ดอกเบี้ยขาขึ้นพลวัต 2016
เช้านี้ โลกก็คงรู้แล้วว่า เฟดของสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือ เฟด ฟันด์ เรต 0.25% กันไปแล้ว (ถ้าหากไม่เกิดข้อผิดพลาดหรืออุบัติเหตุอะไรเสียก่อน) หลังจากที่มีการขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมาในปลายปีที่แล้ว 0.25%
วิษณุ โชลิตกุล
เช้านี้ โลกก็คงรู้แล้วว่า เฟดของสหรัฐจะขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย หรือ เฟด ฟันด์ เรต 0.25% กันไปแล้ว (ถ้าหากไม่เกิดข้อผิดพลาดหรืออุบัติเหตุอะไรเสียก่อน) หลังจากที่มีการขึ้นครั้งสุดท้ายเมื่อ 1 ปีที่ผ่านมาในปลายปีที่แล้ว 0.25%
การขึ้นดอกเบี้ยครั้งนี้ เกิดขึ้นล่าช้ามากดังที่ทราบกันดี และลดจากจำนวนครั้งเดิมที่เคยคาดว่าจะขึ้นดอกเบี้ยปีนี้ 4 ครั้ง แต่ต่อมาลดลงเหลือ 2 ครั้ง และเหลือในที่สุดแค่ครั้งเดียว
บางทีอาจจะตามมาด้วยคำว่า “จะขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป” อันคุ้นเคยจากปากของนางเจเน็ต เยลเลน ประธานคณะกรรมการกลางของเฟด ที่ชินหูอีกครั้งเป็นสร้อยของการปลอบโยนตลาดให้หายจากอาการตื่นตระหนก (ทั้งที่ไม่น่าจะตระหนกอะไรเลยเพียงแต่เป็นเรื่องที่ตลาดไม่ชอบเท่านั้นเอง)
การขึ้นดอกเบี้ย คือการส่งสัญญาณหลายด้านพร้อมกันเสมือนยิงกระสุนนัดเดียวได้นกหลายตัว เพราะดอกเบี้ยคือยาสารพัดนึกของนโยบายการเงิน
โดยข้อเท็จจริง ดอกเบี้ยไม่ได้มีความหมายในตัวของมันเอง เพราะเป็นนามธรรมอย่างมาก แค่ตัวเลขของอัตราดอกเบี้ยที่ถูกกำหนดขึ้นมาแต่ละช่วงเวลา คือภาพสะท้อนความแข็งแรงทางการเงินในอนาคตของผู้ที่เกี่ยวข้อง
พูดง่ายๆ คือ อัตราดอกเบี้ยสัมพันธ์กับอนุกรมเวลา และสภาพแวดล้อมที่กำหนดขึ้นมาของตลาดเงินแต่ละช่วงเวลา โดยตั้งบนรากฐานของช่องว่างระหว่างความต้องการกับการสนองตอบของสภาพคล่องของทุนในตลาด
ดอกเบี้ยเป็นสัญลักษณ์ของทุน ที่โยงใยกับเวลาอย่างลึกซึ้ง คนที่มีความต้องการใช้เงินในปัจจุบัน แต่ไม่สามารถหามาได้ จึงต้องกู้ยืมจากผู้ถือ เป็นการเอารายได้ในอนาคตของตนเองมาใช้ล่วงหน้า โดยมีต้นทุนคืออัตราดอกเบี้ย ยิ่งมีความต้องการสูงมากเท่าใด อัตราดอกเบี้ยจะยิ่งทวีคูณ
ในทางกลับกัน คนที่มีทุนหรือเงินออมสะสมไว้มากเป็นคนที่ไม่ใช้ทุนของตนในปัจจุบัน และต้องการหาประโยชน์ในอนาคต จึงปล่อยให้คนอื่นเอาไปใช้ประโยชน์ โดยมีค่าตอบแทนของการให้คนอื่นเอาไปใช้ในรูปของอัตราดอกเบี้ย
ในทางเศรษฐศาสตร์ ดอกเบี้ยถูกกำหนดจากความแตกต่างของการออม และการลงทุน โดยมีการบริโภคเป็นตัวถ่วง เมื่อใดที่การลงทุนสูงกว่าการออม ดอกเบี้ยจะวิ่งสูงขึ้น เพราะทุนขาดแคลน แต่หากเป็นตรงกันข้าม อัตราดอกเบี้ยก็จะหดตัวลง
ปัจจุบันการขึ้นและลงของอัตราดอกเบี้ย ไม่ได้เป็นแค่การชักเย่อทางผลประโยชน์ระหว่างคนที่ขาดแคลนกับคนที่มีเงินออมล้นเกินอย่างเดียว เพราะอัตราดอกเบี้ยกลายเป็นตัวกำหนดค่าเงินสกุลเปรียบเทียบของแต่ละประเทศ ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว เนื่องจากการควบคุมการไหลเวียนของทุนข้ามประเทศแบบในอดีต เป็นกลไกที่พ้นยุคไปแล้ว
ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว ธนาคารกลางไม่ได้ทำหน้าที่แค่รักษาเสถียรภาพเศรษฐกิจในประเทศอย่างเดียว แต่ต้องดูแลค่าเงินสกุลของประเทศไม่ให้แข็งเกิน หรืออ่อนเกิน จนกระทบต่อการค้าและการลงทุน
อัตราดอกเบี้ยที่แพงกว่าชาติรอบข้าง จะทำให้เงินทุนไหลเข้าจากการทำแครี่เทรดของกองทุนเก็งกำไร จนกระทั่งเงินทุนไหลเข้าแรง ค่าเงินแข็งมากเกินขนาด ส่งผลเสียต่อดุลการค้าและการส่งออก แต่อัตราดอกเบี้ยที่ต่ำเกินไป จะทำให้ทุนไหลออก และค่าเงินอ่อนเกินไป ส่งผลเสียต่อการลงทุนภาคการผลิต ต่อตลาดหุ้น และตลาดตราสารหนี้ของประเทศขนาดเล็ก
9 ปีที่ผ่านมา นับตั้งแต่ก่อนวิกฤตซับไพรม์ เฟดได้มองเห็นสัญญาณถดถอยของเศรษฐกิจรุนแรงจึงลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย (เฟด ฟันด์ เรต) จนต่ำแค่ 0.25% มาถึงปลายปีที่แล้ว ก่อนที่จะขึ้นแบบ “โยนก้อนหินถามทาง”
การลดดอกเบี้ยต่ำมาก ทำให้เกิดยุคสมัยของดอกเบี้ยทั่วโลกต่ำติดพื้น หรือดอกเบี้ยติดลบ หรือเงินฝืดตามมาจนถึงปัจจุบัน มีเป้าหมายทางทฤษฎีว่า ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจด้วยการลดต้นทุนทางการเงิน แต่ผลข้างเคียงสำคัญคือ ผู้มีเงินออมได้รับความเสียหายอย่างหนักจากดอกเบี้ยต่ำของตลาดเงิน จนต้องเลี่ยงเข้าไปหาประโยชน์จากเงินออมทั้งทางตรงและทางอ้อมจากตลาดทุนแทน แม้จะมีความเสี่ยงสูงกว่า
ผลจากการที่นักลงทุนย้ายเงินออมไปยังตลาดทุน ไม่เพียงทำให้ดัชนีดาวโจนส์ และ S&P 500 ของตลาดหุ้นนิวยอร์ก เป็นขาขึ้นยาวไม่เคยหยุดพักจริงจัง 6 ปีเศษ นานที่สุดช่วงหนึ่งของประวัติศาสตร์วอลล์สตรีท (จนกระทั่งเมื่อ 2 เดือนมานี้เองที่เริ่มโรยตัวลงมาเพราะข่าวขึ้นอัตราดอกเบี้ยของเฟด) หากยังมีผลทำให้เม็ดเงินที่รั่วไหลจากมาตรการ QE ของเฟดเอง กระจายตัวไปตลาดเก็งกำไรทั่วโลก ทำให้ราคาหุ้นในตลาดเกิดใหม่ วิ่งเป็นขาขึ้นยาวนานสวนทางกับภาวะเศรษฐกิจ
ข้อเท็จจริงที่กรรมการเฟดส่วนใหญ่ไม่ว่าสายเหยี่ยวหรือสายพิราบยืนยันมาตลอด คือ การขึ้นอัตราดอกเบี้ย ไม่เคยทำให้เศรษฐกิจพังพินาศ แต่การคงอัตราดอกเบี้ยต่ำนานเกินไป ทำให้ฟองสบู่ตลาดหุ้นเกิดขึ้น และนำไปสู่ภาวะล่มสลายได้ง่ายกว่า หากการขึ้นดอกเบี้ยจะทำให้ตลาดหุ้นสหรัฐมีปัญหา ก็จะเกิดขึ้นเพียงระยะสั้นมากเพราะผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งหลาย จะเข้ามากลบเกลื่อนปัญหาในภายหน้า
มีคนเปรียบเปรยเอาไว้แหลมคมเกี่ยวกับการขึ้นอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางว่า เสมือนหนึ่งการให้คนไข้กินยาขม แต่ข้อเท็จจริงที่เลี่ยงไม่พ้น คือ วันนี้ ตลาดเก็งกำไรจะต้องปรับตัวครั้งใหม่ รับยุคสมัยของดอกเบี้ยขาขึ้น และราคาน้ำมันขาขึ้นพร้อมกัน