เข่ากระตุกพลวัต 2016

ปฏิกิริยาหลังจากที่เกิดความชัดเจนเรื่องผลของเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดที่ผ่านมา หากไม่นับอาการ “เข่ากระตุก” จากการที่ตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไรปั่นป่วนชั่วคราวแล้ว ถือว่า คราวนี้ นักเก็งกำไรทั่วโกลมีวุฒิภาวะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะไม่ได้เกิดภาวะ “ความคลั่งของฝูงปศุสัตว์” รุนแรง ยกเว้นในตลาดหุ้นฮ่องกงวานนี้


ปฏิกิริยาหลังจากที่เกิดความชัดเจนเรื่องผลของเฟดขึ้นดอกเบี้ยครั้งล่าสุดที่ผ่านมา หากไม่นับอาการ “เข่ากระตุก” จากการที่ตลาดหุ้นและตลาดเก็งกำไรปั่นป่วนชั่วคราวแล้ว ถือว่า คราวนี้ นักเก็งกำไรทั่วโกลมีวุฒิภาวะสูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เพราะไม่ได้เกิดภาวะ “ความคลั่งของฝูงปศุสัตว์” รุนแรง ยกเว้นในตลาดหุ้นฮ่องกงวานนี้

ในกรณีของตลาดหุ้นไทยยิ่งแล้วไปกันใหญ่ เพราะแทบจะไม่มีผลร้ายแรงอะไรเลย จะเป็นเพราะภูมิคุ้มกันภายในมาก หรือเพราะอยู่นอกวงของกระแสไหลเข้าออกของทุนไปเสียแล้ว ก็สุดจะคาดเดาหาคำตอบ

ที่น่าสนใจคือ ข่าวดีหลังจากเฟดขึ้นดอกเบี้ยไปแล้ว ก็ทยอยออกมา นับว่าน่าสนใจไม่น้อย

เริ่มต้นตั้งแต่ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก  เมื่อวานนี้ นอกจากราคาน้ำมันจะหยุดการร่วงต่ออีก หลังจากร่วงลงเมื่อวันพุธที่ผ่านมาแรงมาก และก็ยังมีความเคลื่อนไหวจากนักวิเคราะห์ที่เชี่ยวชาญเรื่องพลังงานของธนาคาร  ANZ ออกรายงานระบุว่า ตลาดน้ำมันจะเผชิญภาวะตึงตัวในช่วงต้นปีหน้า หากผู้ผลิตน้ำมันทั้งในกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (โอเปก) และกลุ่มนอกโอเปก ซึ่งนำโดยรัสเซีย ทำการปรับลดกำลังการผลิตตามที่ตกลงกันไว้รวมกันเกือบ 1.8 ล้านบาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้ราคาน้ำมันดิบพุ่งขึ้นเหนือระดับ 60 ดอลลาร์/บาร์เรลได้ 

ประเด็นก็คือว่า การที่ผู้ผลิตน้ำมันนอกกลุ่มโอเปกได้ตกลงที่จะปรับลดกำลังการผลิตลง 558,000 บาร์เรล/วัน โดยรัสเซียจะปรับลดกำลังการผลิตลง 300,000 บาร์เรล/วัน ในขณะที่กลุ่มโอเปกได้บรรลุข้อตกลงปรับลดกำลังการผลิต 1.2 ล้านบาร์เรล/วัน สู่ระดับ 32.5 ล้านบาร์เรล/วัน ในการประชุมเมื่อวันที่ 30 พ.ย. โดยมีผลบังคับใช้ในเดือนม.ค. 2017 แต่รายงานก็เชื่อว่า จะไม่ล้มเหลวแน่นอน

ข่าวดีต่อมาคือ การกลับลำตั้งสติระลอกใหม่ของบรรดานักลงทุน “ขาใหญ่” ของตลาดหุ้นสำคัญ กลับมาตั้งหลักช้อนซื้อหุ้นกันอีกครั้งเมื่อคืนที่ผ่านมา  ถือว่าเป็นการซึมซับข่าวร้ายที่รวดเร็วยิ่ง

ความสนใจของนักลงทุนในสหรัฐเอง กลับมุ่งไปจากเรื่องของเฟดไปสู่เรื่องอื่นที่ตามมา นั่นคือ  ข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐที่จะมีการเปิดเผย เช่น จำนวนผู้ขอรับสวัสดิการว่างงานประจำสัปดาห์, อัตราเงินเฟ้อเดือนพ.ย., ดุลบัญชีเดินสะพัดประจำไตรมาส 3/2559, ดัชนีผู้จัดการฝ่ายจัดซื้อ (PMI) ภาคการผลิตเบื้องต้นเดือนธ.ค. จากมาร์กิต และดัชนีตลาดที่อยู่อาศัยเดือนธ.ค. จากสมาคมผู้สร้างบ้านแห่งชาติ (NAHB) เพื่อต้องการหาข้อมูลเชิงปริมาณมาย้ำว่าเศรษฐกิจสหรัฐมีความแข็งแกร่งมากพอรับมือกับการขึ้นดอกเบี้ยเฟดหรือค่าดอลลาร์แข็งได้ดี

การประกาศขึ้นดอกเบี้ยเป็นครั้งที่ 2 ของเฟดด้วยมติที่เป็นเอกฉันท์ พร้อมกับให้มุมมองต่อเศรษฐกิจ อัตราการว่างงาน และเงินเฟ้อจากประมาณการเศรษฐกิจชุดใหม่ของเฟด ที่สะท้อนว่า แนวโน้มเศรษฐกิจของสหรัฐ จะอยู่ใกล้ระดับศักยภาพระยะยาวตลอดช่วง 3 ปีนับจากนี้ อันเป็นจังหวะของทิศทางดอกเบี้ยขาขึ้นแน่นอน

สัญญาณบวกดังกล่าวตอกย้ำว่า ความเป็นไปได้ที่จะเห็นการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายของเฟดในจังหวะที่เร่งขึ้นในปีหน้า มีอยู่สูงขึ้น เมื่อเทียบกับการขึ้นดอกเบี้ยเพียง 1 ครั้งต่อปี

ท่าทีที่พร้อมขึ้นดอกเบี้ยมากขึ้นในปีหน้า ถือว่าอยู่นอกเหนือการคาดการณ์ของตลาด และสร้างความประหลาดใจ ซึ่งน่าจะส่งผลให้ตลาดการเงินในหลายๆ ส่วนของโลก มีกรอบการเคลื่อนไหวที่ผันผวนไปอีกนานพอสมควรหลายเดือน จนกว่าจะเริ่มจับทิศทางชัดเจนได้

ช่วงเวลาของการเข้าสู่วงจรของดอกเบี้ยขาขึ้น ถือป็นการกลับเข้าสู่ระดับที่เป็นปกติ หรือ  Normalization ที่ชัดเจน สิ่งที่ละไว้ในฐานที่เข้าใจคือ จากนี้ไป ความสนใจของนักลงทุนจะย้ายจากเฟดไปสู่ การเจาะค้นหารายละเอียดในสาระของมาตรการทางการคลังภายใต้รัฐบาลใหม่ของ  ทรัมป์ ว่าจะมีประสิทธิผลมากน้อยเท่าใด

สิ่งที่เลี่ยงไม่พ้น อยู่ที่ทิศทางขาขึ้นของอัตราดอกเบี้ย จะกระทบต่อตลาดในเอเชียมาน้อยแค่ไหน โดยเฉพาะความเสี่ยงเนื่องจากระดับเงินทุนสำรองเงินตรา และโครงสร้างพื้นฐานในแต่ละประเทศ

ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ยุคของดอกเบี้ยต่ำติดพื้นจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว หันมาหามุมมองใหม่ถึงการขึ้นอัตราดอกเบี้ยแทน

หลังจากปฏิกิริยาเข่ากระตุกผ่านไป ผลพวงที่แท้จริงของการขึ้นดอกเบี้ยของเฟด ก็จะเป็นห่วงโซ่ตามครรลองของมันแทน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลประกอบการบริษัทจดทะเบียนทั้งหลาย คือ คำตอบที่มีประสิทธิผลสูงสุดว่า เฟดนั้นมาถูกทางหรือไม่ เพราะนี่คือ เส้นใต้บรรทัดที่มีความหมายมากที่สุด

สำหรับนักลงทุนในตลาดเก็งกำไร ดอกเบี้ยจะขึ้นหรือลง เป็นเพียงองค์ประกอบที่สำคัญระดับหนึ่ง เท่านั้น 

Back to top button