พาราสาวะถี อรชุน
รายชื่อครม.ประยุทธ์ 4 คลอดมาแล้ว ปรับเปลี่ยน 12 ตำแหน่ง โดยเป็นคนเดิม 7 รายและมาใหม่อีก 5 คน ซึ่งเรียกได้ว่าการเขย่ารอบนี้เป็นรอบของพลเรือนไม่ใช่บิ๊กทหารที่ยังคงเกาะเก้าอี้กันเหนียวแน่น สำหรับคนใหม่ที่เข้ามา 1 รายเป็นคนหน้าเก่า อุตตม สาวนายน ที่พ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรีไอซีทีสังเวยการเปลี่ยนชื่อกระทรวงรอบนี้กลับมากุมบังเหียนว่าการอุตสาหกรรม
รายชื่อครม.ประยุทธ์ 4 คลอดมาแล้ว ปรับเปลี่ยน 12 ตำแหน่ง โดยเป็นคนเดิม 7 รายและมาใหม่อีก 5 คน ซึ่งเรียกได้ว่าการเขย่ารอบนี้เป็นรอบของพลเรือนไม่ใช่บิ๊กทหารที่ยังคงเกาะเก้าอี้กันเหนียวแน่น สำหรับคนใหม่ที่เข้ามา 1 รายเป็นคนหน้าเก่า อุตตม สาวนายน ที่พ้นจากเก้าอี้รัฐมนตรีไอซีทีสังเวยการเปลี่ยนชื่อกระทรวงรอบนี้กลับมากุมบังเหียนว่าการอุตสาหกรรม
ส่วนอีก 4 รายเข้ามา ได้แก่ วีระศักดิ์ ฟูตระกูล ที่เพิ่งไขก๊อกจากเก้าอี้สมาชิกสนช.เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ชุติมา บุญยประภัสร อดีตปลัดพาณิชย์เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พิชิต อัคราทิตย์ จากประธานบอร์ดการรถไฟฯ เป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม และ สนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ ซึ่งนั่งที่ปรึกษาของรัฐมนตรีในรัฐบาลคสช.มาหลายกระทรวงเป็นรัฐมนตรีช่วยพาณิชย์
ส่วน 3 กระทรวงที่เก้าอี้ว่างอยู่ก็เป็นคนหน้าเดิมไปทำหน้าที่ สุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ จากรัฐมนตรีสำนักนายกฯ ไปนั่งว่าการยุติธรรม ธีระเกียรติ เจริญเศรษฐศิลป์ ก้าวจากรัฐมนตรีช่วยขึ้นว่าการกระทรวงศึกษาธิการ และ พิเชฐ ดุรงคเวโรจน์ สร้างประวัติศาสตร์ส่วนตัวขยับจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เป็นว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม
โฉมหน้ารัฐมนตรีที่เขย่ากันออกมาแบบนี้ เหมือนอย่างที่มีหลายคนตั้งข้อสังเกตไว้ก่อนหน้า น่าจะเป็นการเล่นเก้าอี้ดนตรีกันเสียมากกว่าจะปรับเพื่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลง ไม่ต้องถามถึงเสียงวิพากษ์วิจารณ์ หากไม่ใช่ฝ่ายตรงข้ามต่างเห็นดีเห็นงามกับท่านผู้นำทั้งหมด เมื่อไร้บิ๊กเนมและทีมเศรษฐกิจยังเป็นชุดเดิม ก็หมายความว่า พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังคงเชื่อมั่นและเดิมพันว่ารัฐนาวาชุดนี้จะพาบ้านเมืองก้าวข้ามวิกฤติต่างๆ ไปได้ด้วยดี
เมื่อบุคคลที่ได้รับการแต่งตั้งยังไม่ได้เริ่มทำงาน ครั้นจะวิจารณ์ก็ถูกตำหนิต่อว่าเอาได้ไม่ให้โอกาส ยิ่งผู้มีอำนาจยุคนี้ดุเสียด้วย ตัวอย่างมีให้เห็นกรณี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ ที่ไม่พอใจข่าวว่าจะลาออกจากเก้าอี้รัฐมนตรีกลาโหมถึงกับควันออกหูขู่ฟ้องสื่อที่นำเสนอข่าวและกล่าวหาว่า มุ่งแต่จะขายข่าว เราจึงต้องให้เวลาเป็นเครื่องพิสูจน์
หากจับพลัดจับผลูปรากฏว่าทุกอย่างที่ได้วางแผนการเอาไว้มันเข้ารูปเข้ารอย ประชาชนอยู่ดีกินดีมีเงินใช้กันขึ้นมา ก็ถือว่าเป็นโชคดีของบ้านเมือง ส่วนเรื่องที่ใครต่อใครพากันกังวลว่าหนทางข้างหน้ามันมีกับดักทางเศรษฐกิจรออยู่นั้น ก็คงไม่ต้องคิดอะไรมาก เมื่อท่านเชื่อมือและหัวหน้าทีมเศรษฐกิจอย่าง สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เชื่อมั่นว่าเดินมาถูกทางแล้ว ทำได้เพียงอย่างเดียวคือรอดูและบางทีอาจจะต้องทำใจเผื่อไว้ด้วย
เป็นไปตามคาดร่างพระราชบัญญัติเกี่ยวกับการกระทำผิดว่าด้วยคอมพิวเตอร์ สนช.ในฐานะสภาตรายาง อภิปรายแสดงความกังวลกันพอเป็นพิธีก่อนที่จะมีมติเป็นเอกฉันท์ 168 เสียงยกมือหนุนผ่านฉลุย จากนี้ไปก็รอให้กฎหมายดังกล่าวมีผลบังคับใช้ แล้วก็มาดูกันว่าน้ำคำของคนที่เกี่ยวข้องที่ยืนยันกันหน้าสลอนไม่ละเมิดสิทธิและเสรีภาพประชาชน ผลสุดท้ายจะเป็นจริงหรือไม่
ฝ่ายที่คัดค้าน ซึ่งต้องบอกว่าไม่ได้ต่อต้านเนื่องจากมีการเสนอความเห็นในประเด็นที่ไม่เห็นด้วยแล้วแต่ไม่ได้รับการตอบสนอง ทำอะไรไม่ได้นอกจากเฝ้ามองด้วยใจระทึก แต่ที่น่าสนใจคงเป็นคำพูดของ พูนสุข พูนสุขเจริญ นักกฎหมายสิทธิมนุษยชนที่บอกว่า มันไม่ตลกเหรอ ในขณะที่รัฐบอกว่าคนอื่นเข้าใจกฎหมายไม่ดีพอ บิดเบือนข้อมูล แต่วันนี้คนที่พิจารณาผ่านร่างกฎหมายยังมานั่งอ่านนิยามข้อมูลคอมพิวเตอร์ แบบออกเสียงในที่ประชุมให้ฟังกันแบบเด็กๆ เพื่อทำความเข้าใจว่ามันคืออะไรอยู่เลย
คงไม่ใช่เรื่องแปลกก็เขาทำกันได้เท่านี้จริงๆ ยิ่งไม่ใช่งานถนัดจึงต้องท่องจำเป็นนกแก้วขุนทองแบบนี้ เพราะแท้ที่จริงหน้าที่สำคัญของคนเหล่านี้คือสรรเสริญเยินยอท่านผู้มีอำนาจและก็ยกมือผ่านกฎหมายทุกเรื่องตามการบัญชา ที่ใครบอกว่า 168 เสียงที่ไม่มีใครเลือกมาลงชื่อผ่านร่างกฎหมายคอมพิวเตอร์ โดยไม่สนใจ 360,000 เสียงที่ยื่นหนังสือคัดค้าน มันก็เป็นธรรมดา เมื่อไม่ได้มีที่มาจากประชาชนแล้วจะฟังเสียงประชาชนไปทำไม
ไม่ต่างกันกับกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญและเขียนกฎหมายลูก ท่ามกลางกระแสท้วงติงทั้งที่ไปร่วมแสดงความคิดเห็นและส่งหนังสือเป็นลายลักษณ์อักษรก็ได้รับการปฏิเสธจากกรธ.ภายใต้การนำของเนติบริกรใหญ่ทั้งหมด ที่ปรับแก้ก็เป็นแค่กระพี้เล็กๆ น้อยๆ พอให้เป็นพิธีสอดรับกับพิธีกรรมที่ทำให้เห็นว่าได้ผ่านกระบวนการรับฟังความเห็นมาแล้วเท่านั้น
ควันหลงจากเวทีรับฟังความเห็นกฎหมายลูกว่าด้วยพรรคการเมือง มีหัวหน้าพรรคเล็กอย่าง ธนพร ศรียากูล จากพรรคคนธรรมดาแห่งประเทศไทย ที่ให้สัมภาษณ์ไล่หลังว่า แค่เงื่อนไขหลักๆ ก็จะเห็นว่าไม่ได้ส่งเสริมให้คนจัดตั้งพรรคการเมือง ไม่ใช่แค่พรรคของตัวเอง แต่ยังมีกลุ่มเกษตรกร กลุ่มความหลากหลายทางเพศ กลุ่มปฏิรูปที่ดินและอื่นๆ ที่อยากจะตั้งพรรคการเมือง ไม่มีทาง
ความจริงที่เกิดขึ้นคือ เนื้อหาที่ออกมาไม่ได้ผิดความคาดหมาย กระบวนการต่างๆ ถูกล็อกไว้ล่วงหน้าหมดแล้ว การที่จะทำให้ภาคประชาชนไม่แข็งแรง วิถีทางหนึ่งคือทำให้ตัวเลือกน้อยลง สะท้อนผ่านกฎหมายพรรคการเมืองนี่แหละ พรรคเล็กๆ หรือใครก็ตามที่คิดจะทำพรรคการเมือง คนรุ่นใหม่ที่อยากจะมีส่วนร่วมทางการเมืองผ่านการเลือกตั้ง วันนี้เลิกคิดไปเลย
เหตุผลง่ายๆ คือ เป็นไปไม่ได้ที่จะรวบรวมคนมา 500 แล้วขอเงินอีกคนละ 2,000 เพื่อจดทะเบียนพรรคการเมือง สรุปได้ว่าการเลือกตั้งที่จะมาถึงก็คงไม่มีทางเลือกอะไรใหม่อย่างที่คาดหวัง ส่วนที่ มีชัย ฤชุพันธุ์ อ้างว่า กรธ.เขียนให้คนมีอุดมการณ์ตั้งพรรคง่ายขึ้นเพราะกฎหมายพรรคการเมืองฉบับเก่ากำหนดสมาชิกเริ่มต้นไว้ถึง 5 พันคน นั่นก็เป็นการพูดความจริงแค่ครึ่งเดียว
เพราะตามกฎหมายพรรคการเมืองฉบับเดิม คนที่จะตั้งพรรคให้รวมตัวกันให้ได้ 15 คนแล้วขอจดทะเบียน เมื่อจดทะเบียนแล้ว มีเวลา 1 ปีหาสมาชิกให้ได้ 5,000 คน นี่แค่ตัวอย่างเล็กๆ ที่ชี้ให้เห็นถึงการสร้างวาทกรรมอำพรางในสิ่งที่คนเขียนกฎหมายพยายามทำให้ร่างของตัวเองดูดี มีคุณธรรม แต่ก็อีกนั่นแหละเมื่อไร้เสียงวิจารณ์จากเหล่าคนดี สิ่งที่เห็นและกระทำกันอยู่จึงเป็นความชอบธรรมโดยปริยาย ดังนั้น จึงไม่ต้องห่วงว่าอนาคตจะเป็นอย่างไรเพราะมันไม่มี