KBANK ผิดทั้งบุคคลและระบบแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
คำสั่งลงโทษของ ก.ล.ต. ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 เพิกถอนใบอนุญาตพนักงานธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ที่เป็นมาร์เก็ตติ้งของกองทุนรวม จำนวน 8 ราย ในข้อหาฉ้อโกงลูกค้า มีคำถามที่เป็นปริศนามากมายที่รอคำตอบอยู่หลายประเด็นอย่างมากว่า ธนาคารพาณิชย์ที่ได้ชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงระดับหัวแถวรายนี้ของประเทศไทย ปล่อยให้เรื่องเช่นนี้ เกิดขึ้นภายในองค์กรได้อย่างไร
คำสั่งลงโทษของ ก.ล.ต. ลงวันที่ 21 พฤศจิกายน 2559 เพิกถอนใบอนุญาตพนักงานธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK ที่เป็นมาร์เก็ตติ้งของกองทุนรวม จำนวน 8 ราย ในข้อหาฉ้อโกงลูกค้า มีคำถามที่เป็นปริศนามากมายที่รอคำตอบอยู่หลายประเด็นอย่างมากว่า ธนาคารพาณิชย์ที่ได้ชื่อว่ามีประสิทธิภาพสูงระดับหัวแถวรายนี้ของประเทศไทย ปล่อยให้เรื่องเช่นนี้ เกิดขึ้นภายในองค์กรได้อย่างไร
พฤติกรรมฉ้อโกงลูกค้า เพราะความโลภของพนักงานธนาคารอันเป็น “อาชีพอันทรงเกียรติ” หรือ Noblesse oblige มายาวนานหลายร้อยปีนั้น ต้องเป็นมากกว่าแค่การลงโทษ เพราะมีพฤติกรรมทำลายความน่าเชื่อถือรุนแรง
เรื่องราวที่แสนอึมครึม คือ บุคคลทั้ง 8 เป็นพนักงาน KBANK ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่ขายกองทุนรวมให้กับ บลจ.ต่างๆ ตามที่มีข้อตกลงกับ KBANK โดย 6 คนเป็นพนักงานหน้าเคาน์เตอร์ อีก 2 รายเป็นผู้ร่วมสมคบคิด
คนทั้ง 6 ที่ไม่ได้นัดหมายกระทำการร่วมกัน แต่ต่างกรรมต่างวาระ มิได้มีความเกี่ยวข้องกัน และอยู่คนละสาขากัน (…แต่ไม่มีระบุว่าสาขาไหน จังหวัดไหน หรืออำเภอไหน..ปล่อยให้งงซะงั้น ) แต่มีพฤติกรรมคล้ายกันด้วยการนำเงินของลูกค้าที่ประสงค์จะซื้อกองทุนไปใช้ประโยชน์ส่วนตน มีรายชื่อดังต่อไปนี้
(1) นางสาวกนกกาญจน์ สวนขวัญ (2) นางสาวปุณิกา ถาวรวงษ์กุล (ขณะกระทำผิดชื่อ นางสาวกานต์พิชชา อรุณชัยโรจน์) (3) นางสาวอัชรียา สังวาลรัมย์ (4) นางสาวธนภร สุวรรณพงษ์ (ดำรงตำแหน่งผู้จัดการสาขาด้วย) (5) นางปรานี รอดยินดี (6) นางสาวดอกอ้อ โชตนา
บุคคลทั้ง 6 ได้กระทำการระหว่างเดือนสิงหาคม 2551-ธันวาคม 2558 ด้วยการกระทำตามขั้นตอนต่อไปนี้คือ 1) รับเงินค่าซื้อกองทุนจากลูกค้า แต่ไม่ทำรายการซื้อในระบบของธนาคาร และ 2) จัดทำสมุดบัญชีกองทุนปลอมเป็นหลักฐานให้ลูกค้าเสมือนลูกค้าได้ซื้อกองทุนแล้ว หรือ 3) เปิดบัญชีปลอมในชื่อลูกค้าหรือชื่อผู้อื่น
เมื่อกองทุนครบกำหนด (…หากพิจารณาระยะเวลาที่ครบอายุ กองทุนที่ขายคงเป็นตราสารหนี้ระยะสั้น หรือ กองทุนทริกเกอร์ฟันด์ที่อายุไม่เกิน 1 ปี…) พนักงานธนาคารพวกนี้ ก็นำเงินจากลูกค้ารายอื่นโยกไปฝากเข้าบัญชีออมทรัพย์ของลูกค้ารายเดิม เสมือนเป็นการคืนเงินลงทุนพร้อมผลประโยชน์ จากนั้นชักชวนลูกค้ารายเดิมให้ลงทุนต่อ แล้วใช้วิธีการในลักษณะเดิมซ้ำอีก
วิธีการกระทำ ลูกค้าที่ซื้อกองทุนจะไม่มีทางรู้เลยว่า ผลตอบแทนของเงินลงทุนที่ได้รับคืนมานั้น “เกินจริง” หรือ “ต่ำกว่าจริง” เพราะจะเป็นไปตามที่พนักงานธนาคารเหล่านี้บอกกล่าว ด้วยความไว้วางใจกัน
ในคนเหล่านี้ ยังมีพฤติกรรมบางคนเลวร้ายบัดซบถึงขั้น 1) สั่งขายกองทุนในบัญชีของลูกค้า โดยปลอมเอกสารการขายกองทุน 2) เปิดบัญชีออมทรัพย์และทำบัตร ATM ปลอม หรือ 3) ปลอมลายมือชื่อลูกค้า เพื่อถอนเงินจากบัญชีลูกค้า
ในกรณีของนางสาวธนกร ยังมีข้อมูลอีกว่า มีพนักงานในสาขาที่นางสาวธนกรเป็นผู้จัดการอยู่ (ไม่บอกอีกเช่นกัน ว่าสาขาไหน) ร่วมด้วยอีก 2 คน ได้แก่ นางสาวณัชชา สุทธิเพท และ นางสาวนิจวรรณ เอี่ยมสอาด โดยเป็นผู้ทำรายการให้แก่ลูกค้า ทั้งที่มีความผิดปกติอย่างชัดเจน และทราบว่าเป็นการฝ่าฝืนกฎระเบียบของธนาคาร เช่น ถอนเงินจากบัญชีลูกค้า แล้วซื้อกองทุนให้บุคคลอื่นโดยที่ลูกค้าไม่ได้มาด้วยตนเอง หรือทำรายการซื้อกองทุนโดยตัดบัตรเครดิตของลูกค้ารายอื่น
ข้อมูลกระทำความผิดในรูปแบบ “เงินลูกค้า คือเงินเราเอง” นี้ ถูกตรวจพบโดยฝ่ายตรวจสอบภายในของธนาคาร KBANK เอง ซึ่งมีฐานะเป็นผู้ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหลักทรัพย์ ประเภทการเป็นนายหน้าค้า และจัดจำหน่ายหลักทรัพย์ที่เป็นหน่วยลงทุน (Limited Broker Dealer and Underwriter: LBDU) แล้วแจ้งเรื่องต่อทาง ก.ล.ต. รับทราบ..โดยสั่งพักงานพนักงานทั้งหมดที่พบว่ากระทำผิดต่างกรรมต่างวาระ
KBANK แสดงความรับผิดชอบด้วยการเลิกจ้างพนักงานทั้ง 8 ราย พร้อมกับคืนเงินต้นและค่าเสียหายแก่ลูกค้าที่ถูกฉ้อโกงไปจนหมด…ไม่กระโตกกระตาก
ก.ล.ต. รับทราบ แล้วตรวจสอบเพิ่มเติม …แต่ก็ไม่ได้ชี้แจงว่า ตั้งแต่เมื่อใด ถึงเมื่อใด…ก่อนจะมาเป็นคำสั่งลงโทษ คำสั่งเพิกถอนใบอนุญาตมาร์เก็ตติ้งกองทุนของทั้ง 8 คน
นอกจากนี้ ก.ล.ต.ได้ตรวจพบการปฏิบัติงานที่บกพร่องของ ผู้จัดการสาขาอีก 3 ราย ใน 2 สาขา ได้แก่ (1) นางศิรดา ชัยภัทรเดช มีการใช้ดุลยพินิจที่ไม่ถูกต้องในการแก้ไขปัญหาเมื่อพบการทุจริต และ (2) นายผริต ปัญจวรรณ และ (3) นายมนตรี แก้วหลวง ละเลยการตรวจสอบดูแล โดยไม่ได้ปฏิบัติตามมาตรการควบคุมภายในที่ธนาคารกำหนด จนทำให้ไม่พบข้อพิรุธของกรณีทุจริต
ก.ล.ต. จึงห้ามบุคคลทั้ง 3 ราย ปฏิบัติหน้าที่เป็นผู้จัดการสาขาในธุรกิจตลาดทุน และสั่งพักงานในหน้าที่ 4 เดือน
ในส่วนของ KBANK ก.ล.ต. ก็ไม่ได้เว้น ถือว่า ระบบการบริหารและจัดการความเสี่ยงเกี่ยวกับการซื้อขายกองทุนขาดประสิทธิภาพ จึงลงโทษปรับธนาคารในความบกพร่องดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 กรกฎาคม 2559 เพื่อให้แก้ไขปรับปรุง
งานนี้ เจ้าของภาพลักษณ์ “สุดยอดธรรมาภิบาล” อย่างเสี่ยปั้น บัณฑูร ล่ำซำ คงมีบทเรียนอักโขทีเดียว
“อิ อิ อิ”