‘สื่อ’ ของเล่นเจ้าสัว?ทายท้าวิชามาร
และแล้ว อมรินทร์พริ้นติ้ง ก็ต้องเพิ่มทุนขายหุ้นให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ด้วยมูลค่า 850 ล้านบาท มากกว่าค่าซื้อที่ดินบิดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หน่อยเดียว
ใบตองแห้ง
และแล้ว อมรินทร์พริ้นติ้ง ก็ต้องเพิ่มทุนขายหุ้นให้ตระกูลสิริวัฒนภักดี เข้ามาถือหุ้นใหญ่ ด้วยมูลค่า 850 ล้านบาท มากกว่าค่าซื้อที่ดินบิดา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หน่อยเดียว
หน่อยเดียว สำหรับเจ้าสัวที่ Forbes ประเมินว่ามีทรัพย์สินเกือบ 5 แสนล้าน
ไม่มีอะไรเซอร์ไพรส์ในยุคสื่อย่ำแย่ถ้วนหน้า ไม่ว่าสิ่งพิมพ์ หรือทีวีดิจิทัล 24 ช่องขาดทุนเป็นส่วนใหญ่ มีไม่กี่ช่องทำกำไร ได้แก่ช่องเดิมหรือผู้ผลิตรายการเดิม (ขนาดนั้นช่อง 3 ยังกุมขมับ ไม่น่าประมูล SD กับ Family) กระทั่ง “เจ๊ติ๋ม ทีวีพูล” ก็ไม่มี ไม่หนี ไม่จ่าย จอดำไปแล้ว
ทีวีดิจิทัลจะไม่แย่ได้ไง เดิมมี 6 ช่องเพิ่มเป็น 27 ช่อง ต้องแย่งทั้งคนดูและเม็ดเงินโฆษณา ที่ลดลงตามภาวะเศรษฐกิจ เสรีภาพก็ถูกจำกัด มีคนจัดรายการฟรีทุกคืนวันศุกร์
หนักสุดคือสื่อทีวี “ตกยุค” รวดเร็วน่าตระหนก โลกออนไลน์ย้ายสื่อสารบันเทิงไปอยู่บนจอสมาร์ทโฟน คนรุ่นใหม่แทบไม่ดูทีวีแล้ว ทุกวันนี้ใครมี content ดีๆ ไม่ต้องเสียเงินเป็นพันๆ ล้านให้ กสทช.จ่ายโบนัสพนักงาน แค่โพสต์ลง YouTube หรือ facebook live ก็ได้คนดูตรึม
ใน 22 ช่องที่เหลืออยู่ อมรินทร์อาการหนักลำดับต้นๆ มือใหม่ สายป่านสั้น ไม่เคยทำทีวี แต่ใจใหญ่ประมูล HD 3,320 ล้านบาทเพื่อทำทีวีบ้านและสวน ทำมา 3 ปียังหามาร์ธาสจ๊วต เมืองไทยไม่เจอ ถ้าเทียบกัน PPTV ก็มือใหม่ แต่นั่นหมอปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ มหาเศรษฐีอันดับ 8 ของเมืองไทย ซึ่งทุ่มไม่อั้น
อมรินทร์จึงต้องต่อสายป่าน ถามว่ามีเงินแล้วจะทำสำเร็จไหม ก็ไม่ง่าย แต่ในด้านตระกูลสิริวัฒนภักดี การที่ช้างได้ขี่อมรินทร์ ด้วยเม็ดเงินแค่นี้ (ขนหน้าแข้งเส้นเดียว) ก็ถือว่าคุ้มยิ่งกว่าคุ้ม กับการได้เป็น “เจ้าของสื่อ”
การเป็นเจ้าของสื่อในสังคมไทย มีความหมาย และมีผลประโยชน์ได้เสีย มากกว่าตัวเลขกำไรขาดทุนในธุรกิจสื่อเพราะสื่อไทยมีอิทธิพลสูงทางเศรษฐกิจการเมือง เป็นลักษณะเฉพาะของสังคมอุปถัมภ์ ในระบอบกึ่งประชาธิปไตย ซึ่งต่อรองผลประโยชน์กันด้วยอำนาจอิทธิพลต่างๆ โดยสื่อก็มีอิทธิพลสำคัญ
ในอดีตเราจึงเห็นสื่อแบบ “18 อรหันต์” แต่ในปัจจุบัน เราได้เห็น 6 ใน 10 อันดับมหาเศรษฐีไทยเป็นเจ้าของสื่อนี่มันไม่เหมือนรูเพิร์ทเมอร์ด็อก ซื้อสื่อโดยหวังกำไร เพราะในขณะที่เห็นกันชัดๆ ว่าสื่อขาดทุน ยักษ์ใหญ่ก็ยังอยากเป็นเจ้าของสื่อ
ณ วันนี้ เราจึงมีทีวีดิจิตัล 3 กลุ่มใหญ่ กลุ่มหนึ่งคือทีวีรัฐใช้เงินภาษี กลุ่มที่สองทีวีเอกชน ที่ดิ้นรนหาคนดูหารายได้ ซึ่งมีทั้งกำไรและขาดทุน กลุ่มที่สามได้แก่ทีวี “เด็กพิเศษ” 6-7 ช่อง ทำยังไงก็ขาดทุน แต่สายป่านยาว เพราะเป็นเจ้าของธุรกิจที่มีกำไรมหาศาล มีอภิสิทธิ์ ได้สัมปทานรัฐ รวยจากเก็งกำไรตลาดหุ้น ฯลฯ
กลุ่มเหล่านี้ดีดลูกคิดแล้วว่าเศษเงินซื้อสื่อคุ้มแสนคุ้ม ขั้นต่ำๆ ก็เป็น “ของเล่น” เป็นหน้าเป็นตาทางสังคม ทำข่าว PR CSR ในเครือตัวเองและพันธมิตรธุรกิจ เหนือขึ้นมาก็ใช้สร้างคอนเน็กชั่น น้ำใจไมตรี กระทั่งใช้เป็น “อาวุธ” เป็นอำนาจต่อรอง ปกป้องผลประโยชน์จากอำนาจรัฐ อำนาจการเมือง หรือกระแสสังคม
จากยุคสมัยที่สื่อโวยวายว่า ทุนสามานย์ซื้อสื่อ ณ วันนี้ เราเข้าสู่ยุคที่กลุ่มทุนเป็น “เจ้าของสื่อ” อย่างเปิดเผยเป็นทางการแล้วนะครับ อยากรู้จัง องค์กรวิชาชีพสื่อจะรับมืออย่างไร
ใบตองแห้ง