จับกระแสฟันด์โฟลว์พลวัต 2016
นักวิเคราะห์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ไทย และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในตลาดหุ้น มีกรอบคำอธิบายปรากฏการณ์เมื่อวานนี้ ต่างกันในสาระสำคัญที่อาจจะทำให้หลายคนงุนงง
วิษณุ โชลิตกุล
นักวิเคราะห์ตลาดอัตราแลกเปลี่ยนของธนาคารพาณิชย์ไทย และนักวิเคราะห์หลักทรัพย์ในตลาดหุ้น มีกรอบคำอธิบายปรากฏการณ์เมื่อวานนี้ ต่างกันในสาระสำคัญที่อาจจะทำให้หลายคนงุนงง
กลุ่มแรกอธิบายว่า การที่ค่าเงินบาทแข็งค่าเทียบกับดอลลาร์วานนี้ ที่ระดับ 35.41 บาท/ดอลลาร์ หลังจากที่อ่อนมายาวนานเกือบ 2 สัปดาห์เป็นเพราะว่า มีเงินทุนไหลเข้า ส่วนปัจจัยอื่นๆ ยังไม่มีผลต่อการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาทมากนัก และคาดว่าในวันนี้เงินบาทจะเคลื่อนไหวในกรอบ 35.35-35.50 บาท/ดอลลาร์
กลุ่มหลังอธิบายอีกชนิดตรงกันข้ามว่า เหตุผลที่ดัชนีตลาดวิ่งไม่แรงเมื่อวานนี้ ไม่สามารถทะลุแนวต้านเหนือ 1,490 จุด ทั้งที่มีปัจจัยหนุนส่งมากมายหลายด้านพร้อมกัน ทั้งราคาน้ำมัน ดัชนีดาวโจนส์ และตัวเลขเศรษฐกิจไทยดีขึ้น เพราะมีการไหลออกของฟันด์โฟลว์ต่างชาติ
บางคนให้ข้อมูลเสริมอีกว่า การขายสุทธิของต่างชาติต่อเนื่องนานกว่า 21 วันในตลาดหุ้นไทย และขายสุทธิในตลาดตราสารหนี้มากกว่า 16 เท่า ทำให้ตลาดทุนไทยเป็นตลาดที่มีเงินทุนไหลออกเป็นอันดับ 2 รองจากอินเดีย นับตั้งแต่นายโดนัลด์ ทรัมป์ ได้รับเลือกเป็นประธานาธิบดีสหรัฐ ดังนั้น ผลลัพธ์จึงปรากฏออกมาว่า การปรับขึ้นของดัชนีรอบใหม่นี้ จากราคาน้ำมันที่หนุนส่งไม่น่าไปได้ไกลนัก
คำอธิบายที่ขัดแย้งกันเองของคนในแวดวงเดียวกัน แต่มีตำแหน่งและการเงินต่างกัน ทำให้คนภายนอกไม่รู้ว่าเพราะอะไรจึงเป็นเช่นนี้ แต่ข้อเท็จจริงที่ไม่อาจปฏิเสธได้คือ ความสำคัญของฟันด์โฟลว์ของต่างชาติในตลาดทุนไทยนั้น มีค่อนข้างสูง จนสามารถเรียกได้ว่าทรงอิทธิพลกลุ่มหนึ่งเลยทีเดียว
การไหลเข้าของฟันด์โฟลว์ ทำให้ค่าเงินบาทแข็งค่า และดัชนีตลาดหุ้นไทยปรับตัวเป็นขาขึ้น โดยไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสัมพันธ์กับปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในของไทยเสมอไปเพราะฟันด์โฟลว์อาจจะไหลเข้าในยามที่เศรษฐกิจไทย หรือผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นย่ำแย่ก็ได้
เช่นเดียวกัน การไหลออกของฟันด์โฟลว์ก็ทำให้เงินบาทอ่อนค่า และดัชนีหุ้นไทยร่วงเป็นขาลงอย่างมีนัยสำคัญ แล้วก็ไม่จำเป็นต้องสะท้อนหรือสัมพันธ์กับปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในของไทยเสมอไป เพราะบางครั้งฟันด์โฟลว์อาจจะไหลออกในยามที่เศรษฐกิจไทยและผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดกำลังดีขึ้น
ข้อมูลเชิงสถิติของตลาดหุ้นไทยในรอบ 3 ปีนี้ ก็ทำให้มีคำถามตามมาไม่น้อยเช่นกัน เพราะในปี 2557 ที่มีฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกมากถึง 2 แสนล้านบาทนั้น ปรากฏว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยบวกแรงกว่า 200 จุดจากต้นปี แต่ในปี 2558 ฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่ไหลออกแค่เพียง 7 หมื่นล้านบาท กลับทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงกว่า 350 จุด และในปีนี้ ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าเป็นบวกมากถึง 1 แสนล้านบาทเศษยามนี้ ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยบวกไปประมาณ 250 จุด
ความลักลั่นกันของฟันด์โฟลว์ต่างชาติ และความรุ่งเรืองหรือย่ำแย่ของเศรษฐกิจไทยหรือผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยเช่นนี้ ทำให้ผลการศึกษาวิจัยในอดีตของเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติของไทย ที่เคยหาข้อสรุปว่าด้วยความสัมพันธ์ของเงินทุนเคลื่อนย้าย (ฟันด์โฟลว์) ในเชิงสถิติว่า ปัจจัยที่มีผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย ได้แก่ 1) ความเชื่อมั่นของนักลงทุนต่างชาติที่มีต่อภาวะเศรษฐกิจโดยรวมของไทย ทั้งในด้าน Risk on (กล้าเสี่ยง) หรือ Risk off (กลัวความเสี่ยง) มีผลมากถึง 18% 2) แนวโน้มของอัตราแลกเปลี่ยนในอนาคต กับค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ มีน้ำหนักมากประมาณ 15% 3) ความเชื่อมั่นทางธุรกิจ มีสัดส่วนอยู่ที่ 11% 4) อัตราดอกเบี้ยในประเทศกับตลาดโลก มีน้ำหนักเพียงแค่ 3%
ในปีนี้ กระแสฟันด์โฟลว์ที่ไหลบ่าเข้าตลาดหุ้นไทยอย่างผิดปกตินับแต่เดือนสิงหาคมถึงกลางเดือนตุลาคม จนกระทั่งดัชนีตลาดหุ้นไทยเกือบทะลุไปเหนือ 1,550 จุดได้ช่วงหนึ่ง ปรากฏมีคำอธิบายว่าเกิดจากการเคลื่อนย้ายทุนหาที่หลบภัย หรือ ดอลลาร์ แครี่ เทรด จากสหรัฐเป็นสำคัญ เพราะภาวะดอกเบี้ยที่แท้จริงกำลังติดลบ และมีแนวโน้มต่ำกว่าตลาดหุ้น จนกระทั่งนักลงทุนรายใหญ่พร้อมเสี่ยงเข้าลงทุนหาผลตอบแทนที่สูงกว่าในตลาดหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงกว่า โดยการยอมรับให้ราคาหุ้นสูงกว่ามูลค่าปัจจัยพื้นฐาน แต่คำอธิบายดังกล่าวใช้การไม่ได้เมื่อเงินฟันด์โฟลว์เริ่มไหลออกต่อเนื่องรุนแรงในปลายเดือนตุลาคมจนถึงปัจจุบัน ที่ยังไม่สามารถบอกไว้ว่าจะกินเวลาเท่าใด และจะมีปริมาณมากน้อยเท่าใด
การที่ฟันด์โฟลว์ไหลออกช่วงนี้ ปฏิเสธข่าวดีที่เกิดขึ้นกับทั้งเศรษฐกิจไทยที่การขับเคลื่อนโดยภาครัฐยังทำให้กลไกเศรษฐกิจเดินหน้าบวกต่อไปได้แม้จะทุลักทุเลอยู่ไม่น้อย และผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในไตรมาสล่าสุดของตลาดหุ้นไทยก็ยังงดงามที่สุดแห่งหนึ่งในโลก เป็นเรื่องที่ดูไม่สมเหตุสมผลอย่างยิ่ง เกินกว่าที่จะอธิบายด้วยคำพูดง่ายๆ
หากวิเคราะห์กันอย่างถ่องแท้ ผู้จัดการกองทุนเก็งกำไรข้ามชาติ ซึ่งโดยปกติแล้วทำการตัดสินใจโดยใช้โปรแกรมเทรดดิ้งสำเร็จรูปเป็นตัวช่วย เปรียบได้กับนักล่าผลตอบแทนจากส่วนต่างราคา หรือ “Searching For Yield” เพื่อหาผลตอบแทนที่สูงกว่าการลงทุนในพันธบัตร หรือตราสารหนี้ โดยยอมเสี่ยงกับความไม่แน่นอนของตลาด ที่อัตราความผันผวนรุนแรงมากขึ้นกว่าอดีต ดังนั้น การตัดสินใจย่อมถือว่ามิได้กระทำไปเพราะสัญชาตญาณ หรือเพราะอารมณ์ชั่วแล่น
การไหลออกของฟันด์โฟลว์ในยามนี้ จึงพึงได้รับการพิจารณาถึงสาเหตุที่ชัดเจนที่มากกว่าคำอธิบายของคนไม่กี่คนที่อวดหรือเชื่อว่าตนรู้ดีกว่าคนอื่นๆ เพื่อจะได้คาดเดาไม่ยากว่า เมื่อใด และในสถานการณ์อย่างใดที่ฟันด์โฟลว์ที่กำลังไหลออกไปนี้ จะจบสิ้นลง และกลับเข้ามาครั้งใหม่