บาทอ่อน และ 1,550 จุดพลวัต 2016
คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ค่าบาทที่ตลาดเงินออฟชอร์อยู่ที่ระดับ 35.83 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนสุดในรอบ 14 เดือน นับจากระดับอ่อนสุดเหนือ 36.00 บาท เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน
วิษณุ โชลิตกุล
คืนวันศุกร์ที่ผ่านมา ค่าบาทที่ตลาดเงินออฟชอร์อยู่ที่ระดับ 35.83 บาทต่อดอลลาร์ อ่อนสุดในรอบ 14 เดือน นับจากระดับอ่อนสุดเหนือ 36.00 บาท เมื่อเดือนตุลาคมปีก่อน
ค่าบาทที่อ่อนยวบ สัมพันธ์ลึกซึ้งกับฟันด์โฟลว์จากทุนเก็งกำไรข้ามชาติที่ไหลออกจากตลาดหุ้นไทยชั่วคราว
บาทอ่อน ตอกย้ำถึงการไหลออกของทุนออกจากประเทศ ซึ่งไม่เป็นผลดีในทุกกรณี เว้นเสียแต่จะมองด้วยกลวิธีป้องกันตนเองทางจิตวิทยาแบบ “มะนาวหวาน” หรือ “องุ่นเปรี้ยว” ซึ่งไม่ได้สร้างสรรค์อะไรมากนัก นอกเสียจากการหลอกตัวเองไปวันๆ
เพียงแต่โจทย์ลำดับถัดไปว่า บาทอ่อนและฟันด์โฟลว์ไหลออก คือ สัญญาณตลาดหุ้นไทยเป็นขาลง ใช่หรือไม่ คำตอบคงไม่ง่ายเหมือนเรียนว่ายน้ำทางไปรษณีย์
เหตุผลเพราะว่าบาทอ่อนเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐจริง แต่ก็แข็งมากเมื่อเทียบกับค่าเงินเยนญี่ปุ่น จากระดับ เดือนที่แล้วเหนือ 34.00 บาท/เยน มาเหลือแค่ 30.40 บาท/เยน เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา และแข็งค่าเล็กน้อยเมื่อเทียบกับหยวนจีน จากระดับ 5.30 บาท/หยวน มาที่ 5.14 บาท/หยวน
สรุปแล้วบาทและเงินสกุลในเอเชียล้วนอ่อนเมื่อเทียบกับค่าดอลลาร์ แต่บาทอ่อนน้อยกว่าชาติอื่นๆ
ปรากฏการณ์ค่าบาทอ่อน หรือบาทแข็ง เทียบกับดอลลาร์สหรัฐ ล้วนมีที่มาที่ไปชัด ในระยะสั้นสะท้อนการไหลเข้ามากเกินหรือไหลออกมากเกิน ในแต่ละช่วงเวลา บ่งบอกถึงความไร้เสถียรภาพของกระแสการไหลของทุนระหว่างประเทศ ที่ประเทศ ซึ่งใช้ระบบเศรษฐกิจแบบเปิดและอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัว จะได้รับผลกระทบต่อค่าเงิน และราคาของหลักทรัพย์หรือสินทรัพย์อื่นควบคู่กันไป ทั้งบวกและลบที่ไม่เท่าเทียมกัน
ข้อสรุปเงินบาทอ่อน หรือแข็งเทียบดอลลาร์สหรัฐ จึงไม่ได้หมายความว่าเศรษฐกิจไทยหรือเอเชียแย่อย่างเดียว แต่อาจจะหมายความตรงกันข้ามว่าเศรษฐกิจสหรัฐยุคหลังวิกฤตซับไพรม์ กลับมาดีเกินคาด ทำให้เสน่ห์โดยเปรียบเทียบของค่าเงินสกุลอื่นรวมทั้งเอเชียลดลง
ในช่วงเงินบาทแข็งหรืออ่อน ก็เช่นกัน ด้านหนึ่งบาทแข็ง เกิดจากเศรษฐกิจไทยดีมาก เพราะภาคเอกชนและต่างชาติลงทุนทางตรงในโรงงานหรืออื่นๆ ที่ทำให้เกิดการจ้างงาน เพิ่มกำลังซื้อในประเทศ หรือตรงกันข้ามเศรษฐกิจไทยเลวมาก ทุนสำรองระหว่างประเทศร่อยหรอลง
อีกด้านหนึ่ง บาทแข็งหรืออ่อน จากกระแสฟันด์โฟลว์ไหลเข้ามาเก็งกำไรช่วงเวลาหนึ่งๆ (ประมาณไม่เกิน 3 เดือน) หรือไหลออกเพราะขายทำกำไรระยะสั้น โดยมีเหตุผลหลักคือ อัตราดอกเบี้ยในประเทศสูงมากกว่าระดับปกติเมื่อเทียบกับอัตราดอกเบี้ยของตลาดสำคัญของโลก ดังเช่นหลายปีนี้ เหมาะกับการทำแคร์รี่เทรด ช่วงสั้นๆ มาก
หลายปีมานี้ ตลาดเก็งกำไรของไทยทั้งตลาดตราสารหนี้ ตลาดอัตราแลกเปลี่ยน และตลาดหุ้น เผชิญภาวะฟันด์โฟลว์ไหลเข้า โดยที่เห็นชัดว่าไม่มีหนทางที่มีประสิทธิภาพในการรับมือที่เพียงพอ
เหตุผลคือ ขนาดของตลาดเก็งกำไรไทย ที่มีขนาดเล็กมากเมื่อเทียบกับปริมาณเงินท่วมโลกจากมาตรการพิมพ์ธนบัตรเพิ่ม หรือ QE ผลพวงที่ตามมา จึงเป็นปรากฏการณ์เงินทุนต่างชาติในตลาดหุ้นไทยไหลเข้ามามากรวดเร็ว ส่งผลให้ดัชนีและราคาหุ้นเป็นขาขึ้นแรงสู่ภาวะกระทิง ราคาหุ้นในตลาดจะสูงเกินมูลค่าจริงค่อนข้างมาก มีโอกาสเป็นฟองสบู่ได้ไม่ยาก เพราะค่าพี/อีของตลาดสูงเกินจริง
ทางกลับกัน หากเงินทุนต่างชาติไหลออกจนร่อยหรอลง ตลาดหุ้นไทยก็จะร่วงและอยู่ในภาวะตลาดวายได้ง่าย เพราะมูลค่าซื้อขายประจำวันจะลดต่ำลง จนกระทั่งการวิ่งขึ้นของราคาหุ้นและดัชนีตลาดมีขีดจำกัด จนกระทั่งพี/อีต่ำกว่าพื้นฐาน แต่ในยามที่วิ่งลงจะไม่มีแรงรับแกร่งพอ การไหลลงจะง่ายกว่าพุ่งขึ้น
ภาวะที่เกิดขึ้นเช่นนี้ หากไม่เสแสร้งหรือไร้เดียงสาจนเกินไป ล้วนเป็นข้อเท็จจริงที่นักลงทุนในตลาดหุ้นไทยต้องเรียนรู้ที่จะทำความคุ้นเคย เพราะเหตุว่าภายใต้ระบบเคลื่อนไหวของทุนค่อนข้างเสรี และกลไกเศรษฐกิจไทยยังเปิดอ้าซ่าเต็มที่ ไม่มีการปิดกั้นเหมือนบางประเทศที่มีมาตรการควบคุมเงินทุน
การถอนตัวของต่างชาติ เป็นการส่งสัญญาณว่าตลาดหุ้นไทยมีเสน่ห์ที่ลดลง หรือเพราะถูกคาดหมายว่า ผลตอบแทนของการลงทุนในตลาดหุ้นไทยนั้น มีอัพไซด์ต่ำกว่าตลาดอื่นๆ หรือมีความเสี่ยงสูงกว่าตลาดอื่นๆ
ทุกครั้งที่ดอลลาร์แข็ง บาทอ่อน การถอนตัวของฟันด์โฟลว์จะเกิดขึ้น แต่จะไหลออกมากหรือน้อยขึ้นกับปัจจัยอื่นๆ ด้วย เช่น ทุนสำรองเงินตราระหว่างประเทศ ผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้น และเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ
คนที่บอกว่าต่างชาติถอนตัวจากตลาดหุ้นไทย ไม่กระทบอะไรมาก หรือบอกว่าฟันด์โฟลว์ไหลเข้ารุนแรง ไม่มีผลอะไร คือคนที่พูดโกหก และไม่ได้พูด เพราะไร้เดียงสาถึงขั้นไม่รับรู้ถึงอิทธิพลของทุนต่างชาติต่อกลไกเศรษฐกิจไทย แต่มีวาระซ่อนเร้น
ครั้งนี้ก็เช่นกัน หากจะถามเจ้าหน้าที่ของแบงก์ชาติเกี่ยวกับการรับมือยุคดอกเบี้ยขาขึ้นระลอกใหม่ที่กำลังจะเกิดขึ้นในปีหน้าเป็นต้นไป ตามคาดการณ์ของเฟด ซึ่งย่อมมีผลให้เกิดยุคขาขึ้นของดอลลาร์ตามไปด้วย คำอธิบายของเจ้าหน้าที่แบงก์ชาติ ก็คงเป็นไปตามสูตรสำเร็จเช่นเคยว่า การอ่อนค่าของเงินบาทในขณะนี้ถือว่าสอดคล้องกับทิศทางของค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาคที่อ่อนค่าลงด้วยเช่นกัน เนื่องจากตลาดมองว่ามีโอกาสที่เฟดจะปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยในอนาคต
คำถามเดียวกัน อาจจะมีคำอธิบายจากนักวิเคราะห์หุ้นอีกมุมมองว่า จากนี้ไป ตลาดหุ้นโดยเฉพาะหุ้นที่ไม่ได้รับความสนใจจากต่างชาติ หรือ โดเมสติก เพลย์ ที่จะไม่มีผลกระทบของต่างชาติเหมือนกับที่ผ่านมา เป็นจังหวะซื้อหุ้นที่ได้รับประโยชน์ รวมทั้งหุ้นที่คาดว่าจะได้รับอานิสงส์จากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาล
อีกมุมมองหนึ่ง มักจะมาจากผู้จัดการกองทุน (ที่แน่นอนว่า มีผลประโยชน์ทับซ้อนอยู่ในระดับสำคัญแบบ ลับ ลวง พราง) ที่มักจะเลือกมุมมองอีกอย่างว่า การที่ค่าบาทไทยอ่อนค่าน้อยที่สุดในภูมิภาคเมื่อเทียบกับดอลลาร์ แถมยังแข็งค่าเทียบกับสกุลเงินเอเชียบางสกุล สะท้อนว่า เศรษฐกิจไทยกำลังจะพ้นจากจุดเลวร้ายสุดแล้ว และการที่เฟดมีความชัดเจนเรื่องการขึ้นอัตราดอกเบี้ย ทำให้การกำหนดกลยุทธ์ลงทุนดูแจ่มชัด…เว้นแต่ในมุมมองนี้ ไม่ได้ตอบคำถามว่า เหตุใดกองทุนทั้งหลายจึงร่วมกับต่างชาติขายต่อเนื่องในช่วงหลายวันมานี้ จนดัชนีไปต่อเหนือ 1,520 จุดไม่ได้
ข้อมูลน่าสนใจจากตลาดหลักทรัพย์ ที่พบว่าผลประกอบการไตรมาสสามและสุดท้ายของปีนี้ จะยังคงสดใสมากในระดับหัวแถวของโลก รวมทั้งข้อเท็จจริงที่ว่า อัตราส่วนหนี้สินต่อส่วนผู้ถือหุ้น (ดี/อี) เฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนในตลาดหุ้นไทยนั้น ดูเหมือนจะต่ำที่สุดในโลกด้วยซ้ำ แม้ว่าจะมีข้อเท็จจริงอีกด้านที่ถ่วงไว้ว่า กำไรที่เพิ่มขึ้นของบริษัทจดทะเบียน มาจากกำไรพิเศษมากกว่ากำไรจากการดำเนินงานปกติ
คำถามสำคัญที่นักลงทุนอยากรู้ในช่วง 2 สัปดาห์สุดท้ายของปี 2559 คือ ดัชนี SET จะมีโมเมนตัมขาขึ้นไปถึง 1,550 จุดได้หรือไม่ หากต่างชาติถอนฟันด์โฟลว์กลับ
ข้อมูลเชิงสถิติของตลาดหุ้นไทยในรอบ 3 ปีนี้ ก็ทำให้มีคำถามตามมาไม่น้อยเช่นกัน เพราะในปี 2557 ที่มีฟันด์โฟลว์ต่างชาติไหลออกมากถึง 2 แสนล้านบาทนั้น ปรากฏว่าดัชนีตลาดหุ้นไทยบวกแรงกว่า 200 จุดจากต้นปี แต่ในปี 2558 ฟันด์โฟลว์ต่างชาติที่ไหลออกแค่เพียง 7 หมื่นล้านบาท กลับทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยร่วงลงกว่า 350 จุด และในปีนี้ ฟันด์โฟลว์ไหลเข้าเป็นบวกสุทธิประมาณ 7 หมื่นล้านบาทเศษ ทำให้ดัชนีตลาดหุ้นไทยบวกไปประมาณ 240 จุด
ความคลุมเครืออย่างนี้ แม้จะทำให้ทิศทางขาขึ้นของตลาดหุ้นไทยในช่วงที่เหลือของปี ในยุคของบาทอ่อน ดอลลาร์แข็ง ถูกถ่วงเอาไว้ แต่ก็ยังถือว่าดีกว่าหลายตลาดที่ผลของฟันด์โฟลว์ทำให้ตลาดกลายเป็นขาลงทันที
ท้ายที่สุด ความเชื่อมั่นของนักลงทุนในอนาคตบริษัทจดทะเบียน ก็ยังคงเป็นปัจจัยชี้ขาดอยู่ดี ไม่ใช่ดอลลาร์ หรือดอกเบี้ยของเฟด ว่าโมเมนตัมของตลาดหุ้นไทยจะไปทางไหน