พาราสาวะถี อรชุน

ราชบัณฑิตและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้ล่วงลับ ลิขิต ธีรเวคิน เคยฉายภาพเรื่องวิกฤติของบ้านเมืองไว้ได้อย่างทะลุปรุโปร่งและเป็นจริง วิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สร้างกันขึ้นมา ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือที่เรียกว่า “วิกฤติเทียม” เมื่อไม่มีวิกฤติแต่สร้างวิกฤติเพื่อให้วิกฤติแล้วนำไปสู่การยึดอำนาจโดยกองทัพ วันนี้มันจึงกลายเป็นวิกฤติจริงที่ต้องมาขบคิดว่าจะสะสางกันอย่างไร


ราชบัณฑิตและนักวิชาการด้านรัฐศาสตร์ผู้ล่วงลับ ลิขิต ธีรเวคิน เคยฉายภาพเรื่องวิกฤติของบ้านเมืองไว้ได้อย่างทะลุปรุโปร่งและเป็นจริง วิกฤติที่เกิดขึ้นเป็นสิ่งที่สร้างกันขึ้นมา ไม่ได้เกิดขึ้นโดยธรรมชาติหรือที่เรียกว่า “วิกฤติเทียม” เมื่อไม่มีวิกฤติแต่สร้างวิกฤติเพื่อให้วิกฤติแล้วนำไปสู่การยึดอำนาจโดยกองทัพ วันนี้มันจึงกลายเป็นวิกฤติจริงที่ต้องมาขบคิดว่าจะสะสางกันอย่างไร

ปมว่าด้วยความปรองดองและสามัคคี เป็นโจทย์ใหญ่ที่เป็นเหตุผลสำคัญในการยึดอำนาจจากคมช.เมื่อ 10 ปีที่ผ่านมา สู่ยุคคสช.แม้ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา จะชูแนวทางช่วงเปลี่ยนผ่าน 5 ปีไปสู่การปฏิรูปตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แต่จนถึงนาทีนี้ยังไม่มีใครการันตีได้ว่า อะไรคือผลงานที่สัมผัสจับต้องได้ของรัฐบาลคสช.ในการทำให้คนไทยรักกัน

ความสงบที่เกิดขึ้นในห้วงเวลานี้คือพระบารมีของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช คนไทยอยู่ในช่วงแห่งการโศกเศร้าอาดูร จึงไม่มีกะจิตกะใจที่จะไปทะเลาะเบาะแว้งกัน ทุกฝ่ายต่างร่วมใจเป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันเพื่อพ่อหลวงของปวงชน แต่คนที่เกี่ยวข้องกับอำนาจไม่ว่าจะในรูปแบบใด ถามว่าใจของท่านทั้งหลายเหล่านั้น เคยคิดที่จะจับมือปรองดองหรือไม่

ความพยายามที่เห็นผ่านกระบวนการยกร่างกฎหมายเห็นได้อย่างชัดเจนว่า แม้จะอ้างเรื่ององค์รวมของการปฏิรูปประเทศ แต่บริบทที่เห็นเป็นไปในลักษณะเพื่อตีกันหรือเล่นงานบางพวกบางฝ่าย เมื่อเขียนกฎหมายโดยไม่ได้ยึดคนส่วนใหญ่เป็นสำคัญ มันย่อมหนีไม่พ้นวิกฤติที่จะรออยู่ข้างหน้า เอาแค่เรื่องคนกันเองอย่างกกต.และองค์กรอิสระ ถามว่ากรธ.สามารถตอบคำถามได้เต็มปากเต็มคำหรือไม่ว่าร่างกฎหมายมาเพื่อบังคับใช้ให้เป็นธรรมกับทุกฝ่าย

หากเป็นเช่นนั้นจริง คงไม่มีการตั้งคำถามมาจากกรรมการในองค์กรที่อยู่ในข่ายจะถูกรีเซตเป็นประเดิมอย่างกกต. เพราะเอาเข้าจริงใครต่อใครที่บอกว่าเป็นคนดีและพร้อมจะเสียสละ เมื่อถึงเวลากฎหมายที่ได้ชื่อว่าเพื่อการปฏิรูปไปกระทบกับอำนาจของตัวเองที่มีอยู่ ก็ออกมาร้องแรกแหกกระเชอกันแล้ว เช่นนี้มันจะทำให้ฝ่ายที่รอถูกกระทำอย่างเต็มตีนอย่างฝ่ายการเมืองจะไม่โวยวายได้อย่างไร

กฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองจะมีข้อสรุปพร้อมกฎหมายกกต.และกรธ.จะเปิดเผยโฉมหน้าสู่สาธารณชนภายในปลายสัปดาห์นี้ ที่หนีไม่พ้นจะต้องออกมาเคลื่อนไหวกันแน่คงเป็นกรณีการบังคับให้พรรคการเมืองต้องมีสมาชิก 2 หมื่นคนภายใน 4 ปี กรณีพรรคการเมืองใหญ่คงไร้ปัญหา แต่บรรดาพรรคเล็กพรรคน้อยจะมีปัญญาหาได้ตามกรอบที่กำหนดหรือไม่

พูดแล้วฟังดูดี วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ ลำพังแค่ 1 เขตเลือกตั้งก็มีประชากรที่จะต้องไปลงคะแนนไม่น้อยกว่า 2 แสนคนแล้ว นั่นเป็นเขตพื้นที่ของท่านอดีตส.ส.ที่สังกัดพรรคการเมืองใหญ่หรือเปล่า และคงไม่ใช่เรื่องใหญ่สำหรับพรรคอย่างพรรคเก่าแก่หรือแม้แต่เพื่อไทยในการที่จะไปหาคนมาร่วมชายคา แต่พรรคขนาดเล็กจะไปหามาจากไหน

ส่วนที่บอกว่าเพื่อป้องกันปัญหาพรรคการเมืองเฉพาะกิจ คิดได้แต่ไม่รอบด้าน เพราะความเป็นจริงหากจะป้องกันเพื่อการเกิดขึ้นสำหรับการจัดตั้งรัฐบาลเฉพาะหน้าในการเลือกตั้งที่จะเกิดขึ้น มันก็ไม่จำเป็นที่จะต้องไปรอให้ถึง 4 ปี เพราะเอาแค่มีคนมาสมัครส.ส.และได้จำนวนที่จะไปสนับสนุนผู้ที่อยากเป็นนายกฯคนนอกได้ เท่านี้ก็บรรลุเป้าหมายแล้ว

เรื่อง 4 ปีต้องมีสมาชิก 2 หมื่นคนนั้นกลายเป็นแค่ปลายเหตุ ทางที่ดีหากจะป้องกันการตั้งพรรคเฉพาะกิจจริง มันต้องเป็นไปตามแนวคิดแรกของกรธ.คือ พรรคการเมืองที่จะจัดตั้งขึ้นหลังกฎหมายใหม่มีผลบังคับใช้จะต้องมีสมาชิกตั้งแต่ 5,000 คนขึ้นไป แต่ตอนหลังมาเปลี่ยนเหลือ 500 คนและกลายเป็น 2 หมื่นคนใน 4 ปี อาการแกว่งเช่นนี้น่าจะเป็นสัญญาณอะไรบางอย่างได้อยู่เหมือนกัน

ขณะที่ประเด็นการจะให้ป.ป.ช.และสตง.เข้ามากำหนดกฎเกณฑ์ในการใช้เงินของพรรคการเมืองช่วงการเลือกตั้งนั้น ไม่เห็นประโยชน์ที่จะเกิดขึ้นจากเรื่องนี้ อาจมีแค่ภาพของ 2 องค์กรที่พอจะได้รับความน่าเชื่อถือจากสังคมอยู่บ้าง แต่ก็ไม่ต่างอะไรจากสิ่งที่กกต.เคยกำหนดไว้ก่อนหน้านี้ คือ ทั้งคนลงเลือกตั้งและพรรคการเมือง เขาก็มีเพดานในการกำหนดค่าใช้จ่ายไว้อยู่แล้ว

เพียงแต่ว่าที่ผ่านมาจะมีการตบแต่งตัวเลขกันอย่างไร นั่นก็คงไม่ใช่เป็นความผิดพลาดของกกต.ที่จับไม่ได้ไล่ไม่ทัน เพราะเอาเข้าจริงแม้จะมีป.ป.ช.หรือสตง.เข้ามาเกี่ยวข้องก็คงจะจับไม่ได้ไล่ไม่ทันพวกที่คิดจะทุจริตอยู่ดี สรุปคือหลายๆ เรื่องที่คิดและวางแผนกันไว้ว่าจะช่วยแก้วิกฤติ ยิ่งดูยิ่งเห็นว่าน่าจะเพิ่มวิกฤติในอนาคตเสียมากกว่า

เหตุผลจากการใช้วิกฤติเทียมเพื่อให้เกิดการรัฐประหาร จนวันเวลาผ่านมาคณะผู้ยึดอำนาจทำงานมาเกือบ 3 ปี กลับพบว่าวิกฤติที่เผชิญอยู่นั้น ไม่ว่าจะคิดวิธีการพลิกแพลงอย่างไร ท้ายที่สุดหนีไม่พ้นจะต้องหาทางแก้ปัญหาด้วยวิธีการแบบนักการเมือง จะด้วยแนวทางประชานิยมหรืออย่างไรก็แล้วแต่ แต่นั่นเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า ปัญหาของประชาชนบนวิถีประชาธิปไตยอย่างไรก็ต้องเข้าไปช่วยเหลือด้วยวิธีการลด แลก แจก แถม

ไม่ว่าจะจำนำยุ้งฉาง ไม่ว่าจะเป็นแจกเงินคนจนตั้งแต่ 1,500-3,000 บาท เหล่านี้หากเป็นพรรคการเมืองทำก็ถูกกล่าวหาทันที แต่พอเป็นรัฐบาลทหารทุกอย่างจึงเงียบกริบ แต่นี่คือสัจธรรม สำหรับบางคนที่เคยอยู่กับนักการเมืองแล้วมาถูกจับใส่ตะกร้าล้างน้ำด้วยอำนาจพิเศษจัดพวกเป็นคนดี แม้จะใช้วิธีการลอกเลียนแบบสิ่งที่เคยประสบความสำเร็จมาในอดีต พบว่าเมื่อตัวเองมาฉายเดี่ยวทำเองกลับไม่เป็นไปอย่างที่คิด

มันเป็นภาพสะท้อนว่า เมื่อบริบทเปลี่ยนไปบางเรื่องเคยใช้ได้ผลในยุคสมัยหนึ่งแต่อีกยุคหนึ่งมันอาจใช้ไม่ได้ ขณะเดียวกันมันก็ภาพของวิกฤติเทียมที่ถูกสร้างขึ้นมาค้ำคออยู่ เพราะเที่ยวไปกล่าวหารัฐบาลจากการเลือกตั้งว่าทำโน่นทำนี่แล้วไม่เป็นผลดี พอตัวเองจะมาทำซ้ำมันจึงต้องไปหาวิธีการสารพัดเพื่อเลี่ยงข้อครหา ด้วยเหตุนี้แทนที่มันจะดีและสมบูรณ์ เลยกลายเป็นออกอ่าวออกทะเลหรือเกิดประโยชน์ไม่เต็มเม็ดเต็มหน่วยไปเสียฉิบ นี่แหละผลแห่งความเกลียดชังที่สร้างเรื่องที่ไม่วิกฤติจนกลายเป็นวิกฤติจริงและไปกันไม่เป็น

Back to top button