พาราสาวะถีอรชุน

มาก่อนครบกำหนดกรอบเวลาที่ขีดเส้นไว้สำหรับทนายความของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เดินทางไปยื่นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของป.ป.ช.ในกรณีสั่งสลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดงเมื่อปี 2553 พร้อมหอบเอกสารจำนวน 6 ลังไปส่งให้และแนบรายชื่อพยานอีก 2 คน คือ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก และ ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ


มาก่อนครบกำหนดกรอบเวลาที่ขีดเส้นไว้สำหรับทนายความของ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ที่เดินทางไปยื่นชี้แจงแก้ข้อกล่าวหาของป.ป.ช.ในกรณีสั่งสลายการชุมนุมม็อบเสื้อแดงเมื่อปี 2553 พร้อมหอบเอกสารจำนวน 6 ลังไปส่งให้และแนบรายชื่อพยานอีก 2 คน คือ พลเอกอนุพงษ์ เผ่าจินดา อดีตผู้บัญชาการทหารบก และ ถวิล เปลี่ยนศรี อดีตเลขาธิการสภาความมั่นคงแห่งชาติ

โดย บัณฑิต ศิริพันธุ์ ทนายความกล่าวอย่างมั่นอกมั่นใจพยานทั้งสองรายจะสามารถหักล้างข้อกล่าวหาของป.ป.ช.ได้ ซึ่งก็น่าสนใจโดยเฉพาะรายของอดีตเลขาธิการสมช. ว่าจะให้การเป็นประโยชน์ได้อย่างที่ต้องการจริงหรือ เพราะวันก่อนในการสืบพยานโจทก์คดีก่อการร้ายของแกนนำเสื้อแดง ถวิลยังชี้แจงต่อศาลว่าบางเหตุการณ์จำไม่ได้เพราะผ่านมานาน

เป็นอันว่าพยาน 3 คนที่อภิสิทธิ์เคยบอกก่อนหน้านี้ก็ไม่มีรายชื่อของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะอดีตรองผู้บัญชาการทหารบกในเวลานั้น และ พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหมในรัฐบาลเทพประทานเช่นเดียวกัน ซึ่งรายหลังได้ออกตัวไว้ก่อนหน้าแล้วว่า ไม่มีส่วนเกี่ยวข้องในการออกคำสั่ง

 เป็นเพียงผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์รู้เห็นเท่านั้น ส่วนคนที่ออกคำสั่งและนำไปสู่การสลายการชุมนุมคืออภิสิทธิ์และ สุเทพ เทือกสุบรรณ รองนายกรัฐมนตรีและฐานะผู้อำนวยการศอฉ. คงต้องรอดูกันยาวๆ ว่า มาตรฐานในการวินิจฉัยคดีที่เกี่ยวข้องกับการสลายการชุมนุมระหว่างม็อบสองเสื้อสีของป.ป.ช.นั้น จะเป็นไปในแนวทางเดียวกันหรือไม่

ขออนุญาตที่จะไม่นั่งทางในทำนายไว้ล่วงหน้า หันกลับมาดูประเด็นเรื่องการยกร่างรัฐธรรมนูญกันต่อดีกว่า เพิ่งไปอ่านเจอคำพูดของ ไอดา อรุณวงศ์ บรรณาธิการของสำนักพิมพ์อ่าน ในหัวข้อ “อำนาจ (…) วรรณกรรม” ซึ่งจัดกันผ่านพ้นไปเมื่อวันที่ 17 มีนาคมที่ผ่านมา ที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี มีบางช่วงบางตอนที่ไม่รู้ว่าหมายถึงกระบวนการยกร่างรัฐธรรมนูญที่กำลังทำกันอยู่หรือไม่

ไอดายกเอาคำอภิปรายของ มาลัย ชูพินิจ อดีตนักคิดนักเขียนและนักหนังสือพิมพ์อาวุโส ที่เคยกล่าวไว้ในระหว่างการอภิปรายว่าด้วยหน้าที่และความรับผิดชอบของนักประพันธ์ เมื่อปี พ.ศ. 2493 ว่า สำหรับตัวผมเองนั้น เมื่อผมมีเรื่องจะเขียนแล้วผมก็เขียน ไม่ได้นึกถึงอะไรทั้งนั้น ผมซื่อสัตย์ต่อคนคนเดียวเท่านั้นคือตัวของผม และรับผิดชอบต่อตัวของผมเอง แล้วผมก็เขียนไปตามนั้น

ด้านประชาชน ผมไม่ได้นึกถึงเลย เช่นว่าประชาชนจะชอบหรือไม่ชอบ ผมไม่ได้เก็บเอามาคิด ผมเขียนเพื่อความพอใจของผมคนเดียว พอนำมาเทียบเคียงกับสิ่งที่คณะกรรมาธิการยกร่างฯ ทำกันอยู่ รู้สึกว่าจะใกล้เคียงกันยังไงชอบกล แต่ผลที่จะออกมานั้นต่างกันอย่างยิ่ง เพราะงานเขียนขึ้นอยู่กับความชื่นชอบของประชาชนว่าจะเลือกเสพหรือไม่

                ในขณะที่รัฐธรรมนูญอันเป็นกฎหมายสูงสุด ประชาชนไม่มีสิทธิ์เลือกและไม่มีส่วนร่วมในการยกร่าง แต่กลับจะถูกนำมาบังคับใช้ให้ปฏิบัติตามกันทั่วทุกตัวคน ถือเป็นความโหดร้ายอย่างยิ่ง และยิ่งพอมองไปถึงแนวโน้มในการจะเปิดให้มีการลงประชามติแล้ว หากไม่เกิดขึ้น เป็นการใช้วิจารณญาณของผู้มีอำนาจคนเดียว นั่นยิ่งหวาดเสียวกันไปใหญ่

แต่ในเมื่อสถานการณ์มันเลยเถิดมาจนถึงขนาดนี้ คงจะโทษใครไม่ได้ บรรดาคนดีทั้งหลายที่กวักมือเรียกลายพรางออกมายึดอำนาจและพรรคประชาธิปัตย์ที่ต้องการจะเอาชนะพรรคของ ทักษิณ ชินวัตร โดยไม่เป็นไปตามวิถีของประชาธิปไตย ก็ต้องยอมจ่ายค่าโง่ ชดเชยต้นทุนของประชาธิปไตยที่จะเสียไป แต่ในช่วงเวลาที่เหลืออีกเกือบเดือนก่อนที่สปช.จะชำแหละรัฐธรรมนูญร่างแรก น่าจะมีอะไรที่พลิกผันได้พอสมควร

การออกมาแสดงความเห็นอย่างต่อเนื่อง มีบางเรื่องที่ตรงกันโดยไม่ได้นัดหมายระหว่างสองพรรคการเมืองใหญ่เพื่อไทย-ประชาธิปัตย์ ย่อมสะท้อนภาวะแรงกระเพื่อมที่รออยู่ข้างหน้า แต่ประสาผู้มีอำนาจเด็ดขาด ไม่มีทางที่จะเปิดเจรจากับทั้งสองฝ่าย ต้องหาทางหารือกับพรรคการเมืองหนึ่งพรรคการเมืองใด ให้แสดงความเห็นแต่พองาม

ไม่ต้องถามกันต่อว่า ท่านผู้มีอำนาจจะเลือกยื่นหมูยื่นแมวกับพรรคการเมืองไหน แต่ในภาวะที่มีอำนาจอีแอบเข้ามาเกี่ยวข้อง จากเดิมทีมองว่าน่าจะเจรจาหาทางจับมือกันได้ กลายเป็นว่าคนที่ถืออำนาจกลับต้องระวังหลัง ดังนั้น จึงต้องเปิดทางถอยด้วยการหันไปคุยกับแบบลับๆ กับอีกพรรคการเมืองหนึ่ง ซึ่งมองกันว่าอย่างไรเสียก็ไม่น่าจะตกลงกันได้

ต้องไม่ลืมว่านี่คือการเมืองแบบไทยๆ อะไรก็เกิดขึ้นได้ทั้งนั้น อำนาจไม่เข้าใครออกใคร สังเกตได้จากการขยันลงพื้นที่แบบผิดปกติของนักการเมืองฝ่ายนายใหญ่ มีการวางคิวกันไว้ว่าใน 1 สัปดาห์ช่วงวันเสาร์ถึงวันพุธต้องเกาะติดพบปะกับประชาชน หากใครมีธุระปะปังให้เข้ามากรุงเทพฯ ได้เฉพาะวันพฤหัสบดีกับศุกร์เท่านั้น

นี่คงไม่ใช่สัญญาณปกติ จากที่ถูกมองว่าน่าจะเป็นพรรคที่ไร้ความหมายอาจรุนแรงถึงขั้นพรรคแตก ถึงขนาดที่นักการเมืองบางรายถอดใจ ทำเป็นต้นไม้รอวันเหี่ยวแห้งไปแล้ว กลับมาชุ่มชื่นมีชีวิตชีวาอีกครั้งย่อมไม่ธรรมดา ด้วยเหตุนี้กระมังจึงมีข่าวปล่อยมาว่าบิ๊กตู่จะดอดไปพบนายใหญ่ปลายเดือนนี้ช่วงที่ไปเคารพศพ ลี กวน ยู อดีตผู้นำสิงคโปร์ผู้ล่วงลับที่แดนลอดช่อง

ร้อนถึงบิ๊กตู่ต้องรีบปฏิเสธทันควัน พร้อมตอบคำถามว่าถ้าเจอตัวจะจับกุมได้หรือไม่ คำตอบของท่านผู้นำคือ ทำไม่ได้เพราะไปเคารพศพ ความจริงก็อยากเห็นทั้งสองคนเจอหน้ากันอยู่เหมือนกัน เผื่อว่าบรรดาคนดีทั้งหลาย จะได้ไปแจ้งความดำเนินคดีกับนายกรัฐมนตรีโทษฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่ เหมือนที่เคยเล่นงานใครต่อใครหลายๆ คนที่มีอำนาจในช่วงรัฐบาลก่อนหน้า เพราะว่าไปพบกับนายใหญ่แล้วไม่จับกุมตัวมาดำเนินคดี นี่ก็เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างว่ายิ่งใหญ่ในประเทศแล้วใช่จะไปเที่ยวแสดงอำนาจบาตรใหญ่ได้ทุกที่

 

Back to top button