หน้าที่ธกส.?ขี่พายุ ทะลุฟ้า
รัฐบาลบอกว่า ไม่เอา “ประชานิยม” แต่จะเอา “ประชารัฐ” แต่ในที่สุดแล้ว พอคิดอะไรไม่ออก ก็เข็นมาตรการโปรยเงิน “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” รอบ 2 ออกมาอีก
ชาญชัย สงวนวงศ์
รัฐบาลบอกว่า ไม่เอา “ประชานิยม” แต่จะเอา “ประชารัฐ” แต่ในที่สุดแล้ว พอคิดอะไรไม่ออก ก็เข็นมาตรการโปรยเงิน “เฮลิคอปเตอร์ มันนี่” รอบ 2 ออกมาอีก
เจ้าตำรับ “ประชานิยม” เก่าแก่ พรรคไทยรักไทย ยังไม่ยอมใช้วิธีแจกเงินดื้อๆ กันอย่างนี้นะเนี่ย แต่คนที่นำมาใช้คนแรกคือพรรคประชาธิปัตย์
และก็มีการลอกเลียนแบบกันต่อมา ดังที่เห็น
ถ้าตัวเลขเศรษฐกิจมันกระเตื้องขึ้นจริงตามกระแสโฆษณา ก็คงจะไม่มีมาตรการอันนึกไม่ถึง ซึ่งยิ่งกว่า “ประชานิยม” เช่นนี้เสียอีกหรอกนะ
รัฐบาลบอกว่า ไม่เอา “จำนำข้าว” แต่จะเอา “จำนำยุ้งฉาง” ก็เลยต้องเฉไฉ หาทางเลี่ยงบาลีกันไป แต่ในที่สุดแล้ว ก็คงจะเจอปัญหาในทางปฏิบัติที่พัลวันพัลเกน่าดู
มันคงไม่ง่ายเหมือนคำพูดท่านผู้นำว่า ถ้าครบกำหนด 90 วันแล้ว ถ้าชาวนาไม่มาไถ่ถอน ก็ให้ธ.ก.ส.นำข้าวเปลือกไปสี และขายข้าวผ่านระบบสหกรณ์
ผมว่ามันไม่ง่ายนะ
ในประการแรกเลยก็คือ ภารกิจหน้าที่ของธ.ก.ส.ที่ตราไว้เป็นกฎหมาย คือการปล่อยสินเชื่อให้เก่เกษตรกร โดยผ่านระบบสหกรณ์การเกษตรมิใช่หรือ
แต่จะให้เป็นพ่อค้า นำข้าวไปแปรรูปขายเมื่อชาวนาไม่มาไถ่ถอน มันจะทำได้ยังไงอ๊ะ
รัฐบาลจะปรับเปลี่ยนหน้าที่ธ.ก.ส.อันเป็นธนาคารรัฐจากการเป็นผู้ให้สินเชื่อเกษตรกรอย่างเดียว ต้องมาเป็นผู้ค้าข้าวด้วยกระนั้นหรือ
ก็ต้องมาตีความข้อกฎหมายกันว่ารัฐบาลทำได้หรือไม่
ในประการที่สอง นี่คือปัญหาในทางปฏิบัติเลยล่ะก็คือ เมื่อธ.ก.สเอาข้าวไปขายให้สหกรณ์ฯ แล้วสหกรณ์ฯจะเอาข้าวไปขายใคร
ถ้าราคาข้าวขึ้น ก็ยังพอมีแรงจูงใจ แต่ถ้าราคายังคงตกต่ำอยู่ ก็คงไม่มีสหกรณ์ฯใดกล้าเข้ามาแบกรับภาระขาดทุน
นอกจากนี้ ก็ยังไม่เคยมี “ประเพณีปฏิบัติ” ที่สหกรณ์การเกษตรจะรับข้าวจำนวนมากไปจำหน่ายเสียด้วย
แล้วมันจะยังไงล่ะครับ!
ถ้าสหกรณ์ฯไม่รับซื้อข้าวไป ข้าวก็ต้องอยู่กับธ.ก.ส. แล้วธ.ก.ส.ก็ต้องหาโกดังเก็บ และก็ต้องจ่ายค่าดูแลรักษา เหมือนกับที่รัฐบาลยุคจำนำข้าว เคยรับภาระ
เมื่อก่อนนี้ ธ.ก.ส.จ่ายเงินจำนำให้เกษตรกรไปก่อน แล้วรัฐบาลชดเชยให้ทั้งต้นและดอกเบี้ยภายหลัง แต่มาตรการใหม่ของรัฐบาลนี้ ที่ไม่ให้เรียกจำนำแต่เสมือนจำนำ
ธ.ก.ส.จะกลายเป็นผู้รับภาระจ่ายเงินไว้ทั้งหมด
ธ.ก.ส.อาจล่มจมได้เลยนะครับ หากต้องแบกรับภาระในวงเงินช่วยชาวนา 4-5 หมื่นล้านบาทในฤดูการผลิตนี้
แต่ถ้าธ.ก.ส.จะปัดความรับผิดชอบให้พ้นตัวไป ก็ต้องให้ชาวนามาเป็น “ผู้กู้” สำหรับเงินที่ธ.ก.ส.จ่ายจำนำยุ้งฉางออกไป ซึ่งนั่นก็เท่ากับว่า ชาวนาต้องมาเป็นลูกหนี้อีก
หากไม่มาไถ่ถอนการจำนำ ก็ต้องกลับมารับผิดชอบในฐานะลูกหนี้อยู่ดี คราวนี้แหละ ชาวนาจะยิ่งเป็นลูกหนี้ธ.ก.ส.เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณ และภาระหนี้ยังจะตกไปถึงชั่วลูกชั่วหลานเลยทีเดียว
วังวนของมาตรการ “เลี่ยงจำนำ” คงจะปรากฏให้เห็นได้ภายใน 3-4 เดือนข้างหน้านี้