เกาไม่ถูกที่คันพลวัต2015

นักทฤษฎีสมคบคิด พยายามอธิบายตามสูตรสีข้างเข้าถูบอกว่า หลังจากเฟดไม่ยอมบอกให้ชัดเจนเรื่องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความกังวลว่าค่าดอลลาร์จะแข็งเพราะเงินทุนไหลกลับสหรัฐ กลายเป็นเรื่องกลับตรงกันข้าม เพราะชาติอย่างรัสเซียหรือจีน พากันทิ้งดอลลาร์ไปถือยูโรแทน ด้วยเหตุผลว่า เงินยูโรมีอนาคตสวยงามกว่า


นักทฤษฎีสมคบคิด พยายามอธิบายตามสูตรสีข้างเข้าถูบอกว่า หลังจากเฟดไม่ยอมบอกให้ชัดเจนเรื่องขึ้นอัตราดอกเบี้ย ความกังวลว่าค่าดอลลาร์จะแข็งเพราะเงินทุนไหลกลับสหรัฐ กลายเป็นเรื่องกลับตรงกันข้าม เพราะชาติอย่างรัสเซียหรือจีน พากันทิ้งดอลลาร์ไปถือยูโรแทน ด้วยเหตุผลว่า เงินยูโรมีอนาคตสวยงามกว่า

คำอธิบายดังกล่าวค่อนข้างไร้สาระ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ค่าดอลลาร์ใน 3 วันมานี้ ร่วงลงไปเรื่อยๆ ทำให้เกิดความกังวลว่า จะส่งผลกระทบต่อดุลการค้าและบัญชีเดินสะพัดของชาติกำลังพัฒนาทั้งหลาย

ในทางปฏิบัติ เมื่อใดที่ค่าดอลลาร์แข็ง การส่งออกจากสหรัฐจะทำได้ยากขึ้น เพราะสินค้าของสหรัฐมีคุณภาพสู้คู่แข่งขันจากชาติอื่นๆ ไม่ได้มากนัก โดยเฉพาะสินค้าพื้นฐาน ยกเว้นด้านไฮเทคหรือยา หรือเครื่องบิน

ในทางตรงกันข้าม ตัวเลขนำเข้าสินค้าต่างชาติจะเพิ่มขึ้น เพราะสินค้านำเข้าจะมีราคาถูกลง ทำให้คนอเมริกันซึ่งนิยมซื้อสินค้าจากต่างชาติ (ไม่นับยีนส์หรือเสื้อผ้ากีฬา)

ในทางตรงกันข้าม หากดอลลาร์อ่อนตัว เงินทุนจะไหลออก เพราะหันไปถือเงินสกุลหลักของโลกอื่นแทน เช่น สวิสฟรังก์ หรือยูโร หรือ (ล่าสุดก็) หยวนจีน แต่ดุลการค้าจะดีขึ้น เพราะการส่งออกคล่องตัวเพราะได้เปรียบเรื่องค่าเงิน แต่ไม่ได้แก้ปัญหาเงินเฟ้อ เพราะราคาสินค้านำเข้าจะแพงขึ้น ทำให้เงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ต้องหาทางสกัดเงินเฟ้อ

ท่าทีของเฟดไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะภายใต้กระแสโลกาภิวัตน์ ธนาคารกลางของประเทศที่มีเศรษฐกิจแบบเปิด ต่างมองเห็นเงินเฟ้อเป็นเครื่องแสดงฝีมือของนายธนาคารกลางได้ง่ายที่สุด แต่ภาวะเงินฝืดมีปัจจัยที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของนายธนาคารกลางหลายเท่า

นายธนาคารกลางรุ่นเก่าในอดีต ที่มีเครื่องไม้เครื่องมือมากนักในการบริหารเศรษฐกิจมหภาค กลัวเรื่องเงินเฟ้อกันมาก  เพราะบางช่วงอัตราเงินเฟ้อบางทีสูงถึงปีละ 10-20% ที่ทำให้ผู้คนเดือดร้อนอย่างหนักโดยเฉพาะมนุษย์เงินเดือน เสมือนปีศาจที่หลอกหลอนนายธนาคารกลางทุกชาติมาตลอด

ในอดีต การต่อต้านเงินเฟ้อเป็นเรื่องที่ทำกันอย่างเอาเป็นเอาตาย   เพราะความหวาดวิตกว่า เงินเฟ้อที่อยู่เหนือการควบคุมอาจจะทำให้เศรษฐกิจของประเทศและโลกล่มสลาย  ทั้งที่โดยข้อเท็จจริงแล้ว ปัญหาเป็นแค่เส้นผลบังภูเขา

เงินเฟ้อเกิดขึ้นในอดีตได้ง่ายเพราะผลผลิตสินค้าอุตสาหกรรมมักจะมีปัญหาไม่เพียงพอกับความต้องการของตลาด แต่ในปัจจุบัน ยุคของความเหลือเฟือ  มีสินค้าที่ผลิตจากโรงงานจำนวนมากที่ล้นเกินความต้องการของตลาด โดยเฉพาะเมื่อทุนไหลเวียนคล่องตัวและตลาดหุ้นกลายเป็นแหล่งระดมทุนสำคัญมากขึ้นเรื่อยๆ ในการนำไปลงทุนขายผลผลิต

เมื่อใดที่ผลผลิตสินค้าและบริการน้อยกว่าปริมาณเงินในท้องตลาด เงินเฟ้อก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ แต่หากเป็นตรงกันข้าม  เงินฝืดจะกลายเป็นสรณะของโลก ดังที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน

ตัวอย่างง่ายๆ ปริมาณเสื้อผ้าหรือผ้าผืนที่ผลิตขึ้นมาในโลกปัจจุบัน มีใช้เกินความต้องการมากถึง 10 ปี ความเหลือเฟือจึงทำให้เกิดเงินฝืด

ความเชื่อเก่าแก่ที่ว่า เงินเฟ้อเป็นแฝดสยามของการเติบโตทางเศรษฐกิจประเทศหรือของโลก ความเป็นไปได้ที่จะปราศจากเงินเฟ้อถือเป็นของหายาก  กลายมาเป็นความหวาดกลัวเงินฝืดและเศรษฐกิจชะงักงันแทน เพราะชาติที่มีเศรษฐกิจแบบเปิด ปล่อยให้เงินทุนไหลเวียนสะดวก ย่อมมีแนวโน้มที่จะเกิดเงินฝืดง่ายว่าเดิมมาก

ข้ออ้างของนางเจเน็ต เยลเล็น ที่ว่า ยังไม่ขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพราะห่วงใยเรื่องดุลการค้า จึงเป็นแค่ข้ออ้างที่หยิบประเด็นเก่าๆ มาใช้อ้างเพื่อจะบอกเหตุผลในการไม่ยอมขึ้นอัตราดอกเบี้ย โดยระบุว่า การส่งออกที่ยังอ่อนแอของสหรัฐอาจจะเกิดจากปัญหาค่าดอลลาร์แข็งเกินไป หากขึ้นอัตราดอกเบี้ยอีก ก็จะยิ่งทำให้ค่าดอลลาร์แข็งมากขึ้น และส่งออกย่ำแย่ลงไปอีก ซึ่งไม่ค่อยสมเหตุสมผลเอาเสียเลย

เสียงท้วงติงจากนักคิดในวอลล์สตรีทว่า เฟดกำลังแสดงปฏิกิริยาเกินจริง หรือโอเวอร์รีแอ็ค ต่อปัญหาเกินจำเป็น และไม่น่าเชื่อถือมากนัก เพราะมีลักษณะเหมือนเอาหัวเดินต่างเท้า เอาผลมาเป็นเหตุ เอาเหตุไปเป็นผล

นักวิเคราะห์ในวอลล์สตรีท ระบุว่า การอ้างเรื่องดอลลาร์แข็งทำให้ส่งออกลด ไม่ถูกต้องมากนัก ความจริงแล้วไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะไม่ว่าดอลลาร์จะอ่อนหรือแข็ง การส่งออกของสหรัฐก็ยังไม่ดีอยู่ต่อไป

มีสถิติและงานวิจัยทีชี้ชัดว่า การอ่อนตัวของรายได้จากการส่งออกสหรัฐนั้น มาจากสาเหตุของการร่วงลงของราคา และคุณภาพของสินค้าที่มีมาตรฐานความสม่ำเสมอต่ำของบริษัทอเมริกันเอง ซึ่งทำให้ลูกค้าไม่ค่อยเชื่อมั่นเท่าใดนัก

ยิ่งไปกว่านั้น ตัวเลขการส่งออกสินค้าคงทน(เครื่องจักรและอุปกรณ์) ที่ลดลงฮวบฮาบในหลายเดือนนี้ ซึ่งโดยปกติมีสัดส่วนมากถึง 25% ของตัวเลขส่งออก ก็แสดงว่าสินค้าคงทนของสหรัฐไม่เหมาะสมหรือมีคุณภาพไม่สม่ำเสมอ ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรเลยกับราคาถูกหรือแพง เพราะผู้ซื้อใส่ใจกับคุณภาพของสินค้ามากกว่าราคา

ที่เลวร้ายสุดคือตัวเลขส่งออกรถยนต์ของสหรัฐไปยังตลาดเป้าหมาย เป็นตัวแปรที่สะท้อนชัดเจนว่าคุณภาพของรถอเมริกันไม่ตรงกับความต้องการของตลาดโลกเท่าใดนัก

การดึงค่าดอลลาร์ให้ต่ำเพื่อช่วยส่งออก นอกจากไม่สมเหตุสมผลแล้ว ยังเป็นเรื่องเกาไม่ถูกที่คันด้วย

Back to top button