พาราสาวะถีอรชุน

วันนี้ พรเพชร วิชิตชลชัย นัดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช.นัดพิเศษ มีเหตุให้ต้องเกาะติดกันอย่างใกล้ชิด เพราะวันเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าหลังจากประชุมครม.เสร็จจะส่งเรื่องให้สนช.ประชุมต่อทันที ขณะที่ประธานสนช.ก็สั่งการ 2 เรื่องสำคัญเลื่อนประชุมวิปสนช.จากเดิมบ่ายโมงครึ่งเป็นสิบโมง พร้อมกำชับสมาชิกสนช.ทุกคนห้ามขาดหรือห้ามลา


วันนี้ พรเพชร วิชิตชลชัย นัดประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือสนช.นัดพิเศษ มีเหตุให้ต้องเกาะติดกันอย่างใกล้ชิด เพราะวันเดียวกัน พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยืนยันว่าหลังจากประชุมครม.เสร็จจะส่งเรื่องให้สนช.ประชุมต่อทันที ขณะที่ประธานสนช.ก็สั่งการ 2 เรื่องสำคัญเลื่อนประชุมวิปสนช.จากเดิมบ่ายโมงครึ่งเป็นสิบโมง พร้อมกำชับสมาชิกสนช.ทุกคนห้ามขาดหรือห้ามลา

อย่างไรก็ตาม พีระศักดิ์ พอจิต รองประธานสนช.คนที่ 2 ออกตัวก่อนว่า สิ่งที่ครม.จะส่งมาอาจเป็นการส่งกฎหมายปกติหรือส่งกฎหมายวาระพิเศษมาให้พิจารณา ซึ่งสนช.มีหน้าที่ต้องรับปฏิบัติ จึงต้องเตรียมพร้อมเอาไว้ให้เรียบร้อยที่สุด แต่ไม่ว่าจะด้วยเหตุใด งานนี้ทุกสายตาต่างจับจ้องไปยังการประชุมสนช.นัดนี้เป็นพิเศษแน่นอน เพราะอาจถือได้ว่าเป็นการประชุมนัดประวัติศาสตร์ โดยหลัง 11 โมงวันนี้ทุกอย่างจะกระจ่างชัด

ขณะที่กำลังเฝ้ารอว่าการประชุมสนช.นัดพิเศษจะนำมาซึ่งความเปลี่ยนแปลงใดหรือไม่ ดูเหมือนว่าอีกหนึ่งองค์กรที่กำลังจะเดินซ้ำรอยผู้บริหารรายเดิมที่ถูกตรวจสอบจนเสียผู้เสียคนนั่นก็คือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดินหรือสตง. ซึ่งล่าสุด พงศ์ปณต สนิท นักวิชาการตรวจเงินแผ่นดินชำนาญการพิเศษ ซึ่งดำรงตำแหน่งผู้อำนวยการกลุ่มตรวจสอบพิเศษ สำนักงานตรวจเงินแผ่นดินที่ 14 สตง.

เป็นโจทก์ยื่นฟ้องศาลคดีอาญา พิศิษฐ์ ลีลาวชิโรภาส ผู้ว่าการสตง. ในความผิดข้อกล่าวหาเป็นผู้ใช้ เป็นเจ้าพนักงานปฏิบัติหน้าที่โดยมิชอบเรียกรับสินบน ต่อศาลจังหวัดนครศรีธรรมราช ตามคดีหมายเลขดำที่ 3766/2559 ลงวันที่ 23 พ.ย. 2559 ที่ผ่านมา โดยศาลจังหวัดนครศรีธรรมราชประทับรับฟ้องและนัดไต่สวนมูลฟ้องในวันที่ 6 ก.พ. 2560

คดีนี้เป็นผลสืบเนื่องมาจากการตรวจสอบพบการทุจริตในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ โดยพงศ์ปณตได้เข้าตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบในมหาวิทยาลัยดังกล่าว และตรวจพบว่า วิจิตร ศรีสอ้าน นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับพวก ได้กระทำการทุจริตในการเบิกจ่ายงบประมาณแผ่นดิน จึงเสนอรายงานผลการตรวจสอบไปตามระบบราชการ จนถึงมือผู้ว่าฯสตง.

นอกจากนี้ พงศ์ปณตยังตรวจพบว่า นายกสภามหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์กับพวก เกี่ยวข้องกับการทุจริตในเรื่องอื่นๆด้วยรวมประมาณ 10 ประเด็น ทำให้รัฐเสียหายกว่า 400 ล้านบาท ในเดือนพฤศจิกายน 2558 วิจิตร กับพวกจึงยื่นฟ้องผู้ว่าฯสตง.ต่อศาลอาญา ตามคดีอาญาหมายเลขดำที่ อท.49/2558 ในความผิดข้อกล่าวหาประพฤติมิชอบ โดยพิศิษฐ์ขอให้วิจิตรถอนฟ้องตัวเอง

นั่นทำให้วิจิตรมีข้อแม้ว่าพิศิษฐ์จะต้องปฏิบัติตามคำสั่งของตัวเอง มีการนัดเจรจากันที่ศาลอาญาและสตง.หลายครั้ง ซึ่งพงศ์ปณตในฐานะผู้ตรวจสอบพบการทุจริต ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้เข้าร่วมเจรจาด้วยโดยการเจรจาเมื่อวันที่ 18 สิงหาคม 2559 ในการเจรจาวิจิตรได้สั่งให้พิศิษฐ์ ปฏิบัติตามคำสั่ง 4 ประการสำคัญ

คือให้ผู้ว่าฯสตง.มีคำสั่งห้ามไม่ให้เจ้าหน้าที่ผู้ใต้บังคับบัญชาเข้าไปตรวจสอบการทุจริตในมหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อีก เรื่องที่เจ้าหน้าที่ตรวจสอบไปแล้วให้ผู้ว่าฯสตง.หาทางช่วยเหลือเพื่อให้วิจิตรกับพวกพ้นความผิด ให้สั่งห้ามพงศ์ปณตเข้าไปเกี่ยวข้องใดๆ กับการตรวจสอบ และ ให้พิศิษฐ์มีคำสั่งย้ายพงศ์ปณตไปปฏิบัติหน้าที่ที่จังหวัดชลบุรีเพื่อไม่ให้เข้าไปตรวจสอบที่มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์อีก

เหตุที่เกิดขึ้นนี้ ชวนให้นึกถึงเมื่อคราว จารุวรรณ เมณฑกา ถูกพิศิษฐ์เล่นงานในช่วงปลายของการทำหน้าที่ผู้ว่าฯสตง. หรือนี่จะเป็นกงเกวียนกำเกวียนหรือมันเป็นสัจธรรมขององค์กรนี้ เพราะต้องอาศัยความซื่อสัตย์จัดการกับพวกที่คิดไม่ซื่อต่อเงินของแผ่นดิน หากใครไม่สุจริตจริงฟ้าดินย่อมลงโทษ ส่วนเรื่องที่พงศ์ปณตฟ้องร้องดำเนินการ บทสรุปสุดท้ายจะออกมาอย่างไรต้องปล่อยให้กระบวนการยุติธรรมทำงานตามครรลอง

ส่วนอีกหนึ่งองค์กรอย่างป.ป.ช.ก็เกิดคำถามอย่างต่อเนื่อง ในเรื่องของมาตรฐานการพิจารณาคดี ที่เมื่อหลายวันก่อน วีระ สมความคิด เลขาธิการเครือข่ายประชาชนต่อต้านคอร์รัปชั่น โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊คส่วนตัว ตั้งคำถามต่อความคืบหน้าในคดี  กรณีที่มีการยื่นกล่าวหาคดีทุจริตโครงการก่อสร้างอาคารที่ทำการสถานีตำรวจทดแทนหรือโรงพักร้างจำนวน 396 แห่ง มูลค่าความเสียหายจำนวน 5,848 ล้านบาท

วีระมีปุจฉาว่า ป.ป.ช.ทำการไต่สวนมานานหลายปีแล้ว ได้ผลสรุปเป็นประการใดบ้าง อย่าอ้างว่ามีคดีมาก ต้องใช้เวลา หลายคดีที่เกี่ยวกับทหาร คสช.ทำไมจึงสามารถหยิบขึ้นมาทำการตรวจสอบและแถลงผลของคดีได้อย่างรวดเร็ว เช่น กรณีคดีทุจริตโครงการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ ป.ป.ช.สามารถตรวจสอบได้อย่างรวดเร็วใช้เวลาเพียงไม่กี่เดือน แถลงผลต่อสาธารณะว่าทหาร-คสช.บริสุทธิ์ผุดผ่อง

ยังมีคดีกรณีกล่าวหา พลเอกปรีชา จันทร์โอชา บรรจุแต่งตั้งลูกชายเข้ารับราชการทหารโดยผิดกฎหมาย ป.ป.ช.ใช้เวลาตรวจสอบแสวงหาข้อเท็จจริงไม่ถึง 5 เดือนสรุปผลออกมาว่าน้องชายหัวหน้าคสช.ไม่มีความผิด ยังมีกรณียื่นให้ตรวจสอบการแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินของพลเอกปรีชาและภรรยา ป.ป.ช.ก็ใช้เวลาไม่นานสามารถแถลงผลสอบตอบสังคมว่าพลเอกปรีชาและภรรยาแจ้งบัญชีทรัพย์สินและหนี้สินถูกต้อง และไม่มีผู้ใดตั้งข้อสงสัยเพิ่มเติม จึงยุติการตรวจสอบลงเพียงเท่านี้

ทำให้เกิดข้อกังขาจากสังคมว่า คดีที่ทหารคสช.ถูกกล่าวหา ทุกเรื่องจะถูกทำให้จบอย่างรวดเร็วและไม่มีความผิดจริงหรือไม่ เมื่อเป็นเช่นนี้จะให้สังคมเข้าใจว่าอย่างไร ป.ป.ช.ใช้หลักเกณฑ์ใด จึงสามารถเลือกทำเป็นบางเรื่อง หยิบเรื่องมาทำก่อน-หลัง เฉพาะที่มีใบสั่งใช่หรือไม่ ทั้งหมดนี้จะให้สังคมเชื่อถือการทำงานของป.ป.ช.ได้หรือ ป.ป.ช.มีมาตรฐานในการทำงานหรือไม่ อย่างไร เพื่อให้เกิดความโปร่งใส สังคมสามารถตรวจสอบได้ ช่วยตอบให้หายกังขาหน่อย

สิ่งที่วีระสงสัยก็คงไม่ต่างจากคนจำนวนไม่น้อยที่กังขาว่า การทำคดีอย่างรวดเร็ว เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิดไม่ต้องได้รับโทษ ช่วยฟอกให้พ้นผิด ผู้ใดทำถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายเสียเอง เช่นเดียวกัน การถ่วงคดี การประวิงเวลาให้หมดอายุความ  เพื่อช่วยเหลือผู้กระทำความผิดไม่ต้องได้รับโทษตามกฎหมาย ผู้ใดทำก็ถือเป็นเรื่องที่ผิดกฎหมายเช่นเดียวกัน

ดังนั้นป.ป.ช.ต้องปฏิบัติหน้าที่อย่างซื่อสัตย์สุจริต จนเป็นที่ประจักษ์ต่อสังคม อันเป็นคุณสมบัติสำคัญของผู้ที่จะมาดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการป.ป.ช. คดีทุจริตโครงการก่อสร้างโรงพักร้างประชาชนผู้เสียภาษีกำลังรอคำตอบอยู่ แต่ไม่รู้ว่าจะได้คำตอบจากป.ป.ช.เมื่อไหร่ บทสรุปของวีระจึงน่าจะเป็นสิ่งที่ผู้มีอำนาจควรทบทวนหากต้องการให้กระบวนการยุติธรรมเป็นที่เชื่อมั่นของประชาชนจริง การทุจริตที่เลวร้ายที่สุด คือการทุจริตในกระบวนการยุติธรรม

Back to top button