ดีเดย์! กม.หลักทรัพย์ฯลูบคมตลาดทุน

พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๙ ถูกนำลงในประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.59


ธนะชัย ณ นคร

 

พระราชบัญญัติหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๙ ถูกนำลงในประกาศราชกิจจานุเบกษาแล้ว เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.59

และเริ่มมีผลบังคับใช้ในวัดถัดจากลงในราชกิจจาฯ

หรือนั่นคือวันที่ 12 ธ.ค.59

ก่อนหน้านี้ กฎหมายหลักทรัพย์ฉบับแก้ไขใหม่ มีหลายประเด็นถูกกล่าวถึงอย่างมาก

เพราะมีหลายมาตราที่ถูกแก้ไข และหวั่นกันว่าอาจจะไปกระทบกับบรรยากาศการลงทุน เช่น การเปิดเผยข้อมูลของบริษัทจดทะเบียนที่กำหนดให้ผู้บริหารจะพูดอะไรได้บ้าง แค่ไหน

เรื่องนี้ถูกกำหนดไว้ในมาตรา 240 ครับ

มาตรา 240 “ห้ามมิให้บุคคลใดบอกกล่าว เผยแพร่ หรือให้คำรับรองข้อความอันเป็นเท็จ หรือข้อความอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญเกี่ยวกับฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ หรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยประการที่น่าจะทำให้มีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์ หรือต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์

มาตรานี้เขียนไว้ค่อนข้างกว้าง

เพราะมีการตีความว่า หากผู้บริหารออกมาพูด แล้วราคาหุ้นของตนเองขึ้น

ก็จะมีความผิดทันที

เว้นแต่ว่า ข้อมูลนั้นๆ จะมีการแจ้งต่อตลาดหลักทรัพย์ฯ แล้ว

หรือหากสื่อมวลชนนำข้อมูล บจ.ที่เป็นสาระสำคัญเผยแพร่(ที่ยังไม่ได้แจ้งตลาดหลักทรัพย์ฯ) และทำให้ราคาหุ้นเคลื่อนไหว ก็จะเข้าข่ายความผิด หรือเข้ามาตรานี้เช่นกัน

กรณีนี้เคยมีการออกมาบอกว่า ห้ามสื่อมวลชนใช้คำว่า “แหล่งข่าว”

และสมมุติว่า การนำเสนอข่าวโดยใช้คำว่า “แหล่งข่าว” และราคาหุ้นตัวนั้นๆ ก็เคลื่อนไหวตามข่าวด้วย

ผู้คุมกฎเกณฑ์จะมีอำนาจในการเรียกสื่อมาชี้แจงได้เพียงใด

และหากสื่อบอกว่า เป็นเรื่องของ “จรรยาบรรณ” ไม่สามารถเปิดเผยรายชื่อแหล่งข่าวได้ จะมีความผิดหรือไม่

ประเด็นนี้ยังไม่มีคำตอบจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง

มาตรา 241 “ห้ามมิให้บุคคลใดวิเคราะห์หรือคาดการณ์ฐานะทางการเงิน ผลการดำเนินงาน ราคาซื้อขายหลักทรัพย์ หรือข้อมูลอื่นใดที่เกี่ยวกับบริษัทที่ออกหลักทรัพย์ โดยนำข้อมูลที่รู้ว่าเป็นเท็จหรือไม่ครบถ้วนอันอาจก่อให้เกิดความสำคัญผิดในสาระสำคัญ มาใช้ในการวิเคราะห์หรือคาดการณ์

หรือละเลยที่จะพิจารณาความถูกต้องของข้อมูลดังกล่าว หรือโดยบิดเบือนข้อมูลที่ใช้ในการวิเคราะห์ หรือคาดการณ์ และได้เปิดเผยหรือให้ความเห็นเกี่ยวกับการวิเคราะห์หรือคาดการณ์นั้นต่อประชาชน โดยประการที่น่าจะมีผลกระทบต่อราคาหลักทรัพย์หรือต่อการตัดสินใจลงทุนในหลักทรัพย์

นี่ก็เป็นอีกมาตราที่มีการพูดถึงกันอย่างมาก

คนในวงการตลาดทุนหลายคนบอกว่า อาจทำให้การทำงานของ “นักวิเคราะห์” ยากขึ้น

แต่มีหลายคนบอกว่า  นัยสำคัญของกฎหมายที่แก้ไขใหม่นี้ ก็เพื่อต้องการปราบกลุ่มที่นำข้อมูล หรือไปปล่อยข่าวตามช่องทางสื่อโซเชียลต่างๆ เป็นหลัก

ประเด็นนี้มีการย้อนแย้งกลับอีกว่า ความเข้มงวดในมาตรา 240 นั่นแหละ ที่จะทำให้ข้อมูล บจ.ถูกนำลง “ใต้ดิน”

และหากลงไปใต้ดินจริงๆ ก็อาจจะยากต่อการไล่หาคนปล่อยข่าว

มีผู้บริหารโบรกฯ บอกว่า เขาเห็นด้วยกับการแก้ไขให้กฎหมายดูเข้มงวดขึ้น

ส่วนที่หวั่นก็คือ กฎใหม่นี้เปิดช่องให้มีการใช้ “ดุลยพินิจ” มากขึ้น ซึ่งถือเป็นเรื่องอันตราย และไม่มั่นใจว่า ผู้คุมกฎจะ “เลือกปฏิบัติ” หรือไม่

หลังจากกฎหมาย หรือร่างแก้ไขดังกล่าวผ่าน สนช.แล้ว

ก.ล.ต.ก็ได้มีการเดินสาย รวมถึงดึงผู้เกี่ยวข้อง เข้ามาทำความเข้าใจเกี่ยวกับกฎหมายหลักทรัพย์ฉบับล่าสุด นัยสำคัญว่า เพื่อให้ทุกฝ่าย มีความเข้าใจร่วมกัน และตรงกัน ก่อนที่จะมีการประกาศพ.ร.บ.หลักทรัพย์ฯ ลงในราชกิจจานุเบกษา และมีผลบังคับใช้

ในช่วงหลายเดือนก่อนหน้านี้ ก.ล.ต.ทำงานกันเข้มงวดขึ้น

มีข่าวการกล่าวโทษ และลงโทษบุคคลในวงการตลาดทุนจำนวนมาก ตามความผิดแต่ละฐานที่แตกต่างกัน

การดำเนินการในหลายคดีทำได้เร็วหลังเกิดเรื่อง

ไม่ต้องรอเป็นปีๆ เหมือนหลายคดีก่อนหน้านี้

ส่วนตอนนี้ก็ต้องดูกันว่า “บุคคลใด” จะเป็นคนประเดิมการถูกกล่าวโทษ หรือถูกลงโทษตามกฎหมายฉบับแก้ไขใหม่นี้

 

Back to top button