พาราสาวะถี อรชุน

วางอนาคตประเทศไทยไว้เสร็จสรรพตามยุทธศาสตร์ 20 ปี การันตีโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องมองในอนาคตข้างหน้าประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร ฟังได้แล้วดูดี แต่มีคำถามย้อนกลับ ถ้าท่านมองเห็นอนาคตที่จะต้องเดินไปให้ก้าวทันโลกที่ทันสมัย เหตุใดร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติหน้าตามันถึงขี้เหร่ และพาประเทศถอยหลังเข้าคลองไปได้ขนาดนั้น


วางอนาคตประเทศไทยไว้เสร็จสรรพตามยุทธศาสตร์ 20 ปี การันตีโดย มีชัย ฤชุพันธุ์ ต้องมองในอนาคตข้างหน้าประเทศไทยควรจะเป็นอย่างไร ฟังได้แล้วดูดี แต่มีคำถามย้อนกลับ ถ้าท่านมองเห็นอนาคตที่จะต้องเดินไปให้ก้าวทันโลกที่ทันสมัย เหตุใดร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติหน้าตามันถึงขี้เหร่ และพาประเทศถอยหลังเข้าคลองไปได้ขนาดนั้น

คนยืนยันเรื่องยุทธศาสตร์ชาติเป็นพวกอนุรักษนิยม (เผด็จการ) ดังนั้น จึงไม่ต้องแปลกใจกับอาการสีข้างถลอกของท่านประธานกรธ.ที่บอกว่า รัฐบาลใหม่หลังการเลือกตั้งเข้ามาถ้าไม่อยากทำตามรัฐธรรมนูญก็ให้ไปสอบถามประชาชนเสียใหม่ เนื่องจากในการกำหนดยุทธศาสตร์ชาตินั้นสปช.และสปท.ได้ไปถามประชาชนมาแล้ว (ซึ่งก็ไม่รู้ว่าไปถามประชาชนกลุ่มไหน)

หากถามแล้วเสียงส่วนใหญ่ให้รัฐบาลจากการเลือกตั้งวางยุทธศาสตร์ใหม่ ก็ไม่ว่ากัน แต่หากไปปรับเปลี่ยนแบบกะทันหันหรือทำตามอำเภอใจ ถือว่ากระทำการขัดรัฐธรรมนูญ สไตล์มีชัยบอกว่าไม่มีบทลงโทษ แต่ที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญมันชัดแจ้งว่าถึงขั้นถอดถอน ดำเนินการโดยส.ว.ลากตั้งที่ปลุกปั้นกันขึ้นมานั่นแหละ

มันต้องเป็นเช่นนั้นแล เพราะใช้พวกศรีธนญชัยมาเขียนกฎหมายสูงสุดของประเทศ ส่วนตรรกะของท่านประธานกรธ.ที่บอกว่าให้รัฐบาลใหม่ไปถามประชาชนว่าจะกลับไปใช้เกวียนเหมือนเดิมแทนใช้รถยนต์เพราะเหม็นกลิ่นควัน ฟังดูแล้วมันไม่เข้าท่า แค่การประชดประชัน หากจะถามแบบนั้นก็ต้องบอกว่า กรธ.ชุดที่ท่านเป็นประธานนั่นแหละที่กลับไปนั่งเกวียนเทียมควาย

สังคมไทยที่ตกอยู่ในความขัดแย้งตลอดกว่า 10 ปีที่ผ่านมา บทสัมภาษณ์ล่าสุดของ สุรชาติ บำรุงสุข อาจารย์ประจำภาควิชาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ศึกษาวิจัยเรื่องความมั่นคงและกองทัพมาอย่างต่อเนื่อง ประเด็นเรื่องปฏิบัติการข่าวสารหรือไอโอทางทหาร มีหลายประเด็นที่น่าสนใจ

ความชัดเจนที่เราเห็นคือ รัฐประหารในปี 2549 รวมถึงในปี 2557 มันมีการใช้เครื่องมือในการสร้างข้อมูล มีการใช้ข่าวสารเป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวคน โน้มน้าวความคิดของคนที่เป็นผู้รับสาร ให้เห็นว่า ฝ่ายการเมือง ฝ่ายรัฐบาลหรือพรรคการเมืองทั้งหลายมีปัญหา เราจะเห็นชัด เช่น ตัววิ่งที่อยู่ในช่องสถานีโทรทัศน์บางช่อง หรือการส่งผ่านข้อมูลข่าวสารที่อยู่ในช่องทางที่เป็นกระแสอนุรักษนิยม หรือเป็นชุดสื่อที่มีท่าทีในการต่อต้านรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง

ฉะนั้นการใช้เครื่องมือในบริบทของไทยในเวทีการเมือง ปฏิบัติการข่าวสารยังอยู่ในมิติแคบคือ เป็นการใช้เพื่อการต่อสู้ทางการเมือง โดยฝั่งทหารจะถือว่าตนมีเครื่องมือ และมีชุดความคิดที่ต้องการจะส่งผ่าน เราจะเห็นชัดว่าในความขัดแย้งไม่ว่าจะเป็นช่วงรัฐประหาร 2549 หรือ 2557 ปฏิบัติการข่าวสารกลายเป็นองค์ประกอบสำคัญของการสร้างความสำเร็จในการทำรัฐประหาร หรือพูดง่ายๆ คือ เราจะเห็นได้ชัดเจนว่า ฝ่ายรัฐประหารได้ใช้ปฏิบัติการข่าวสารเป็นเครื่องมือปูทางไปสู่การยึดอำนาจ

สิ่งที่น่ากังวลหลังจากการใช้ปฏิบัติการไอโอในลักษณะดังกล่าวก็คือ ถ้าเราปฏิบัติการข่าวสารโดยไม่คำนึงถึงผลกระทบระยะยาว ผลกระทบที่จะตามชัดเจนคือ ปฏิบัติการชุดนี้จะเป็นเครื่องมือของการสร้างความแตกแยกชุดใหญ่ของสังคมไทย แล้วเมื่อปฏิบัติการข่าวสารประสบความสำเร็จในการครอบงำความคิดของผู้รับสารแล้ว ความยากลำบากก็คือ การเปลี่ยนความคิดของพวกเขาในอนาคตจะเป็นเรื่องยาก

ยิ่งปฏิบัติการข่าวสารทวีความเข้มข้น หรือทวีความหนักหน่วงของปฏิบัติการ ซึ่งอาจจะเป็นผลของความขัดแย้งทางการเมือง ก็จะยิ่งทำให้การคลายตัวของความขัดแย้งในการเมืองไทยเป็นไปได้ยากขึ้น ถ้าเราพูดโยงออกมาจากนอกกรอบปฏิบัติการข่าวสาร เราจะเห็นอย่างหนึ่งคือ หลายฝ่ายพูดถึงการปรองดอง แต่ในขณะเดียวกันเราจะเห็นชัดเจนว่า โจทย์การปรองดอง เป็นอะไรที่หายไปเฉยๆ ท่ามกลางปฏิบัติการข่าวสาร และความขัดแย้งทางการเมือง

นั่นหมายความว่า ถ้ายังปฏิบัติการข่าวสารอย่างเข้มข้น การสร้างความปรองดองจะเป็นปัญหาใหญ่ของการแก้ไขปัญหาการเมืองไทยในอนาคต ในบริบทของสังคมไทย ฝ่ายอนุรักษนิยม ฝ่ายผู้นิยมรัฐประหารทั้งหลาย ซึ่งมักจะเป็นชนชั้นกลางที่มีขีดความสามารถในการใช้เครื่องมือเหล่านี้มากขึ้น ในความขัดแย้งทางการเมือง ไม่ว่าจะเป็นการล้อมปราบเสื้อแดงในปี 2552 หรือการล้อมปราบใหญ่ในปี 2553 ต้องยอมรับว่า ปฏิบัติการข่าวสารของฝ่ายรัฐหรือฝ่ายกองทัพ อยู่ในจุดที่เหนือกว่า เป็นเพราะฝ่ายนี้คุมเครื่องมือหลายอย่าง

อย่างไรก็ตาม วันนี้สิ่งที่เรามองเห็นชัดคือ สังคมไทยไม่ต่างจากสังคมโลกที่ข่าวสารขับเคลื่อนทางความคิด ขับเคลื่อนการตัดสินใจ ขับเคลื่อนการกระทำของคน ฉะนั้นเมื่อข่าวสารกลายเป็นแก่นกลางของชีวิตคน ความน่าสนใจก็คือ การที่ข่าวสารเป็นแก่นกลางของชีวิตในโลกสมัยใหม่ ที่เป็นโลกาภิวัตน์ มันทำให้พวกเรากลายเป็นผู้ปฏิบัติการข่าวสารไปด้วย แต่ในขณะเดียวกันความน่ากลัวก็คือ เราก็เป็นผู้รับสารของการปฏิบัติการข่าวสารจากคนอื่นไม่แตกต่างกัน

คำเตือนของสุรชาติที่ต้องขีดเส้นใต้ก็คือ สิ่งที่บรรดาคนซึ่งเปิดปฏิบัติการข่าวสารต้องตระหนักอย่างหนึ่งก็คือ ถึงคุณจะอยากใช้ข้อมูลที่ได้จากการสร้างข่าวเท็จ ข่าวปลอม แต่ถ้าถูกจับได้จนถึงจุดหนึ่ง เช่นในกรณีที่เป็นเว็บไซต์ เว็บนั้นก็จะหมดค่าไป หรือในกรณีที่เป็นตัวบุคคล อย่างที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเราเห็นตัวอย่างคนที่โพสต์แล้วข้อมูลผิด มันกลายเป็นเป้า ซึ่งในมุมหนึ่งทำให้ผู้อ่านรู้สึกว่าความน่าเชื่อถือของข้อมูลหรือความน่าเชื่อถือของสิ่งต่างๆ ที่นำเสนอผ่านปฏิบัติการข่าวสารหมดค่าด้วยตัวของมันเอง

แต่ไม่ว่าจะใช้ชุดความคิดใดในการปฏิบัติการข่าวสาร แต่ต้องยอมรับความเป็นจริงของโลกในยุคปัจจุบันว่า การปฏิวัติด้านสารสนเทศ หรือ Information Revolution ที่มากับสารสนเทศสมัยใหม่ทั้งหลาย ในอดีตมันถูกตั้งโจทย์ว่ามันจะเปลี่ยนการต่อสู้ระหว่างรัฐ การต่อสู้ในเรื่องของสงคราม แต่ในปัจจุบันมันใหญ่กว่านั้น มันกำลังเปลี่ยนชีวิตของคนทั้งหมด และมันมีผลกระทบต่อความขัดแย้งทางการเมืองและการต่อสู้ทางการเมืองอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ด้วยเหตุนี้ จึงมีคำถามย้อนกลับไปว่าแล้วยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีมองเห็นอนาคตที่เปลี่ยนแปลงอันน่ากลัวนี้หรือไม่

Back to top button