AMARIN เหยื่อของความไร้เดียงสา

สำหรับเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี มหาเศรษฐีระดับหัวแถวของไทย เงิน 900 ล้านบาท ที่ใช้ทุ่มเข้าซื้อหุ้นสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ของ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ถือเป็นดีลที่เล็กที่สุดในรอบหลายปีเลยทีเดียว


แฉทุกวัน ทันเกมหุ้น

 

สำหรับเสี่ยเจริญ สิริวัฒนภักดี  มหาเศรษฐีระดับหัวแถวของไทย เงิน 900 ล้านบาท ที่ใช้ทุ่มเข้าซื้อหุ้นสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์ของ บริษัท อมรินทร์พริ้นติ้ง แอนด์ พับลิชชิ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ AMARIN ถือเป็นดีลที่เล็กที่สุดในรอบหลายปีเลยทีเดียว

สำหรับคนที่ถือคติ “เล็กๆ ไม่ ใหญ่ๆ ทำ” ระดับเสี่ยเจริญ ก้าวย่างการเทกโอเวอร์กิจการฉันมิตรต่อ AMARIN จึงถือเป็นเรื่องไม่ปกติธรรมดา และอยู่นอกเหนือยุทธศาสตร์ธุรกิจของกลุ่มสิริวัฒนภักดี ที่ 5 ปีหลังนี้ มุ่งเน้นการสร้างเครือข่ายธุรกิจโลจิสติกส์ระดับภูมิภาคอาเซียน และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ …

ไม่เคยมีสักครั้งเดียวที่จะใส่ใจกับการเข้าซื้อกิจการสื่อที่ทำขาดทุนและมองไม่เห็นอนาคต …หลังจากที่หลายปีมาแล้ว เสี่ยเจริญเข้าไปซื้อกิจการร้านขายหนังสือ และสำนักพิมพ์ในเครือสุริวงศ์ บุ๊คเซนเตอร์ ที่จังหวัดเชียงใหม่อย่างเงียบเชียบ

การซื้อกิจการครั้งนี้ เสี่ยเจริญใช้ชื่อของ บริษัท วัฒนภักดี จำกัด โดย นายฐาปน สิริวัฒนภักดี และ นายปณต สิริวัฒนภักดี เพื่อตัดปัญหาคำถามในเรื่องธรรมาภิบาล จากผู้ถือหุ้นของบริษัทมหาชนทั้งหลาย

คำถามว่าเงิน 900 ล้านบาทดังกล่าว เพียงพอจะกู้สถานการณ์ของ AMARIN หรือไม่

คำตอบคือไม่ทราบ…เพราะเร็วเกินไปที่จะมีคำตอบ

ในกรณีของ AMARIN การที่ตระกูลอุทกะพันธุ์  ซึ่งบุกเบิกสร้างรากฐานของอาณาจักรการผลิต โดยนายชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ จนประสบความสำเร็จกับ นิตยสาร บ้านและสวน กับนิตยสารแฟชั่น “แพรว” และ “แพรวสุดสัปดาห์”  รวมทั้งเครือข่ายร้านหนังสือ “นายอินทร์” ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นนับถอยหลังเพื่อปิดฉากตำนานธุรกิจที่เคยโด่งดังอีกครั้ง

โศกนาฏกรรมที่เกิดขึ้น มาจากการเข้าสู่ธุรกิจทีวีดิจิตอลอย่างไรเดียงสา ทั้ง 1) ทางด้านแผนงาน 2) โมเดลธุรกิจ และ 3) ความรู้ทางการเงิน

ในด้านแผนงาน การข้ามจากธุรกิจสื่อนิตยสารสิ่งพิมพ์ และร้านขายหนังสือ เข้าสู่ธุรกิจโทรทัศน์ดิจิตอล เป็นการคาดผิดเชิงยุทธศาสตร์อย่างมหันต์ เพราะประเมินว่าเป็น “ทะเลสีคราม” (Blue Ocean) กลายเป็น “ทะเลสีแดง” (Red Ocean)

ในด้านโมเดลธุรกิจ การกระโจนจากธุรกิจที่ต้องใช้ประสบการณ์ใหม่ทั้งหมด เข้าต่อสู้ในสงครามที่ตนเองไม่ถนัด เป็นก้าวย่างที่มีต้นทุนสูงกว่าปกติในช่วงเวลาของ “เส้นโค้งแห่งการเรียนรู้” (Learning Curve) มากกว่าคู่แข่งรายอื่น

ที่สำคัญท้ายสุดคือ การสอบตกทางด้านการเงินที่กลายมาเป็นหายนะภายในเวลาเพียง 3 ปี

นับตั้งแต่เข้าระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตั้งแต่ปี 2535 เมื่อ 24 ปีก่อน AMARIN มีทุนจดทะเบียนชำระแล้วเพียงแค่ 200 ล้านบาทมาโดยตลอด ซึ่งในช่วงที่ธุรกิจสิ่งพิมพ์ยังเป็นวัวที่ให้น้ำนม (cash cow) ก็ไม่มีปัญหาอะไร เพราะทำให้คนตระกูลอุทกะพันธุ์ถือหุ้นใหญ่และมีอำนาจบริหารเหนียวแน่น รับเงินปันผลทุกปี โดยมีกำไรสะสมเพิ่มพูน

กำไรสะสมที่พอกพูน ทำให้งบการเงินเมื่อสิ้นงวดบัญชีปี 2556 สวยงามมาก ด้วยมูลค่าหุ้นทางบัญชี 9.73 บาท มีส่วนผู้ถือหุ้น  2,058.69 ล้านบาท ขณะที่หนี้สินรวมมีแค่ 468.75 ล้านบาท และมีมาร์เก็ตแคป 4,220.00 ล้านบาท

ความมั่นใจจากฐานะการเงินที่ดีมาก ทำให้เมื่อเข้าสู่การประมูลคลื่นทีวีดิจิตอลครั้งใหญ่ของประเทศไทยจำนวน 21 + 3 ช่อง ในปี 2557 AMARIN ภายใต้การกุมอำนาจบริหารของ 2 แม่-ลูก นางเมตตา อุทกะพันธุ์ ประธานกรรมการ  และ นางระริน อุทกะพันธุ์ ปัญจรุ่งโรจน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ จึงกระโจนเข้าสู่การก่อหนี้ครั้งใหญ่ อันตรงกันข้ามกับปรัชญา “เศรษฐกิจพอเพียง” ที่สำนักพิมพ์ของบริษัทมีส่วนร่วมช่วยเผยแพร่

ยอดหนี้รวมเมื่อสิ้นงบการเงินปี 2557 เพิ่มขึ้นจากปี 2556 มากกว่า 7.7 เท่าที่ระดับ 3,616.88 ล้านบาท และทำให้ต้นทุนการเงินจากการก่อหนี้ และการลงทุนสื่อโทรทัศน์ ปรากฏตัวเลขขาดทุนสุทธิเป็นครั้งแรก 85.18 ล้านบาท

การขาดทุนนี้ ผสมโรงด้วยตัวเลขรายได้จากทุกสื่อที่ถดถอยทั่วด้าน ทำให้ในปี 2558 และ 2559 ตัวเลขการขาดทุนที่เพิ่มมากขึ้นจากสถานการณ์ที่เลวร้าย (ดูตารางประกอบ) ทำให้ส่วนผู้ถือหุ้นลดลงอย่างรุนแรง

เมื่อสิ้นไตรมาสสามของปีนี้ ส่วนผู้ถือหุ้นร่อยหรอเหลือเพียง 925.67 ล้านบาท ขณะที่ยอดหนี้พอกพูนขึ้นเป็น  3,994.96 ล้านบาท ส่งผลให้ ค่าดี/อี เพิ่มขึ้นอย่างก้าวกระโดด เป็น 4.32 เท่า เข้าขั้นอันตรายต่อการผิดนัดชำระหนี้ จำต้องเลือกเอาการเพิ่มทุนใหม่ แต่ภายใต้สภาพหนี้ที่มาก และขาดทุนยับเยิน การเพิ่มทุนจากทุนเดิมที่มีต่ำมากแค่ 200 ล้านบาท อีก 100% เพื่อหวังพึ่งพา “ห่วงยางช่วยชีวิตกลางน้ำเชี่ยว” จึงนำมาซึ่งการสูญเสียกิจการอย่างคาดไม่ถึง

ในทางการเงินแล้ว การสร้างความแข็งแกร่งทางการเงินนั้นมี 2 ทางเท่านั้นคือ การเพิ่มส่วนผู้ถือหุ้นด้วยการเพิ่มทุนจดทะเบียนเมื่อมีฐานะการเงินแข็งแกร่ง (equity finance) ซึ่งทำให้มีส่วนเหลื่อมมูลค่าหุ้นสูง เพื่อรองรับ ก่อนการก่อหนี้ครั้งใหญ่ (debt finance) ที่ตามมา 

ความผิดพลาดที่นำมาซึ่งโศกนาฏกรรมของตระกูล อุทกะพันธุ์ ครั้งนี้ โทษใครไม่ได้เลย

ไม่ว่าเสี่ยเจริญจะเข้ามาซื้อหุ้นเพิ่มทุนแบบเฉพาะเจาะจง (ภายใต้เงื่อนไขไม่ต้องทำ Tender offer ตั้งโต๊ะซื้อหุ้นที่เหลือ) ด้วยเจตนาใดก็ตาม แต่ราคาซื้อขายหุ้นที่ราคาใกล้เคียงบุ๊คแวลู คือ 4.25 บาท (ซึ่งเป็นราคาต่ำกว่าราคาตลาด) ด้วยวงเงินรวมแค่ 900 ล้านบาท ก็เป็นดีลธุรกิจที่ตระกูลอุทกะพันธุ์ ไม่มีทางเลือก เพราะ “หมากตาจน” เสียแล้ว

จะบอกว่าคนตระกูลอุทกะพันธุ์ ตกเป็นเหยื่อของสถานการณ์  เพราะความไร้เดียงสาทางการเงินของตนเอง ….ก็คงไม่เกินความจริงกี่มากน้อย

“อิ อิ อิ”

Back to top button