พาราสาวะถี อรชุน

เผยโฉมมาแล้วสำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กรธ.ตั้งโต๊ะแถลงเนื้อหาเบื้องต้นไปเมื่อวันวาน โดยเอกสารที่แจกจ่ายให้สื่อมวลชนอันเป็นต้นฉบับของร่างกฎหมายลูกดังกล่าวนั้น ยังมีวงเล็บไว้ว่า ยังอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ นั่นหมายความ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำเสียทีเดียว


เผยโฉมมาแล้วสำหรับร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง ที่กรธ.ตั้งโต๊ะแถลงเนื้อหาเบื้องต้นไปเมื่อวันวาน โดยเอกสารที่แจกจ่ายให้สื่อมวลชนอันเป็นต้นฉบับของร่างกฎหมายลูกดังกล่าวนั้น ยังมีวงเล็บไว้ว่า ยังอาจมีการแก้ไขเพิ่มเติมได้ นั่นหมายความ ร่างกฎหมายฉบับนี้ยังไม่สะเด็ดน้ำเสียทีเดียว

แต่คงไม่ถึงขั้นเป็นการเปิดเผยเพื่อโยนหินถามทาง แม้ว่ากรธ.เตรียมที่จะจัดงานแถลงข่าว พร้อมเชิญตัวแทนพรรคการเมืองเข้าร่วม เวลาบ่ายโมงครึ่งวันที่ 14 ธันวาคมนี้ ที่สโมสรสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ถนนพิชัย เขตดุสิต โดยระบุว่าการเชิญพรรคการเมืองเข้าร่วม เพื่อให้แสดงความเห็นหากมีข้อเสนอแนะใดมา จะได้มีเวลาปรับแก้ไขร่างก่อนส่งให้สนช.พิจารณาต่อไป

จะเห็นได้ว่านั่นเป็นขั้นตอนที่จะถูกมองว่าเป็นเพียงพิธีกรรม เพราะเมื่อพิจารณาจากเนื้อหาที่ปรากฏแล้ว ส่วนใหญ่คงจะต้องเป็นไปตามนั้น โดยเฉพาะการก่อตั้งพรรค ตามเหตุผลที่ อุดม รัฐอมฤต แถลงว่า พรรคการเมืองจะต้องเกิดจากกลุ่มคน ไม่ใช่คนแค่หยิบมือเดียวและต้องมีแนวคิดที่ชัดเจนในการทำให้กิจการของประเทศให้เติบโต โดยกรธ.กำหนดให้ต้องรวมตัวกันไม่น้อยกว่า 5 ร้อยคนในการจัดตั้งพรรคการเมือง และต้องลงเงินทุนประเดิมอย่างน้อยคนละ 2 พันบาท

หมายความว่า สมาชิกที่ร่วมก่อตั้งพรรคจำนวน 5 ร้อยคน ลงเงินทุนประเดิมพรรคจำนวนทั้งสิ้น 1 ล้านบาท ขณะเดียวกันในปีแรกพรรคการเมืองต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อย 5 พันคน และภายใน 4 ปี ต้องมีสมาชิกพรรคอย่างน้อย 2 หมื่นคน โดยกรธ.กำหนดให้ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการการเลือกตั้งหรือกกต.เป็นนายทะเบียน เพื่อรับการจดแจ้งการจัดตั้งพรรคการเมือง

กลไกที่สำคัญของพรรคการเมือง กรธ.กำหนดให้มีสาขาพรรค อย่างน้อย 1 สาขาในแต่ละภาคที่กกต.กำหนด ส่วนในสาขาพรรคจะต้องมีสมาชิกที่อยู่ในภูมิลำเนานั้น อย่างน้อย 5 ร้อยคน และอาจจะมีตัวแทนของพรรคการเมืองในเขตจังหวัดหรือ เรียกว่าตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด โดยในจังหวัดนั้นจะต้องมีสมาชิกไม่น้อยกว่า 1 ร้อยคน

สาระสำคัญที่พรรคการเมืองจะต้องทำคือ พรรคการเมืองจะต้องมีกระบวนการในการหาคนที่เป็นผู้สมัครรับเลือกตั้ง โดยกรธ.กำหนดให้มีคณะกรรมการสรรหาผู้สมัครรับเลือกตั้ง ซึ่งประกอบด้วย กรรมการบริหารพรรคไม่เกินกึ่งหนึ่ง ผู้แทนสาขาพรรค  ตัวแทนพรรคการเมืองประจำจังหวัด มาร่วมเป็นกรรมการสรรหา เรียกว่าอยากให้พรรคสรรหาคนที่ประชาชนต้องการอย่างแท้จริง

สิ่งที่พรรคการเมืองปัจจุบันให้ความสนใจเป็นพิเศษคือ จะมีการเซตซีโร่หรือไม่ ซึ่งตามเนื้อหาของร่างที่ปรากฏนั้นไม่มีการให้ต้องไปเริ่มต้นกระบวนการใหม่ แต่ต้องทำตามกติกาที่กรธ.กำหนดคือ การกำหนดสมาชิกพรรคและเงินทุนประเดิมให้ชัดเจนตามที่กรธ.กำหนดไว้  และต้องมีจำนวนสมาชิกไม่น้อยกว่า 5 พันคนภายใน 150 วัน หลังจากร่างกฎหมายฉบับนี้มีผลบังคับใช้

จะเห็นได้ว่า กลไกที่กำหนดไว้สำหรับการจัดตั้งพรรคการเมืองที่ป้องกันการครอบงำจากนายทุนนั้นถือเป็นเรื่องที่ดี แต่เงินตั้งต้น 1 ล้านบาทจากจำนวนสมาชิก 500 คนคนละ 2 พันบาทนั้น ถามว่าถ้านายทุนจะควักกระเป๋าจ่ายทำได้ไหม ไม่ใช่เรื่องยาก เพราะผู้ก่อตั้งพรรคสามารถกำเงินของตัวเองไประดมทุนกันได้ แต่สุดท้ายก็ไปเบิกกับนายทุนกันทีหลัง

ประเด็นนี้ไม่น่าจะป้องกันได้ แต่ก็ถือเป็นการวางกติกาที่ให้มันดูยุ่งยากตามสโลแกนตั้งยากนั่นประการหนึ่ง ที่จะเป็นปัญหาสำหรับพรรคการเมืองขนาดเล็กคงเป็นเรื่องจำนวนสมาชิกพรรคที่ในปีแรกจะต้องมีอย่างน้อย 5 พันคนและต้องมีไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคนภายใน 4 ปี ตรงนี้ไม่แน่ใจว่าบรรดาพรรคขนาดเล็กที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้จะสามารถทำได้ตามกติกาหรือไม่

ดูเหมือนว่า กรธ.ก็ไม่ได้ให้ความใส่ใจต่อประเด็นนี้ ตามถ้อยแถลงของอุดมที่ว่า นิยามของพรรคขนาดเล็กคืออะไร และ เมื่อไหร่ที่มีการเลือกตั้งก็จะต้องส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ดังนั้น จะต้องมีกำลังและความพร้อมทั้งเงินทุนและความร่วมมือของสมาชิกพรรค ประเภทพรรคสภากาแฟ รวมกลุ่มกันเพื่อวัตถุประสงค์อื่น ทำงานไม่เป็นโล้เป็นพายจึงไม่ควรจะเกิดขึ้น

เรื่องนี้คาดว่า น่าจะมีความเคลื่อนไหวจากพรรคขนาดเล็กตามมา หากกฎหมายมีผลบังคับใช้จะทำให้พรรคเหล่านั้นอยู่กันยากถึงขั้นจะต้องล้มหายตายจากกันไปเลยทีเดียว ส่วนพรรคการเมืองใหญ่นั้นประเด็นเงินทุนและสมาชิกพรรคคงไม่ใช่ปัญหา แต่ที่จะต้องระมัดระวังกันเป็นอย่างยิ่งน่าเป็นกรณีการห้ามคนที่ไม่ได้เป็นสมาชิกเข้ามาเกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม

พูดให้ชัดกรณีนี้คงเป็นการยกเอาตุ๊กตาทักษิณคิดเพื่อไทยทำมาเป็นตัวตั้ง โดยข้อห้ามต่อเรื่องนี้ตามเนื้อหาของกฎหมายก็คือ ห้ามคณะกรรมการบริหารพรรคการเมืองหรือกรรมการบริหารพรรค ยินยอมหรือกระทำการอันใด ให้บุคคลที่ไม่ใช่สมาชิกพรรคหรือบุคคลที่มีลักษณะต้องห้าม กระทำการที่เป็นการควบคุมครอบงำก้าวก่ายแทรกแซง หรือมีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมทางการเมืองของพรรคการเมืองไม่ว่าโดยตรงหรือโดยอ้อม

ตามเหตุผลของกรธ.คือ เป็นการป้องกันไม่ให้พรรคการเมืองถูกซื้อไปเป็นของนายทุน ตรงนี้เชื่อว่าบางพรรคการเมืองยกมือหนุนอย่างเต็มที่ แต่ยังมีสิ่งที่ต้องขีดเส้นใต้กันอีกประการคือ โทษยุบพรรคการเมือง ซึ่งกรธ.นำมากำหนดไว้ในร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง โดยกำหนดไว้ในมาตรา 79 ว่าด้วยการสิ้นสุดของพรรคการเมือง

จากนั้นในมาตรา 81 ให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่งยุบพรรคการเมือง อันเนื่องมาจากกระทำการล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข กระทำการอันเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย เป็นต้น ประเด็นการวินิจฉัยขององค์กรอิสระแห่งนี้และข้อกล่าวหาที่ปรากฏนั่นแหละคือปัญหาใหญ่

ต้องไม่ลืมว่าเมื่อคราวที่อดีตส.ส.และส.ว.ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ หลายร้อยคนถูกตัดสินให้มีความผิดด้วยข้อหาล้มล้างการปกครองและเป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองในระบอบประชาธิปไตย เพราะดันไปเสนอแก้รัฐธรรมนูญปี 2550 ให้ส.ว.มาจากการเลือกตั้งทั้งหมด หากศาลรัฐธรรมนูญมีปัญหาเรื่องการแยกแยะความเป็นประชาธิปไตยเช่นนี้ โอกาสที่พรรคการเมืองโดยเฉพาะบางพรรคที่ไม่เป็นที่ถูกใจของพวกอนุรักษนิยม คงถูกยุบแล้วยุบอีก หากขยับตัวที่จะแก้ไขหรือเสนออะไรที่ไม่เป็นที่พอใจ ยิ่งมีส.ว.ลากตั้ง 250 คนเป็นพรรคใหญ่ในสภาด้วยแล้ว ยิ่งน่ากลัวเป็นอย่างมาก

Back to top button