ไทยแลนด์ 4.0 ใต้ กบว.ทายท้าวิชามาร

ขณะที่โลกออนไลน์ฮือฮาดรามา “แฟนดารา Vs ลูกนายพล” ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ กำลังจะเข้าสู่วาระ 3


ใบตองแห้ง

 

ขณะที่โลกออนไลน์ฮือฮาดรามา “แฟนดารา Vs ลูกนายพล” ดูเหมือนจะไม่มีใครสนใจร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฉบับใหม่ ซึ่งผ่านการพิจารณาของคณะกรรมาธิการ กำลังจะเข้าสู่วาระ 3

มีเพียงนักกิจกรรมจำนวนไม่มาก เช่น iLaw เครือข่ายพลเมืองเน็ต ออกมาคัดค้าน ไม่เหมือนครั้ง single gateway ซึ่งภาคธุรกิจยังมองว่าเป็นอุปสรรคการพัฒนาเศรษฐกิจดิจิทัล แต่ครั้งนี้ ดูเหมือนมองว่าจะมีปัญหาแค่พวกนักเคลื่อนไหวทางการเมืองเท่านั้น ทั้งที่ความเป็นจริงไม่ใช่เลย

พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์แบบไทยๆ มีปัญหาตั้งแต่ฉบับแรก เพราะแตกต่างจากชาวโลก ที่มุ่งปราบอาชญากรคอมพิวเตอร์และรักษาความมั่นคงของระบบ แต่ของไทยมุ่งจำกัดความคิดเห็น ทั้งทางการเมือง สังคม หรือแม้แต่การวิจารณ์ติชมโดยทั่วไป มาตรา 14 ที่เขียนให้เอาผิด “ข้อมูลเท็จ” ซึ่งอันที่จริงต้องใช้กับแฮกเกอร์ สแกมมิง ก็กลายเป็นเครื่องมือฟ้องพ่วงความผิดฐานหมิ่นประมาท โดยมีโทษแรงกว่า และเป็นความผิดที่ยอมความไม่ได้

ไม่ใช่แค่รัฐนะครับที่ใช้เป็นเครื่องมือ คงเคยอ่านข่าวผู้ใช้บริการโพสต์ตำหนิโรงแรม ร้านอาหาร แล้วถูกฟ้องอ่วมฐานหมิ่นประมาท พ่วง พ.ร.บ.คอมพ์

ในการประชุม UPR ของคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ พ.ร.บ.คอมพ์ถูกวิพากษ์วิจารณ์หนัก รัฐบาลไทยรับปากแก้ไข แต่ก็แก้ให้เฉพาะเรื่องหมิ่นประมาท ที่นักลงทุนต่างชาติหวาดกลัว กระนั้นก็แก้ไม่หมดจด ยังมีช่องเอาผิดได้อยู่ ขณะที่มุ่งเน้น “เซ็นเซอร์” หนักกว่าเดิม

นอกจากมาตรา 14/2 กำหนดความผิดไว้กว้างขวาง มาตรา 20 ยังให้อำนาจเจ้าหน้าที่ขอให้ศาลสั่งระงับข้อมูลทั้งที่ผิดมาตรา 14 และนอกมาตรา 14 แต่เกี่ยวข้องกับความมั่นคง ความสงบเรียบร้อย ร้ายที่สุดคือมาตรา 20/1 เพิ่มอำนาจคณะกรรมการกลั่นกรอง ขอศาลเซ็นเซอร์ข้อมูลที่ไม่เป็นความผิดตามกฎหมาย แต่กระทบ “ศีลธรรมอันดี”

อย่างนี้ก็มีด้วย ไม่ผิดกฎหมาย แต่คณะกรรมการที่รัฐมนตรีแต่งตั้ง 5 คน เห็นว่าผิดศีลธรรม ไม่เหมาะสม ก็ขอให้เซ็นเซอร์ได้ เป็นอรหันต์มาจากไหน ถ้ามีทัศนะแบบทศกัณฐ์แคะขนมครกขัดประเพณีอันดีงาม จะว่าอย่างไรเพจดังๆ แบบ “มันแกว” หรือ “น้องง” (ภาษาวิบัติ) คงอยู่ไม่ได้

บางคนแย้งว่าก็ต้องให้ศาลสั่งไง แต่เราใช้ระบบศาลชั้นเดียวตั้งแต่เมื่อไหร่ กฎหมายนี้ไม่เปิดให้อุทธรณ์ ไม่เหมือนต่างประเทศบางแห่ง ซึ่งถ้าอุทธรณ์ชนะ ยังเรียกค่าเสียหายจากเจ้าหน้าที่ได้

นักวิชาการบางท่านจึงเปรียบเทียบว่า กรรมการกลั่นกรองนี้ก็เหมือน กบว.ที่เคยใช้เซ็นเซอร์โทรทัศน์ แต่ปัจจุบันยุบไปแล้ว แต่กลับจะเอา กบว.โบราณมาเซ็นเซอร์โลกออนไลน์

ปัญหาของร่าง พ.ร.บ.ยังได้แก่การกำหนดความผิดเกินสมควรแก่เหตุ ในมาตรา 16/2 ถ้าศาลสั่งทำลายข้อมูลที่เป็นความผิด สมมติเช่นภาพตัดต่อดารา แล้วเจ้าหน้าที่ตรวจพบว่า คุณยังเซฟภาพนั้นไว้ในคอมพิวเตอร์ส่วนตัว แม้ไม่เกี่ยวไม่ข้องกับคนทำผิด ไม่ได้เอาไปเผยแพร่ แค่เก็บไว้ โดยไม่รู้ เผลอ ลืม หรืออยากเก็บความจำไว้ว่าครั้งหนึ่งเคยมีข่าวนี้ คุณก็มีความผิดกึ่งหนึ่งของผู้โพสต์

มาตรา 15 ผู้ให้บริการต้องร่วมรับผิด ไม่ใช่ผิดเมื่อศาลตัดสินแล้วไม่ลบนะครับ แต่ให้จัดระบบการแจ้งเตือน ซึ่งไปกำหนดในประกาศกระทรวงอีกทีหนึ่ง ว่าเมื่อมีผู้ร้องเรียน หากแก้ไขหรือลบภายใน 3 วันไม่ต้องร่วมรับผิด โดยไม่เปิดช่องให้โต้แย้งหรือป้องกันการกลั่นแกล้งกัน ทั้งทางการเมือง เรื่องส่วนตัว หรือทางธุรกิจ

กฎหมายนี้ถ้าออกมา ไม่ใช่แค่พวกเห็นต่างทางการเมืองหรอก แต่จะปั่นป่วนไปหมดทั้งโลกออนไลน์ คนที่ไม่ได้รับผลกระทบคงเหลือแค่พวกโพสต์รูปกับหมาแมวเท่านั้น

 

Back to top button