พาราสาวะถี อรชุน

การเสียชีวิตของ ลิขิต ธีรเวคิน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาด้วยวัย 75 ปี ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลด้านประชาธิปไตยที่สำคัญไปอีกราย แม้เจ้าตัวจะเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยยุครัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคความหวังใหม่และไทยรักไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัวก็ตาม


การเสียชีวิตของ ลิขิต ธีรเวคิน เมื่อวันจันทร์ที่ผ่านมาด้วยวัย 75 ปี ถือเป็นการสูญเสียทรัพยากรบุคคลด้านประชาธิปไตยที่สำคัญไปอีกราย แม้เจ้าตัวจะเคยเป็นอดีตรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทยยุครัฐบาลพลเอกชวลิต ยงใจยุทธ และอดีตส.ส.บัญชีรายชื่อของพรรคความหวังใหม่และไทยรักไทย ที่ได้ชื่อว่าเป็นนักการเมืองเต็มตัวก็ตาม

แต่ความเป็นนักวิชาการรัฐศาสตร์ เป็นราชบัณฑิต และผู้เขียนหนังสือพัฒนาการการเมืองไทย ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกเมื่อปี 2519 และยังถูกใช้นำมาอ้างอิงได้ถึงปัจจุบัน นี่คือคุณูปการของคนที่ยืนหยัดบนอุดมการณ์แห่งประชาธิปไตยอย่างแท้จริง และในห้วงเวลาของการรัฐประหารทั้งปี 2549 และ 2557 ลิขิตก็ได้มีข้อเขียนและทัศนะต่อการยึดอำนาจของทหารไว้อย่างน่าสนใจ

ที่แหลมคมโดนใจกลุ่มไม่สอพลอหรือเอาใจรัฐประหารคงเป็นบทสรุปของบทความดังว่า ที่พูดถึงระบบเผด็จการประชาธิปไตย ที่มันน่าจะสะท้อนภาพของสิ่งที่เป็นอยู่ขณะนี้ได้เป็นอย่างดี กล่าวคือ เผด็จการประชาธิปไตยอาจจะถูกต้องตามกฎหมายแต่ไม่มีความชอบธรรมทางการเมือง ระบบดังกล่าวนี้อาจจะมีรูปแบบเป็นประชาธิปไตย  แต่เนื้อหาไม่ใช่ประชาธิปไตยแบบเสรีนิยมอย่างแน่นอน  ที่แน่ๆ ก็คือ  โดยเนื้อหาและความเป็นจริงระบบที่เป็นอยู่นี้เป็นระบบเผด็จการประชาธิปไตยอย่างถ่องแท้

นั่นเป็นความเห็นเมื่อปี 2549 แต่ในช่วงของวิกฤติการเมืองว่าด้วยม็อบกปปส.และหลังการยึดอำนาจของคสช.ในปี 2557 ลิขิตก็ได้แสดงความเห็นที่น่าสนใจหลายประการ โดยแสดงความไม่เห็นด้วยกับการตั้งตัวเป็นรัฏฐาธิปัตย์ของ สุเทพ เทือกสุบรรณ และการพูดถึงเรื่องรัฏฐาธิปัตย์โดยเข้ารกเข้าพง อันจะทำให้ประชาชนไขว้เขวไปทั้งประเทศ

ก่อนที่จะวิจารณ์ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ บวรศักดิ์ อุวรรณโณ เป็นประธานกรรมาธิการยกร่างเมื่อปี 2558 โดยลิขิตระบุว่า ตามหลักการประชาธิปไตย อำนาจต้องเป็นของปวงชน ถือเป็นหลักศักดิ์สิทธิละเมิดไม่ได้ หากมีสิ่งใดที่ขัดกับหลักการนี้ไม่ถือว่าเป็นประชาธิปไตย ฉะนั้นในรัฐธรรมนูญฉบับดังกล่าวจึงไม่สามารถตอบคำถามได้ว่าเป็นประชาธิปไตยอย่างไร

สิ่งที่เป็นวลีทองของลิขิตที่มีต่อร่างรัฐธรรมนูญฉบับนั้นก็คือ เสียดายมาก ร่างออกมาดีประชาชนได้ประโยชน์ได้เยอะ แต่ในเมื่อสิ่งสูงสุดคือหลักการอันศักดิ์สิทธิมันถูกละเมิดไปแล้ว มันไม่มีประโยชน์อะไรเลย พร้อมทั้งวิจารณ์ว่า ไม่ว่าใครก็ตามไม่สามารถที่จะต่อสู้กับเวลาได้ และยิ่งไปกว่านั้นไม่มีใครที่จะสามารถสู้กับการเปลี่ยนแปลงของยุคสมัยได้เช่นกัน แต่สิ่งที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้กำลังทำอยู่คือกำลังต่อสู้กับทั้งสองสิ่ง

ไม่เพียงเท่านั้น ในส่วนร่างรัฐธรรมนูญฉบับ มีชัย ฤชุพันธุ์ ลิขิตก็ได้ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจไม่แพ้กัน โดยมองว่าเจตนารมณ์ของร่างรัฐธรรมนูญฉบับกรธ.คือต้องการประชาธิปไตยครึ่งใบ ให้เป็นเหมือนรัฐธรรมนูญปี 2521 ไม่ต้องการให้คนไม่ดี คนโกงกินเข้ามาสู่การเมือง ในแง่หนึ่งคนโกงก็ต้องมีวิธีป้องกัน แต่วิธีการถูกต้องหรือไม่ อาจทำถูก แต่กลับกระทบกับหลักใหญ่กว่านั้นอีกคือกระทบหลักการปกครองประชาธิปไตย

ตนไม่เห็นด้วยกับการรักษามะเร็งด้วยคีโม แม้ไปทำลายเนื้อร้าย แต่ในขณะเดียวกันร่างกายพังหมด กล่าวคือ กระบวนการรักษาส่งผลกระทบต่อร่างกายมากกว่ามะเร็ง แม้มะเร็งจะหยุด แต่ส่วนอื่นของร่างกายพังหมด มันจะมีประโยชน์อะไร ถ้าต้องการรักษามะเร็งแต่ทำให้ร่างกายอ่อนแอกว่าเดิม ตนสงสัยว่าการรักษาแบบนี้มันสมเหตุสมผลหรือ เราแก้ปัญหาหนึ่ง แต่มีปัญหาอีกหนึ่งตามมา ซึ่งหนักว่าปัญหาที่แก้เสียอีก

บอกตรงๆ ประชาชนต้องการสิทธิเสรีภาพ แต่ไม่แน่ใจว่าประชาชนเข้าใจถึงประชาธิปไตยอย่างลึกซึ้งจริงๆ หรือไม่ นักการเมือง นักวิชาการเองเข้าใจรัฐธรรมนูญหรือไม่ คนร่างรัฐธรรมนูญเองนอกจากมีชัยและสมาชิกที่เป็นคณะกรรมการกฤษฎีกาแล้ว ถามว่ามีความรู้ด้านรัฐศาสตร์ ประวัติศาสตร์ประชาธิปไตยมากน้อยเพียงใด ไม่ว่าจะเป็นอาจารย์จากนิด้า-จุฬาฯ ถามว่ารู้เรื่องประชาธิปไตย รู้รัฐศาสตร์จริงๆ เหรอ

สิ่งที่ลิขิตฝากถึงมีชัยและชาวคณะคือ เมื่อร่างรัฐธรรมนูญขึ้นมาหวังจะแก้ปัญหา แต่ร่างเสร็จแล้วจะนำไปสู่ปัญหาที่หนักกว่าเดิม นำปัญหาอันหนักหน่วงที่เคยเกิดขึ้นในอดีตกลับมาอีก เป็นการล้มเหลวโดยสิ้นเชิง กรธ.ต้องตั้งสติให้มั่นและมีความคิดแบบว่าถูกต้องหรือไม่ที่ร่างอย่างนี้ สอดคล้องความเป็นจริง มีโอกาสสำเร็จหรือไม่ ถ้าไม่สำเร็จจะแก้อย่างไร รัฐธรรมนูญฉบับนี้เป็นฉบับประวัติศาสตร์ ถ้าร่างมามีปัญหา เกิดความเสียหายอย่างหนัก ผู้ร่างต้องรับผิดชอบ

น่าเสียดายที่คนตักเตือนไม่ได้อยู่ดูว่า ผลแห่งรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะออกมาในทางดีหรือร้าย แต่ด้วยใจที่มองทุกอย่างด้วยความเป็นกลาง ลิขิตเองก็ได้ฝากถึงนักการเมืองทั้งหลายด้วยว่า นักการเมืองต้องถามตัวเองเหมือนกันว่ามาเป็นนักการเมืองเพื่ออะไร มีความรู้เรื่องประชาธิปไตยมากน้อยแค่ไหน มีอุดมการณ์ความรับผิดชอบต่อสังคม มีจริยธรรมทางการเมือง มีความอิสระในการตัดสินใจโดยไม่อยู่ในอาณัติของพรรคการเมืองมากแค่ไหน

ไม่ใช่ใช้อำนาจรัฐหาผลประโยชน์ นั่นไม่ใช่นักการเมืองที่ถูกต้อง นักการเมืองต้องทำเพื่อส่วนรวม เพื่อประเทศชาติ เข้ามาทำงานจริงๆ มีความรู้มีความเข้าใจและเป็นตัวของตัวเอง รักษาไว้ซึ่งกฎกติกาของสังคม ถ้าเข้าไปแล้วทำผิดๆ ถูกๆ โกงกิน นั่นไม่ใช่นักการเมืองที่พึงประสงค์ ไม่ต่างอะไรกับคนรับงานแล้วไม่ทำงาน เหมือนรับงานแล้วหาประโยชน์จากงานนั้นโดยไม่สุจริตธรรม

จุดยืนของลิขิตต่ออำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชน อันเป็นหลักใหญ่ที่สุดของรัฐธรรมนูญ ตลอดจนทัศนะของการเป็นนักการเมืองที่ดี อยู่ที่ว่าใครจะตระหนักหรือนำเอาหลักการอันเข้มแข็งนี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชน แต่ก็อีกนั่นแหละ เมื่ออำนาจของปวงชนถูกละเมิดไม่ว่าจะด้วยเหตุใดก็ตามทั้งการสร้างวิกฤติเทียมจนลามไปสู่การก่อรัฐประหาร ต้นตอของความขัดแย้งที่มันไม่ถูกต้องและนำมาซึ่งอำนาจที่ไม่ชอบธรรม ย่อมยากที่จะสร้างความสามัคคีปรองดองให้เกิดขึ้นได้

Back to top button