วยชาวนาในขณะนี้ว่าทำให้รัฐขาดทุนแม้แต่คนเดียว สรุปคือบอกว่าจำนำข้าวทำความเสียหายให้แผ่นดิน แต่จำนำยุ้งฉางไม่เป็นไร
นั่นหมายความว่า การที่ยิ่งลักษณ์และผู้เกี่ยวข้องโดนดำเนินคดีแบบเหมาเข่ง จึงเป็นภาพฉายที่ปรากฏชัดต่อประชาชนที่รักความยุติธรรมว่า ที่แท้เป็นเพียงวิธีพิเศษในการกำจัดศัตรูทางการเมืองของทหารและพรรคการเมืองที่สนับสนุนฝ่ายเผด็จการที่ไม่สามารถเอาชนะคู่แข่งจากการเลือกตั้งตามปกติได้นั่นเอง เพราะในข้อเท็จจริงโครงการรับจำนำพืชผลทางการเกษตรทุกรัฐบาลทำกันมานานแล้ว แต่ก็ไม่มีใครถูกกล่าวหาและโดนดำเนินคดีในลักษณะแบบนี้
ส่วนเหตุที่ทำให้เสียงวิจารณ์ไม่เกิดขึ้นนั้น คงจะทราบกันดีว่า ประการหนึ่งเพราะอำนาจพิเศษที่สามารถให้โทษได้ทุกเมื่อ แต่ปัจจัยสำคัญอยู่ที่พวกเสียงดังทั้งหลายแหล่ต่างพากันหลับหูหลับตา ปล่อยให้ผู้มีอำนาจดำเนินการทุกเรื่องได้ตามอำเภอใจหรือหากจะพูดอะไร ถูกต้องเหมาะสมหรือไม่ก็ไร้เสียงติติง เหมือนอย่างเช่นการไล่ให้ไปขายยางพาราบนดาวอังคาร
ไม่เพียงเท่านั้น กรณีบอกให้ชาวนาเลิกทำนาแล้วหันไปปลูกพืชชนิดอื่นก็เคยเกิดขึ้นหลายครั้งหลายหน ในที่นี้มีบทความของ โสภณ พรโชคชัย ที่เขียนถึงเรื่องคำแนะนำของท่านผู้นำต่อเกษตรกร เรื่องให้ไปปลูกหมามุ่ยและกล้วยหอมทอง ถ้ายังจะพอจำกันได้ โดยในมุมของโสภณบอกว่า ลุงตู่ไม่เข้าใจ Niche Market ซึ่งความจริงมันก็น่าจะเป็นอย่างนั้น เพราะทั้งชีวิตไม่ได้เป็นพ่อค้า เว้นแต่จัดซื้ออาวุธเป็นเรื่องหลัก
ในทัศนะของโสภณเห็นว่าการสั่งแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริงของท่านผู้นำคือ กรณีส่งเสริมให้ปลูกหมามุ่ยและกล้วยหอมทอง และนี่ไม่ใช่การโจมตีพลเอกประยุทธ์ แต่เป็นการชี้ให้ทีมงานนายกรัฐมนตรีได้เข้าใจคำว่า Niche Market จะได้ไม่แนะนำให้ท่านผู้นำเสนอแนวคิดผิดๆ อีก แต่เชื่อเลยว่าคงเป็นเรื่องยาก เพราะท่านมั่นใจในความเก่งกล้าสามารถของตัวเองเหลือเกิน
แต่ก็เอาเถอะไหนๆ ก็เห็นว่าข้อเสนอของโสภณน่าสนใจ เราลองไปดูแนวคิดมุมมองต่อเรื่องดังกล่าวกันก่อนก็แล้วกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม 2558 พลเอกประยุทธ์แนะคนไทย “อย่าโง่” ปลูกพืชกำไรน้อย หนุนปลูกพืชสมุนไพรสร้างรายได้ ชูแปรรูปหมามุ่ยราคาพุ่งกิโลกรัมละ 8 หมื่น วันนี้รัฐบาลได้สนับสนุนการปลูกพืชสมุนไพร ในเมื่อเราไม่สามารถปลูกข้าวได้ก็จะให้กระทรวงสาธารณสุขเข้าไปดูแลว่าจะปลูกพืชสมุนไพรได้หรือไม่ กรณีนี้สะท้อนว่าท่านยังไม่เข้าใจ Niche Market หรือการตลาดเฉพาะกลุ่ม
อีกกรณีคือเมื่อวันที่ 7 มกราคม 2559 พลเอกประยุทธ์ได้ให้สัมภาษณ์โดยแนะให้ชาวสวนยางพาราปลูกสตรอว์เบอร์รี่และกล้วยหอมทองในสวนยาง คงเป็นเพราะท่านได้ไปดูงาน-ตรวจเยี่ยมบ้าน วิสูตร คันทรักษา เกษตรกรชาวสวนยางพารา หมู่ที่ 4 ตำบลท่าเรือ อำเภอบ้านนาเดิม จังหวัดสุราษฎร์ธานี ตามข่าวเมื่อวันที่ 28 ธันวาคม 2558
อย่างไรก็ตาม การปลูกสินค้าเฉพาะนี้อาจยังไม่เสถียร ท่านจึงยังแนะนำให้หาวิธีการแปรรูปหลายอย่างและขยายตลาดรองรับ และยังแนะนำว่าหากมีปัญหาสามารถปรึกษาสหกรณ์จังหวัดได้ ทั้งที่ความจริงสินค้าที่เป็น Niche Market หรือสินค้าที่มีความแตกต่างออกไป เป็นสินค้าที่ลูกค้าสนใจ เพราะเป็นการเริ่มต้นที่จำนวนน้อย ยังไม่มีคู่แข่งอื่นหรือมีคู่แข่งจำกัด เหมาะกับพื้นที่ดังกล่าว
เช่น ในพื้นที่โดยรอบสถาบันอุดมศึกษาที่ตั้งขึ้นใหม่มักจะสร้างหอพักเป็นจำนวนมาก โดยกลุ่มเป้าหมายเฉพาะคือนักศึกษามหาวิทยาลัยนั่นเอง หรือพื้นที่ที่ตั้งอยู่ใกล้วัดที่มีผู้ไปทำบุญปฏิบัติธรรมในช่วงวันหยุดสุดสัปดาห์เป็นจำนวนมาก อาจมีการก่อสร้างหมู่บ้านจัดสรรหรือห้องชุดที่รองรับผู้สนใจซื้อไว้เพื่อความสะดวกในการเดินทาง นอกจากนี้ ยังอาจมีตัวอย่างของห้องชุดในพื้นที่ใกล้โรงเรียนมัธยมชื่อดังใจกลางเมือง ซึ่งสามารถจับกลุ่มลูกค้าที่เป็นครอบครัวของเด็กนักเรียน เป็นต้น
กรณีหมามุ่ยแม้ว่าสถานการณ์ตลาดจะดี แต่ก็เป็นตลาดเฉพาะกลุ่ม เป็นสิ่งที่เป็นไปไม่ได้ที่ชาวนาไทยทั้งมวลหรือใครต่อใครจะหันมาปลูกหมามุ่ยแทนข้าวซึ่งเป็นพืชเศรษฐกิจหลักได้ หรือแม้จะมีตลาดเฉพาะทางด้านอื่นๆ นอกจากหมามุ่ยก็ยังถือเป็นข้อยกเว้น และข้อยกเว้นคงไม่ใช่สรณะ เพราะมีจำนวนลูกค้าจำกัด สินค้าอุปโภคบริโภคกับสินค้าเฉพาะทางคงทดแทนกันไม่ได้
ส่วนกรณีกล้วยหอมทองนั้น ปรากฏว่าที่สุราษฎร์ธานีเดิมในอำเภอท่าชนะเคยมีสินค้าโอท็อปคือกล้วยหอมทอง โดยกลุ่มแม่บ้านกล้วยหอมทองเพื่อการส่งออก หมู่ที่ 6 ต.คลองพา อ.ท่าชนะ ได้รวมกันเองในหมู่บ้าน มีสมาชิก 52 คน และได้เลือกคณะกรรมการบริหารกลุ่มโดยได้ดำเนินการมานับสิบปีแล้ว สมาชิกแต่ละคนนำผลผลิตมารวมที่กลุ่มเพื่อส่งออกไปประเทศญี่ปุ่น ในขณะที่อาชีพหลักคือการทำสวนยางพาราจะนำอาชีพเสริมมาทดแทนอาชีพหลักคงไม่ได้
ถ้าขืนไปส่งเสริมให้ใครต่อใครหันมาเลียนแบบกันทำตลาดแบบนี้จะพากันลงเหว พาคนไปตายอย่างแน่นอน เพราะความพิเศษ ความโดดเด่น ลักษณะเฉพาะ กลายเป็นลักษณะทั่วไป เพราะใครต่อใครหันมาทำแบบเดียวกันหมด ก็คงไม่มีความแตกต่าง และเต็มไปด้วยการแข่งขันและพากันเจ๊งกันไปหมด การแนะนำประชาชนไปในแนวทางเดียวกันแบบนี้จึงเป็นการสร้างความเสี่ยงเป็นอย่างยิ่ง นี่แสดงถึงความไม่รู้จริงของทีมงานท่านผู้นำ จึงแนะนำให้ท่านเสนอแนะไปอย่างไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
แม้โสภณจะออกตัวว่าข้อเสนอแนะในที่นี้ไม่ได้เกี่ยวกับการเมือง เป็นเพียงการนำเสนอกรณีศึกษาที่ชี้ให้เห็นถึง Niche Market เท่านั้น แต่ความเป็นจริงเรื่องทีมงานใกล้ตัวท่านผู้นำนั้น หลายคนคงเห็นด้วย โดยเฉพาะทีมงานโฆษกที่ชอบปล่อยไก่อยู่บ่อยๆ แต่นั่นไม่ใช่เพราะไม่ศึกษาหรือมีความรู้ไม่พอ แต่ส่วนใหญ่เป็นเพราะมีอคติและมีใจไม่เป็นกลางอย่างแท้จริงนั่นเอง