พาราสาวะถี อรชุน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรีจำนวน 10 คนประกอบไปด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย พลากร สุวรรณรัฐ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ ศุภชัย ภู่งาม ชาญชัย ลิขิตจิตถะ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา และ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ประกาศ ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน
สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งองคมนตรีจำนวน 10 คนประกอบไปด้วย พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ นายแพทย์เกษม วัฒนชัย พลากร สุวรรณรัฐ อรรถนิติ ดิษฐอำนาจ ศุภชัย ภู่งาม ชาญชัย ลิขิตจิตถะ พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุก พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ พล.อ.ไพบูลย์ คุ้มฉายา และ พล.อ.ธีรชัย นาควานิช ประกาศ ณ วันที่ 6 ธันวาคม 2559 เป็นปีที่ 1 ในรัชกาลปัจจุบัน
ผลจากการได้รับพระมหากรุณาธิคุณโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งเป็นองคมนตรีทำให้สองรัฐมนตรีของรัฐบาลคสช.ทั้งพล.อ.ดาว์พงษ์และพล.อ.ไพบูลย์จะต้องพ้นสภาพจากความเป็นรัฐมนตรีไปในทันที ด้วยเหตุนี้ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ จึงยอมรับว่าครม.บิ๊กตู่จะมีการปรับเก้าอี้รัฐมนตรีที่ยืนยันว่ามีเพียงแค่ 2 ตำแหน่ง ทดแทนบุคคลสองรายที่ต้องพ้นเก้าอี้เท่านั้น
นั่นเป็นคำยืนยันของพี่ใหญ่ แต่ในความเป็นจริงต้องดูว่าด้วยสถานการณ์ที่จะต้องรับมือกับประเด็นเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องของประชาชน รวมไปถึงการเตรียมพร้อมในการเดินไปสู่โรดแมปเลือกตั้งในปีหน้า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา อาจจะมีการเขย่าอีกเก้าอี้รัฐนาวาอีกระลอก เพื่อให้งานที่บอกว่าทำมาแล้วตลอดระยะเวลาเกือบ 3 ปีปรากฏขึ้นเด่นชัดประจักษ์ต่อสายตาประชาชน
ต้องไม่ลืมว่า ยังมีอีก 1 เก้าอี้ที่ว่างอยู่ในขณะนี้ นั่นก็คือ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิตอลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม บิ๊กตู่น่าจะใช้จังหวะนี้ปรับเสียทีเดียว โดยช่วงเวลาที่เหมาะสมน่าจะเป็นภายในเดือนนี้ไม่เกินต้นปีหน้า กระทรวงไหนที่ผลงานไม่เข้าตาคงต้องตัดใจเปลี่ยน แม้จะขัดกับนิสัยของท่านผู้นำที่รักษาน้ำใจเพื่อนร่วมชะตากรรม แต่ในยามที่ความนิยมลดลงอย่างมีนัยสำคัญ ประสานักรบต้องกล้าที่จะปรับ
ส่วนที่ขยับแล้วขยับอีก วันนี้เป็นฤกษ์ดีที่กรธ.จะเปิดเผยเนื้อหาสาระของร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง มีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานกรธ. ยืนยันว่าไม่ได้ถ่วงเวลาการทำกฎหมายลูก เพราะขณะนี้ร่างรัฐธรรมนูญยังไม่ประกาศใช้ ดังนั้น ระยะเวลาการจัดทำกฎหมายลูกจึงยังไม่เริ่มต้นนับ ขณะที่เนื้อหาของร่างกฎหมายว่าด้วยพรรคการเมืองนั้น ในเรื่องฐานความผิดยังคงยึดตามร่างรัฐธรรมนูญ ไม่มีการเปลี่ยนแปลงแต่อย่างใด
น่าสนใจที่เนื้อหาของตัวบทกฎหมายยังไม่เป็นที่เปิดเผย แต่กลับมีเสียงวิจารณ์กันอย่างกว้างขวางต่อสิ่งที่กรธ.คิดและจะถูกนำมาใช้ในอนาคต ในมุมของนักการเมืองไม่ว่าจะขยับตัวแบบไหนหรือแสดงความคิดเป็นเหตุเป็นผลอย่างไร ย่อมหนีไม่พ้นการปกป้องผลประโยชน์ของตัวเอง ผนวกเข้ากับการสร้างภาพให้เป็นพวกชั่วร้าย ต้นทุนความน่าเชื่อถือในวันนี้จึงตกต่ำสุดขีด
แม้ในความเป็นจริงจะปรากฏว่ากระบวนการตั้งแต่การเขียนร่างรัฐธรรมนูญจนมาถึงการร่างกฎหมายลูก เรื่องกระบวนการมีส่วนร่วมของประชาชนนั้นแทบนับครั้งได้ ฝ่ายกรธ.ก็อ้างว่าได้มีการเปิดเวทีรับฟังความเห็นทั้งในส่วนกลางและกระจายตัวไปยังภูมิภาคแล้ว ทั้งๆ ที่ข้อเท็จจริงพิสูจน์กันได้ว่า เป็นเวทีที่เป็นเพียงแค่พิธีกรรมสร้างความชอบธรรมให้กับกรธ.เท่านั้น
วันนี้ความจริงปรากฏ กรธ.ไม่ต้องกลัวข้อครหาเพราะ อุดม รัฐอมฤต โฆษกกรธ.แถลงว่าได้ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติไปสำรวจความเห็นประชาชนที่มีต่อพรรคการเมืองและนักการเมือง เพื่อนำมาประกอบการยกร่างกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมืองแล้ว แต่สิ่งที่เป็นเครื่องหมายคำถามตามมาของคนส่วนใหญ่ก็คือ องค์กรที่กล่าวอ้างนั้นมีความน่าเชื่อถือมากขนาดไหน
นับตั้งแต่คราวสำรวจคะแนนนิยมของท่านผู้นำทะลุไปถึงร้อยละ 99.50 แทบจะเรียกได้ว่าความเชื่อมั่นเชื่อถือของคนส่วนใหญ่ที่มีต่อหน่วยงานแห่งนี้หายวับไปในทันที ซึ่งใช่ว่าก่อนหน้านี้จะเป็นที่ยอมรับของคนส่วนใหญ่ ด้วยองค์กรอยู่ภายใต้กำกับของฝ่ายบริหาร พูดให้ชัดว่าเห็นหน่วยงานของรัฐบาลแล้วผลลัพธ์จากการเก็บข้อมูลมันจะเป็นไปในทิศทางที่ไม่พอใจฝ่ายบริหารได้อย่างไร
แต่ก็เอาเถอะเมื่อลงทุนหาองค์กรช่วยสร้างความชอบธรรมขนาดนี้แล้ว ลองไปดูว่าผลสำรวจความเห็นจะออกมาอย่างไร เรื่องแรกประชาชนร้อยละ 91.4 เห็นด้วย ให้ผู้สมัครจากพรรคการเมืองที่ทุจริตการเลือกตั้งหรือกรรมการบริหารพรรคที่รู้เห็น เมื่อมีคำพิพากษาถึงที่สุด ควรจะถูกเพิกถอนสิทธิในการเลือกตั้งหรือสิทธิในการสมัครรับเลือกตั้ง
ตรงนี้ก็น่าจะเป็นไปในทิศทางเดียวกับคนส่วนใหญ่ ขณะที่คำถามอื่นๆ ที่เหลือล้วนแล้วแต่เป็นเรื่องพื้นฐานทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นเห็นด้วยกับการเก็บค่าสมาชิกพรรคจากประชาชนที่เข้าไปมีส่วนร่วมกับพรรคการเมืองนั้นๆ หรือไม่ แน่นอนว่า ทุกคนต้องเห็นด้วย จะแตกต่างกันเฉพาะตัวเลขการจัดเก็บค่าสมาชิกพรรคเท่านั้นว่าควรที่จะอยู่ที่เท่าไหร่มีตั้งแต่ 100 บาทขึ้นไปจนถึงมากกว่า 200 บาทต่อปี มีเพียงร้อยละ 21 เท่านั้นที่ไม่เห็นด้วย
นอกนั้นเป็นคำถามเรื่องทุน ประเด็นของผู้ก่อตั้งพรรคและกระบวนการการมีส่วนร่วมของประชาชน จะเห็นได้ว่า คำถามที่กรธ.ให้สำนักงานสถิติแห่งชาติไปขอความเห็นประชาชนนั้น ไม่ได้มีสิ่งที่เป็นข้อกังวลของนักการเมือง พรรคการเมืองหรือแม้กระทั่งนักวิชาการในหลากหลายประเด็น เมื่อเป็นเช่นนั้น หากจะยกเอาผลสำรวจดังว่ามาเป็นเครื่องการันตีความชอบธรรม มันจะได้รับการยอมรับเช่นนั้นหรือ
หากจะมีการกล่าวหาว่าการร่างรัฐธรรมนูญของมีชัยและพวกเป็นเหมือนการเล่นซ่อนแอบก็คงจะไม่ผิดนัก มากไปกว่านั้นเรื่องการวางยุทธศาสตร์ 20 ปีจากที่มีเสียงวิจารณ์จากพรรคเพื่อไทยมาโดยตลอด ล่าสุด มีเสียงเล็ดลอดมาจากพรรคประชาธิปัตย์บ้างแล้ว โดย นิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ รองหัวหน้าพรรคชี้ว่า สมัยนี้โลกเปลี่ยนแปลงเร็วมาก บางเรื่องที่เขียนไว้อาจไม่ทันสมัย ไม่สอดคล้องภาวการณ์ของโลก พอล้าสมัยรัฐบาลต่อๆ ไปจะไม่ปฏิบัติตามก็ทำไม่ได้อีก เนื่องจากได้บัญญัติเป็นกฎหมายยุทธศาสตร์ชาติไว้แล้ว
บทสรุปของนิพิฏฐ์ไม่รู้ว่ามาเมื่อสายหรือเปล่าที่บอกว่า ต่อให้ผู้ร่างกฎหมายเปิดรายละเอียดกฎหมายยุทธศาสตร์ออกมาก่อน แล้วทุกฝ่ายเห็นด้วยในวันนี้ว่าเหมาะสมกับสถานการณ์ปัจจุบัน แต่ใครจะรับประกันว่าโลกจะไม่เปลี่ยน เพราะฉะนั้นตนจึงกังวลเพราะโลกไปเร็วกว่ากฎหมาย แต่เราจะมาผูกยุทธศาสตร์เป็นกฎหมายจึงเป็นเรื่องที่น่าห่วง ห่วงอย่างเดียวคงไม่พอ เพราะจุดตั้งต้นมันมาจาก (อดีต) คนของพรรคท่านเองที่ไปสมคบคิดกับอำนาจนอกระบบอยากให้เกิดการปฏิรูป โดยปราศจากการมีส่วนร่วมของประชาชน แล้วเป็นไง ใครหน้าไหนจะยืดอกรับผิดชอบหากเกิดความเสียหายกับประเทศขึ้น