พาราสาวะถี อรชุน

นโยบายประชานิยม โดนถล่มว่าเป็นนโยบายหาเสียงและนักการเมืองเป็นผู้ได้ประโยชน์ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการประชานิยมคือประชาชน แต่ก็นั่นแหละในเมื่อเหล่าคนดีของบ้านนี้เมืองนี้เห็นว่ามันไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง จึงหาวิธีในการที่จะโค่นล้มและทำให้คนไทยลืมคำว่าประชานิยมไปเสีย ประหนึ่งว่า นโยบายลด แหลก แจกแถมให้ประชาชนนั้นได้หมดจากประเทศนี้ไปแล้ว


นโยบายประชานิยม โดนถล่มว่าเป็นนโยบายหาเสียงและนักการเมืองเป็นผู้ได้ประโยชน์ ทั้งที่จริงๆ แล้ว ผู้ที่ได้ประโยชน์สูงสุดจากโครงการประชานิยมคือประชาชน แต่ก็นั่นแหละในเมื่อเหล่าคนดีของบ้านนี้เมืองนี้เห็นว่ามันไม่ใช่ ไม่ถูกต้อง จึงหาวิธีในการที่จะโค่นล้มและทำให้คนไทยลืมคำว่าประชานิยมไปเสีย ประหนึ่งว่า นโยบายลด แหลก แจกแถมให้ประชาชนนั้นได้หมดจากประเทศนี้ไปแล้ว

แต่ความเป็นจริงหาได้เป็นเช่นนั้นไม่ รัฐบาลทหารเองยังคงให้ความสำคัญและนำมาปฏิบัติ เพียงแต่ว่าดัดแปลงหรือจะเรียกว่าเลียนแบบให้มันเนียนก็ว่าได้จึงกลายร่างเป็นนโยบายประชารัฐ ซึ่งมีคำถามตามมาว่าประโยชน์ที่ประชาชนจะได้จากประชารัฐนั้นดีเหมือนประชานิยมหรือเปล่า คงต้องให้ชาวบ้านร้านรวงเป็นผู้นำให้คำตอบ

อย่างไรก็ตาม มีข้อสงสัยดังๆ ลอยมาจากนักการเมืองโดยเฉพาะจากซีกส่วนพรรคเพื่อไทย “ประชานิยมห้ามทำ แต่ประชารัฐทำได้” ตรรกะแบบนี้มันหมายความว่าอย่างไร คงไม่ต้องสาธยายอะไรให้มาก ก็ในเมื่อคนดีและผู้มีอำนาจเบ็ดเสร็จเด็ดขาด เขาเห็นว่ามันดีแล้วใครจะกล้ามีปัญหาอะไรไหม จะแจกเงินให้เกษตรกรผ่านโครงการที่ชื่ออะไรก็ช่าง จะแจกเงินเป็นของขวัญปีใหม่ให้คนยากคนจน ใครจะกล้าขัดและชี้นิ้วว่าไม่สมควรทำ

คงมีแต่คนยกมือสนับสนุน เพียงแต่ว่าคำถามที่ตั้งกันขึ้นมาแบบง่ายๆ แล้วแจกเงินให้ประชาชนเฉยๆ แบบนี้จะถูกตีความว่าเป็นความเสียหายหรือรัฐขาดทุน เหมือนที่ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร และคณะรัฐนาวานายกฯหญิงจ่ายเงินให้ชาวนาโดยตรงผ่านโครงการจำนำข้าวหรือเปล่า คำตอบที่เป็นเหตุเป็นผลคงหาฟังได้ยาก อย่างดีก็มีแค่การแถโดยอาศัยความเป็นคนดีมาเป็นภูมิคุ้มกันก็เท่านั้น

ช่วงที่บรรดากองเชียร์เผด็จการจะพากันมองว่ามันไม่ได้หรือที่คนจนได้เงินแล้วก็ยังจะเป็นการกระตุ้นเศรษฐกิจทางอ้อมด้วย เรื่องนี้ยืนยันมาแล้วจาก กฤษฎา จีนะวิจารณะ ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลังหรือสศค.ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังว่า มาตรการดังกล่าวมีส่วนช่วยกระตุ้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือจีดีพีได้เพียงร้อยละ 0.1 เท่านั้น

นั่นเป็นเพราะมาตรการดังกล่าวไม่ได้หวังมาช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ แต่มุ่งให้เป็นการช่วยเหลือผู้ที่มีรายได้น้อยอย่างแท้จริง แต่ พิชัย นริพทะพันธุ์ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานยุคยิ่งลักษณ์ กลับมองว่า เคยเตือนแล้วเรื่องเศรษฐกิจปลายปีจะถดถอยแต่รัฐบาลไม่ยอมฟัง และสุดท้ายก็ออกมายอมรับ โดยเริ่มออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ทั้งๆ ที่เคยบอกว่าไม่จำเป็น

กระนั้นก็ตาม การแจกเงินในลักษณะนี้ แม้ว่าจะเป็นความพยายามที่จะช่วยเหลือประชาชนในภาวะลำบาก แต่มองว่าจะไม่ได้เกิดประโยชน์ในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เพราะเศรษฐกิจในภาพรวมยังย่ำแย่ การลงทุนหดหาย และการส่งออกที่เป็นรายได้ของประเทศหายไปมาก มาตรการที่หวังจะใช้เงินคนจนมาช่วยกระตุ้นมันจึงเป็นตรรกะที่ใช้ไม่ได้

ดังนั้น การจะแก้ปัญหาเศรษฐกิจที่แท้จริง จะต้องแก้ในภาพรวมของทั้งประเทศ มากกว่าการแจกเงินให้กับประชาชนซึ่งไม่ต่างจากเช็คช่วยชาติ 2,000 บาทสมัยรัฐบาลอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่ทำไปแล้วสูญเปล่า และมีคำถามว่าเป็นประชานิยมหรือไม่ และทำให้ประเทศเสียหายด้วยหรือไม่ ซึ่งในกรณีนี้อดีตขุนคลังยุคนั้นอย่าง กรณ์ จาติกวณิช เองก็ไม่กล้าวิจารณ์ เพราะมันจะเข้าข่ายว่าแต่เขาอิเหนาก็เคยทำมาแล้ว

เมื่อมันไม่เกิดประโยชน์ ย่อมมีคำถามตามมาว่าแล้วจะทำไปเพื่ออะไร พิชัยตั้งข้อสังเกตว่ากรณีดังกล่าวอาจจะเป็นการหาเสียงของรัฐบาลอีกทางหนึ่ง เพราะปัจจุบันคะแนนนิยมของรัฐบาลตกต่ำลงอย่างมาก โดยเฉพาะเรื่องการแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจ เช่น เรื่องราคาข้าวและราคาสินค้าเกษตรอื่นๆ จึงทำให้ต้องหาทางออกโดยการแจกเงินเพื่อหวังฟื้นคะแนนนิยม

มันก็ชวนให้คิดอย่างนั้นได้ เนื่องจากในการประชุมครม.วันอังคารที่ผ่านมา นอกจากการอนุมัติจ่ายเงินคนจนแล้ว ที่ประชุมยังเห็นชอบการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำในพื้นที่ 69 จังหวัดอีกต่างหาก ในอัตรา 5-10 บาท โดยมีจังหวัดที่ได้ขึ้นค่าแรงสูงที่สุดคือ กรุงเทพฯและปริมณฑล รวมนครปฐมและภูเก็ต ส่วนคำอธิบายของท่านผู้นำและคนที่เกี่ยวข้องนั้นไม่ต้องไปพูดถึง

จะอ้างเรื่องความเหมาะสมหรือไม่อย่างไร คงไม่มีใครไปเถียงท่านได้ แต่สิ่งที่คนทั่วไปอยากให้หามาตรการจัดการและดำเนินการอย่างจริงจังคือ จะทำอย่างไรไม่ให้พวกพ่อค้าแม่ขายโดยเฉพาะพวกรายย่อย ค้าปลีก ขึ้นราคาสินค้ารับกับค่าแรงที่เพิ่มขึ้น ซึ่งพบว่ามีหลายรายการที่ได้ปรับตัวขึ้นไปรอการขึ้นอัตราค่าแรงดังกล่าวแล้ว

เมื่อไม่มีมาตรการจัดการ ภาวะต้นทุนชีวิตที่สูงขึ้นของประชาชนก็ไม่ได้รับการแก้ไข ค่าแรงที่เพิ่มขึ้นกลายเป็นว่าน้อยมากเมื่อเทียบกับค่าครองชีพที่พวกหน้าเลือดขูดรีดเอากับผู้มีรายได้น้อย ซึ่งนั่นไม่ได้กระทบเฉพาะต่อผู้ใช้แรงงานที่ได้รับการปรับขึ้นค่าแรงเท่านั้น หากแต่มันหมายถึงคนทั่วไป เกษตรกรหรือคนยากคนจนที่ท่านบอกว่ามีมาตรการช่วยเหลือต่างก็ได้รับความเดือดร้อนกันทั่วหน้า

ถามต่อว่าก็หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีมาตรการในการควบคุมราคาสินค้าอยู่แล้ว โดยเฉพาะพวกสินค้าควบคุม นั่นเป็นข้ออ้างในเชิงทฤษฎีซึ่งสามารถไปขอความร่วมมือพวกขาใหญ่ได้เท่านั้น แต่ในทางปฏิบัติถามว่ามีการจัดการกับพวกที่ขายให้กับคนโดยทั่วไปโดยตรงได้หรือไม่ หน่วยงานก็จะอ้างว่าไม่มีกำลังเพียงพอที่จะไปจัดการถึงขนาดนั้น

แต่ในเมื่อยุคนี้ภาครัฐมีกำลังเจ้าหน้าที่เหลือเฟือจากการระดมทหารทุกสังกัดเข้าไปช่วยแก้ปัญหาชีวิตให้กับประชาชนและของตนเองหลากหลายเรื่องตั้งแต่สากกะเบือยันเรือ (ดำน้ำ) รบ กับการส่งคนไปเฝ้าระวังเรื่องการขึ้นราคาสินค้าเอาเปรียบประชาชนคงไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง ทั้งนี้ ก็มีคนตั้งข้อสังเกตว่าถ้าจับอาการผู้นำต่อการขึ้นค่าแรงแล้วรู้สึกจะเห็นใจผู้ประกอบการเป็นพิเศษ ซึ่งก็คงไม่ใช่เรื่องแปลกเพราะขาใหญ่ทั้งหลายเขาเชียร์และช่วยเหลือกันอย่างออกนอกหน้าเสียขนาดนั้น

Back to top button