PTT ได้เวลาลอยตัว แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
มิติใหม่ที่มีความหมายยิ่งอีกครั้งหนึ่งของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้แก่การปรับโครงสร้างอีกครั้งตามมติของคณะกรรมการบริษัทในเดือนนี้เอง
มิติใหม่ที่มีความหมายยิ่งอีกครั้งหนึ่งของบริษัทน้ำมันแห่งชาติของไทย บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT ได้แก่การปรับโครงสร้างอีกครั้งตามมติของคณะกรรมการบริษัทในเดือนนี้เอง
นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ PTT เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัท เมื่อวันที่ 18 พฤศจิกายน 2559 ได้มีมติเห็นชอบการปรับโครงสร้างอีกครั้ง โดยการโอนกิจการของหน่วยธุรกิจน้ำมัน รวมถึงสินทรัพย์ และหนี้สินของหน่วยธุรกิจ เป็นนิติบุคคลเอกเทศ
การปรับนี้ จะรวมถึงหุ้นของบริษัทที่เกี่ยวข้องให้แก่บริษัท ปตท.ธุรกิจค้าปลีก จำกัด และเปลี่ยนชื่อเป็นบริษัท ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (PTT oil and Retail Business Company Limited หรือ PTTOR) และการใช้ PTTOR เป็นบริษัทแกนในการดำเนินธุรกิจน้ำมันและค้าปลีก
PTT ได้เตรียมแยกกิจการค้าปลีกดังกล่าวเป็นบริษัทมหาชนด้วย โดยวางแผนเสนอขายหุ้นสามัญแบบไอพีโอ ของ PTTOR เพื่อการนำเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ โดยภายหลังการเสนอขายหุ้นไอพีโอแล้ว PTT จะเหลือสัดส่วนถือหุ้นประมาณ 45-50% ในบริษัทดังกล่าว
มติดังกล่าว ยังไม่มีผลจริง และไม่สามารถกำหนดกรอบระยะเวลาที่แน่ชัดได้ เพราะจะต้องผ่านเงื่อนไขสำคัญ 2 ข้อคือ 1) รอการเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี และ 2) เสนอต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นของ PTT ในเดือนเมษายนปีหน้า ขณะเดียวกัน
มติล่าสุดนี้ เท่ากับว่า จากนี้ไป PTT จะกลายเป็นบริษัทที่ไม่มีธุรกรรมทางธุรกิจปกติอีกต่อไป แต่จะกลายเป็นบริษัทโฮลดิ้งสมบูรณ์แบบ ตามรอยของ INTUCH และ BTS ที่ล่วงหน้าไปก่อนแล้ว
การปรับเปลี่ยนล่าสุด (ดูจากตารางประกอบ) สะท้อนร่องรอยของทิศทางก่อนหน้านี้ของเครือ PTT ที่เดินยุทธศาสตร์ “แตกเพื่อรวย” มาเป็นระยะเวลาในรอบ 2 ปีนี้ชัดเจน…เริ่มจากการตัดธุรกิจไฟฟ้าในเครือทั้งหมดรวบมาเป็น บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ก่อนที่จะตามมาด้วย การแยกกิจการปิโตรเคมีชีวภาพในเครือข่ายของ PTTGC มาแต่งตัวเป็น Global Green Chemical (GGC)
เหตุผลที่นำมาอ้าง คือโมเดลธุรกิจในปัจจุบันและอนาคตไม่สามารถยึดเป้าหมายเดิม “โตเพื่อเพิ่มการแข่งขัน” อีกต่อไปแล้ว แต่ต้องการ “ความยืดหยุ่นเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม” แทน
ในทางทฤษฎี การเป็นบริษัทโฮลดิ้ง หมายถึงการเป็นบริษัทที่ไม่ได้ยุ่งเกี่ยวกับธุรกรรมวันต่อวัน ที่เต็มไปด้วยรายละเอียดเหมือนปกติ แต่ให้ความสำคัญกับ 1) การกำหนดแผนและยุทธศาสตร์ธุรกิจบริษัทในเครือข่ายร่มธงที่ถือหุ้นใหญ่เอาไว้ 2) ให้การสนับสนุนบริษัทในเครือข่ายใต้ร่มธง 3) กำหนดพารามิเตอร์สำหรับป้องกันความเสี่ยงของบริษัทในเครือข่าย และ 4) ส่งตัวแทนบริษัทแม่ไปเป็นผู้บริหารหรือกรรมการในบริษัทใต้ร่มธง เพื่อยึดกุมยุทธศาสตร์ที่กำหนดเอาไว้
รายได้และกำไรของบริษัทโฮลดิ้งเต็มรูป จะมาจากเงินปันผลตอบแทนจากบริษัทในร่มธง ซึ่งกำไรสะสมที่เกิดขึ้น จะถูกนำไปใช้เพื่อรองรับแผนยุทธศาสตร์ธุรกิจที่จะสร้างโอกาสให้เกิดขึ้นในอนาคต โดยเฉพาะการจัดสรรและโยกย้ายกำไรหรือทรัพยากรจากธุรกิจที่ทำรายได้ในปัจจุบันแต่มีอนาคตสั้น ไปหาทางสร้างโอกาสให้กับธุรกิจแห่งอนาคตที่ยังมาไม่ถึง
ในทางปฏิบัติ บริษัทโฮลดิ้งจะมีรายได้โดยเฉลี่ยลดลง แต่มีอัตรากำไรสุทธิมากขึ้นอย่างมาก และยังผลให้ราคาหุ้นของบริษัทโฮลดิ้งในตลาดหุ้นได้รับความสนใจจากนักลงทุน เนื่องจากมีการประเมินอัตรากำไรสุทธิไว้โดดเด่นกว่าบริษัทในร่มธงอื่นๆ มาก
เหตุผลสำคัญที่ทำให้อัตรากำไรสุทธิของบริษัทโฮลดิ้งส่วนใหญ่สูงขึ้น เพราะว่าไม่จำเป็นต้องค้ำประกันภาระหนี้สินหรือเงินกู้ของบริษัทลูกได้อีกต่อไป จึงไม่ต้องแบกภาระต้นทุนการเงินสารพัดอีกต่อไป..ถือว่าลอยตัวให้บริษัทลูกเป็นภาระเลี้ยงดูก็ว่าได้
ที่สำคัญ งบการเงินของ PTT ในฐานะโฮลดิ้งในอนาคต จะโปร่งใสชนิด “ไร้ที่ติ” กันเลยทีเดียว
อนาคตของ PTT หลังจากการจัดโครงสร้างเป็นโฮลดิ้งเต็มรูป ก็จะสวยอะร้าอร่ามมากกว่าเดิม…ยิ่งอายุมาก ยิ่งสวยเช้ง ออร่าออกชนิดต้องเหลียวมองตาค้าง…เป็นสาวสวยพันปี ที่ใครๆอยากรุมตอม
สบายไป 8 อย่าง
“อิ อิ อิ”