SSI สวรรค์ หรือ นรกแฉทุกวัน ทันเกมหุ้น
วันนี้ บรรดาผู้บริหารของ 3 ธนาคารเจ้าหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันขนาดใหญ่ 3 รายคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ ธนาคารทิสโก้ (TISCO)จะต้องลุ้นหนักว่า ศาลล้มละลายกลางจะยินยอมให้ผ่านแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อปรับโครงสร้างหนี้มูลค่า 6.9 หมื่นล้านบาท ของ บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI
วันนี้ บรรดาผู้บริหารของ 3 ธนาคารเจ้าหนี้ที่มีหลักทรัพย์ค้ำประกันขนาดใหญ่ 3 รายคือ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) และ ธนาคารทิสโก้ (TISCO)จะต้องลุ้นหนักว่า ศาลล้มละลายกลางจะยินยอมให้ผ่านแผนฟื้นฟูกิจการเพื่อปรับโครงสร้างหนี้มูลค่า 6.9 หมื่นล้านบาท ของ บริษัท สหวิริยาสตีล อินดัสตรี จำกัด (มหาชน) หรือ SSI
บรรดาเจ้าหนี้ทั้ง 3 ต่างพากันมองโลกในทางบวกว่า แผนฟื้นฟูกิจการผ่านฉลุยแน่นอน แต่…ก็อดหวั่นใจไม่ได้
การที่บรรดาเจ้าหนี้ทั้ง 3 ยินยอม “มอบตัวโดยไม่มีเงื่อนไข” มีข้ออ้างง่ายๆ ว่า …ไม่มีความสามารถหาตัวแทนมาบริหารหนี้ก้อนมหึมาหลายหมื่นล้านบาทนี้ได้ดีกว่า นายวิน วิริยประไพกิจ คนที่ทำให้การเทกโอเวอร์โรงเหล็กเก่าคร่ำคร่าในอังกฤษ กลายเป็นหายนะ เจ๊งภายใน 3 ปี เป็นสถิติเจ๊งเร็วที่สุดในโลก…ทั้งที่ บริษัทบริหารแผนมืออาชีพที่เป็น “บุคคลที่สาม” มีเกลื่อนโลก
เจ้าหนี้รายใหญ่สุดอย่าง SCB นั้น นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ระบุว่า หากแผนฟื้นฟูดังกล่าวสำเร็จ จะช่วยให้ธุรกิจของธนาคารกลับมาดีขึ้น โดยเฉพาะเรื่องการตั้งสำรองหนี้เสียที่จะกลับมา เมื่อมีการนำสินเชื่อของ SSI UK ที่ Write-off ไปในช่วงไตรมาส 2/2558 (ที่ถูกธนาคารแห่งประเทศไทย บังคับให้ต้องตั้งสำรองเต็มจำนวนหนี้จากสินเชื่อด้อยคุณภาพที่เกิดขึ้น เพราะสินทรัพย์ทั้งหมดของเครือ SSI ไม่คุ้มหนี้เงินต้นและดอกเบี้ย) สามารถนำกลับมาบันทึกใหม่ ในงบแสดงฐานะการเงินของ SCB ส่งผลให้ค่าเผื่อสำรองหนี้สูญ (LLR) และสินเชื่อเพิ่มขึ้นจำนวนที่เท่ากันราว 11,000 ล้านบาท
การปลดหนี้ SSI จากหนี้ NPLs แม้จะไม่ได้ทำให้เกิดกำไรโดยตรง เพราะจะไม่มีการนำกลับมาบันทึกเป็นรายได้ ของธนาคารเจ้าหนี้ แต่จะบันทึกในรูปเงินตั้งสำรอง หรือ coverage ratio แต่ส่งผลทางอ้อม เพราะ 1) เมื่อสำรองเพิ่มขึ้น กำไรสุทธิในไตรมาสถัดไปเพิ่มขึ้นโดยปริยาย 2) เมื่อวงเงินตั้งสำรองที่เพิ่มขึ้น ทำให้โอกาสปล่อยสินเชื่อใหม่พุ่งกระฉูดกลายเป็นโอกาสสร้างกำไรในอนาคต
แผนฟื้นฟู (ที่ทำกันรวดเร็วเหลือเชื่อแค่ 5 เดือน ทั้งที่เป็นหนี้ก้อนใหญ่รองจากกรณี TPI) ที่คาดว่าจะผ่านฉลุยวันนี้ ทำให้คำชี้แนะ “ซื้อหุ้น” ของ 3 เจ้าหนี้รายใหญ่ดังกระหึ่ม…ลืมคิดถึงด้านมืดของแผน (ดูรายละเอียดในตารางประกอบ) ว่า งานนี้เสี่ยวิน แห่ง SSI มีแต้มต่อเยอะจ่ากเงื่อนไขที่เจ้าหนี้เสียถ่ายเดียว ลูกหนี้ได้ถ่ายเดียว
นอกจากนั้น หุ้น SSI ที่ถูกขึ้นเครื่องหมายห้ามซื้อขาย หรือ SP มานานหลายเดือน ก็ถูกคาดหมายว่า จะกลับมาซื้อขายกันใหม่ได้ เริ่มต้นอนาคตครั้งที่สองของตระกูลวิริยประไพกิจ
ฝันกลางวันดังกล่าวไม่ได้ราบรื่นเหมือนโรยด้วยกลีบกุหลาบ เพราะ….เคยสะดุดค้างกลางคันในศาลล้มละลายกลางเมื่อวันที่ 9 พฤศจิกายน…เมื่อ เจ้าหนี้ 5 ราย เป็นสถาบันการเงิน 4 รายนำโดย ธนาคารสแตนดาร์ด ชาร์เตอร์ด และราชการไทยอีก 1 คือ กรมสรรพากร…ทุกรายไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน…มีมูลหนี้เฉียดหมื่นล้าน ยื่นคัดค้านแผนฯ ทำให้ศาลล้มละลายกลาง มีคำสั่งให้ SSI ยื่นแถลงปิดคดีเป็นหนังสือต่อศาลฯ ภายใน 15 วัน และนัดฟังคำสั่งใหม่วันที่ 15 ธันวาคม
วันนี้ ฝันของเจ้าหนี้ 3 รายใหญ่ และเสี่ยวิน จะขึ้นสวรรค์ หรืออยู่ในขุมนรกต่อไป …ได้รู้กัน
ห้ามพลาด!!!