มีเลือกตั้งแต่ไม่มีหวังทายท้าวิชามาร
ชะอ้าว นายกรัฐมนตรีหันมาโวยภาคเอกชน SME ไม่สนใจลงทุนเพิ่ม บอกให้กล้าๆ หน่อย คอยต่างชาติอย่างเดียวคงไม่ไหว
ชะอ้าว นายกรัฐมนตรีหันมาโวยภาคเอกชน SME ไม่สนใจลงทุนเพิ่ม บอกให้กล้าๆ หน่อย คอยต่างชาติอย่างเดียวคงไม่ไหว
โถ ใครจะกล้าล่ะครับ ในเมื่อเศรษฐกิจโลกเศรษฐกิจไทย ไม่มีสัญญาณดีเลย ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ หอการค้าไทย ก็เพิ่งบอกว่าดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคลดลงเป็นเดือนที่ 2 เศรษฐกิจไทยมีสัญญาณชะลอลงอย่างชัดเจนและยังไม่มีสัญญาณการฟื้นตัว เพียงหวังมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล ที่แจกสะบั้นช่วงปลายปีจะทำให้จีดีพีขยายตัว 3.2% ส่วนปีหน้าก็ยังเชื่อว่าเอกชนและต่างชาติจะชะลอการลงทุน 3-6 เดือน ต้องรอครึ่งปีหลังโน้น ที่น่าจะฟื้นตัว
ก็แขวนความฝันไว้ขายกันต่อไป ตลอด 2-3 ปีมานี้ นักพยากรณ์ทุกค่าย ล้วนชูจุดขายปลายปีนี้ดีขึ้นแน่ พอถึงปลายปีก็บอกว่าปีหน้าดีขึ้นแน่ พอถึงปีหน้า ก็บอกว่าปีโน้นดีขึ้นชัวร์
เชื่อแน่ว่าหลายคนยังตั้งความหวังปลายปีหน้ามีเลือกตั้งตามโรดแมป แล้วทุกอย่างจะดีขึ้น ความเชื่อมั่นจะกลับมา บ้านเมืองกลับสู่ภาวะปกติ แม้ไม่เป็นประชาธิปไตยเต็มใบ แต่ก็จะค่อยเป็นค่อยไปแบบไม่วุ่นวาย ชาวบ้านจะทำมาหากินได้ง่ายขึ้น ฯลฯ
ขอเตือนว่าฝันสลายแน่ครับ ที่จริงมองเห็นตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญผ่าน ว่าการเลือกตั้งจะเป็นแค่พิธีกรรม ของจริงคือความวุ่นวาย แต่หลายคนยังไม่เชื่อ วันนี้เห็นร่าง พ.ร.บ.พรรคการเมืองแล้วเห็นอนาคตข้างหน้าชัดขึ้นไหม ถ้ายังไม่เชื่ออีกก็รอดูร่าง พ.ร.บ.เลือกตั้งและกฎหมายอื่นๆ ที่จะตามมา
บางคนอาจบอกว่าดีแล้วไง กรธ.ร่างกฎหมายฆ่าตัดตอนพรรคการเมืองชั่ว ตั้งพรรคยาก ยุบพรรคง่าย ทำผิดมีโทษถึงตาย การเมืองไทยจะได้ใสสะอาด แต่ถามจริง คุณอยากตั้งต้นใหม่ หรืออยากทำให้วุ่นวายใหม่ รัฐประหารแล้วยังกำจัดนักการเมืองไม่ได้ จะมาใช้การเลือกตั้งล้างบางกันยกใหญ่?
ภาพการเมืองในอนาคตล็อกไว้แล้วรัฐบาลใหม่มาจากพรรค ส.ว.ลากตั้ง มีรัฐราชการ ทหาร ศาล องค์กรอิสระ หนุนหลัง จริงๆ ก็ไม่ต่างจากระบอบ คสช.ปัจจุบัน เพียงมีรัฐธรรมนูญมีการเลือกตั้งเป็นเฟอร์นิเจอร์ โดยนักการเมืองที่ถูกรัฐประหารเก่งยังไงก็ได้ ส.ส.ไม่ถึง 200 คนเป็นฝ่ายค้าน
ได้คืบใหญ่ยังไม่พอใจ ยังจะเอาศอก รุกไล่นักการเมืองไม่ให้มีที่ยืน เพื่ออะไร เพื่อให้เป็นการเลือกตั้งที่วุ่นวาย ถูกทักท้วงไม่ยุติธรรม ใช้อำนาจเล่นงาน?
อย่าลืมนะครับ รัฐบาลหลังเลือกตั้งไม่มี ม.44 แต่จะต้องเผชิญกับ หนึ่ง ความไม่พอใจของมวลชนสีเสื้อที่เห็นว่าการเลือกตั้งไม่บริสุทธิ์ยุติธรรม สอง จะต้องเผชิญม็อบเรียกร้องปัญหาต่างๆ ที่อัดอั้นตลอด 3 ปีกว่า ไม่ว่ากรรมกร ชาวนา แม่ค้าหาบเร่ ภาคประชาสังคม NGO ไปจนข้าราชการบางอาชีพ พูดง่ายๆ ว่า คสช.ม.44 พ้นไปเมื่อไหร่ ปัญหาในสังคมจะประดังเหมือนเขื่อนแตก
แน่ละ คสช.สนช.ออกกฎหมายจำกัดสิทธิเสรีภาพไว้หลายฉบับ เช่น พ.ร.บ.ชุมนุมสาธารณะ ร่าง พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ แต่ยิ่งกดดันก็ยิ่งทำให้การเรียกร้องคัดค้านบานปลาย
การเลือกตั้งมีแน่ตามโรดแมป แต่อนาคตประเทศหลังเลือกตั้งจะไม่สร้างความเชื่อมั่นอย่างที่หลายคนคิด และถ้าเกิดวิกฤติซ้ำ ก็จะยิ่งพึ่งใครไม่ได้ หาทางออกไม่เจอ
ใบตองแห้ง